หลาน “ฌาคส์ กูส์โต” นักสมุทรศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดัง อยู่ใต้น้ำนาน31 วัน ทำลายสถิติที่ปู่เคยทำไว้ โดยอาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรภายในเรือดำน้ำ พร้อมทีมนักวิทยาศาสตร์และนักถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี ตั้งเป้าหมายกระตุ้นคนรุ่นใหม่ใส่ใจและดูแลมหาสมุทรเหมือนที่ปู่เขาเคยทำ
ฟาเบียง กูส์โต (Fabien Cousteau) วัย 46 ปี หลานของ ฌาคส์ กูส์โต (Jacques Cousteau) นักสมุทรศาสตร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส เพิ่งขึ้นสู่ผิวน้ำ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ใต้น้ำ บริเวณแนวประการังคีย์ลาร์โก (Key Largo) ฝั่งฟลอริดา สหรัฐฯ นาน 31 วันร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์และนักถ่ายทำสารคดี
รอยเตอร์รายงานว่า กูส์โตผู้หลาน อยู่ใต้น้ำลึก 18 เมตร โดยอาศัยอยู่ภายในเรือดำน้ำ “อะควอริส” (Aquarius) ที่มีความยาว 18 เมตร ร่วมกับ “อะควอเนาต์” (aquanaut) อีก 2 คน และเพิ่งโผล่ขึ้นสู่ผิวน้ำเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2014 ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากที่ใช้เวลาหลายปีในการเตรียมการสำหรับปฏิบัติการดังกล่าวอยู่หลายปี และยังเริ่มปฏิบัติการล่าช้ากว่าที่กำหนด
หลังขึ้นสู่ผิวน้ำกูส์โตได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า เป้าหมายหลักของโครงการนี้คือการสื่อสารไปยังคนจำนวนมากทั่วโลก เพื่อกระตุ้นความรู้สึกคนรุ่นใหม่ให้ใส่ใจต่อมหาสมุทร ปกป้องดูแลมหาสมุทร มีความสงสัยใคร่รู้ต่อมหาสมุทรในแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคคุณปู่ของเขา
นอกจากเป้าหมายเชิงอนุรักษ์ของกูส์โตแล้ว ทางด้านทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (Massachusetts Institute of Technology) และมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น (Northeastern University) ก็เข้าร่วมในปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางทะเลต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ
การอาศัยอยู่ใต้น้ำได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ออกจากไปเก็บตัวอย่างจากบริเวณใกล้ๆ แนวประการังได้หลายครั้งในแต่ละวัน รวมถึงเก็บตัวอย่างได้ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน อีกทั้งยังได้สังเกตสิ่งมีชีวิตทางทะเลในสภาวะแวดล้อมที่วิธีการอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้
สำหรับเรือดำน้ำอะควอริสนั้นติดตั้งอุปกรณ์ปรับอากาศและอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต และยังมีฝักบัวอาบน้ำ ห้องน้ำ และอีก 6 ช่องนอน รวมถึงช่องหน้าต่างที่ให้ผู้อาศัยสังเกตสิ่งมีชีวิตทางทะเลได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ถึงแม้ปฏิบัติการดังกล่าวจะประสบความเร็จแต่ระหว่างทางก็เผชิญกับความระทึกด้วยเช่นกัน โดย ดร.แอนดรูว์ แชนต์ซ (Andrew Shantz) นักวิทยาศาสตร์ด้านนิเวศวิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยฟลอริดาอินเตอร์เนชันนัล (Florida International University) ซึ่งร่วมใช้ชีวิตในเรือดำน้ำดังกล่าวนาน 17 วัน เล่าประสบการณ์ระทึกว่า คืนหนึ่งเครื่องปรับอากาศเกิดหยุดทำงาน และอุณหภูมิก็เพิ่มสูงถึง 35 องศาเซลเซียส และความชื้น 95%
แชนต์ซกล่าวว่าเขายังเห็นปลากรุ๊ปเปอร์ยักษ์ (Goliath grouper) โจมตีปลาบาร์ราคูดา (arracuda) ที่มีฟันแหลมคมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และเขายังรวบรวมข้อมูลที่ปกติต้องเก็บรวบรวมนานถึง 6 เดือนได้ภายในเวลา 17 วัน จากการเข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้
สำหรับการอยู่ใต้น้ำที่นานที่สุดก่อนหน้านี้เป็นสถิติของกูส์โตผู้ปู่ ที่ใช้เวลาอยู่ในใต้น้ำในปี 1963 นาน 30 วัน ภายในเครื่องอำนวยความสะดวกคล้ายๆ กัน โดยดำลึกลงไป 9 เมตรใต้ทะเลแดง
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับคุณปู่ ฌาคส์ กูส์โต
Jacques Cousteau นักสำรวจใต้ทะเลลึก