นักวิทยาศาสตร์พบหมึกยักษ์ใต้ทะเลลึกฟักไข่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เย็นยะเยือกและมืดมิดนานถึง 4 ปี 5 เดือน โดยไม่กินอะไรและไม่ขยับไปไหน เพื่อปกป้องไข่จนกว่าจะฟักเป็นตัวออกมา นับเป็นการวางไข่ที่ยาวนานที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย
ข้อมูลจากรอยเตอร์และสื่อหลายสำนักเสนอถึงงานวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมของหมึกยักษ์สปีชีส์ กราเนเลโดน บอรีโอแปซิฟิกา (Graneledone boreopacifica) ที่อยู่ใต้ทะเลลึกหลายไมล์ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ โดยใช้เรือดำน้ำควบคุมระยะไกลในการดำสำรวจ
จากการติดตามหมึกยักษ์เพศเมียตัวหนึ่ง ที่เกาะแน่นอยู่ที่ผาหินใกล้ตีนหุบผาลึกที่อยู่ใต้ทะเลลงไป 1,400 เมตร ระหว่างส่งเรือดำน้ำลงไป 18 ครั้ง นานกว่า 53 เดือน นับจากเดือน พ.ค.2007 ถึงเดือน ก.ย.2011 และได้เผยแพร่งานวิจัยนี้ลงวารสารวิทยาศาสตร์พลอสวัน (PLOS ONE) ทีมวิจัยพบว่าหมึกตัวนั้นกำลังปกป้องไข่กว่า 160 ฟอง จากเศษหินและโคลน และคอยไล่นักล่าที่จะมากินไข่ เป็นเวลานานถึง 4 ปี 5 เดือน ซึ่งเป็นการวางไข่ที่ยาวนานที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมด
พวกเขาจดจำหมึกตัวดังกล่าวจากรอยแผลเป็น โดยไม่พบว่าแม่หมึกอาหารกินใดๆ จนผอมลงเรื่อยๆ และผิวก็ค่อยๆ ซีดและลอก พวกเขาเฝ้าดูหมึกตัวนี้คอยปกป้องไข่ทรงรีที่ขยายจากขนาดผลบลูเบอร์รีจนใหญ่เท่าผลองุ่นโดยไม่เคยผละไปไหน จนกระทั่งไข่ฟักเป็นตัวที่มีรูปร่างเหมือนหมึกเต็มวัยทุกประการ และพร้อมหากินและล่าเหยื่อนับแต่ฟักออกมา เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า
ทั้งนี้ หมึกยักษ์ตัวเมียส่วนใหญ่จะวางไข่ครั้งเดียวในชีวิต และตายในเวลาไม่นานหลังจากลูกๆ ฟักออกจากไข่แล้ว ซึ่งระยะเวลาในการฟักที่ยาวนานนี้ ทำให้ตัวอ่อนฟักออกมามีชีวิตรอดและช่วยเหลือตัวเองได้ และออกล่าเหยื่อขนาดเล็กได้ไม่ต่างจากหมึกที่โตเต็มวัย
บรูซ โรบิสัน (Bruce Robison) นักนิเวศวิทยาทะเลลึกจากสถาบันวิจัยพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์ (Monterey Bay Aquarium Research Institute) ในมอสแลนดิง แคลิฟอร์เนีย หมึกสปีชีส์นี้ แสดงถึงสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่เข้มข้นมากๆ และเป็นเรื่องไม่ธรรมดาที่พวกเขายังรู้สึกประหลาดใจในสิ่งที่ได้เห็น
ความลึกระดับที่แม่หมึกวางไข่นั้นแสงแดดส่องไปไม่ถึง มีเพียงแสงจากการเรืองของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล อีกทั้งยังหนาวเย็นมาก โดยอุณหภูมิต่ำถึง -3 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสภาพที่โหดร้ายสำหรับมนุษย์ แต่ โรบิสันกล่าวว่า ที่นั่นคือบ้านของหมึกเหล่านั้น
“หมึกสปีชีส์นี้มีความยาวประมาณ 40 เซ็นติเมตร มีผิวม่วงจางๆ และมีรอยกระ กินปู กุ้ง หอยทาก และเกือบทุกอย่างที่พวกมันจับกินได้” โรบิสันอธิบายถึงลักษณะของหมึกยักษ์ชนิดนี้
ระหว่างฟักไข่แม่หมึกดูใส่ใจต่อสวัสดิภาพของไข่มากเป็นพิเศษ โดยโรบิสันเล่าว่า แม่หมึกจะคอยปกป้องไข่จากผู้ล่า ทั้งปลาและปูที่คอยจ้องจะกินไข่ ซึ่งเมื่อสัตว์เหล่านั้นเข้าแม่หมึกก็จะคอยไล่ไป และยังระวังไม่ให้มีตะกอนตกทับ และคอยพ่นน้ำใส่ไข่เพื่อให้ได้แลกเปลี่ยนออกซิเจน