ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมาหลายท่านอาจได้ยินข่าวปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลก หรือที่นิยมเรียกติดปากกันว่า “ซูเปอร์มูน” ซึ่งในช่วงวันที่ 10 สิงหาคมที่จะถึงนี้ก็ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่น่าถ่ายดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในปีนี้ เนื่องจากจะเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีเลยทีเดียว
ดังนั้น หากใครอยากมีภาพดวงจันทร์ที่ใหญ่กว่าใครๆ แล้วล่ะก็ลองใช้โอกาสในช่วงดวงจันทร์เข้าใกล้โลกถ่ายภาพเก็บไว้อวดเพื่อนได้นะครับ ซึ่งหากใครที่มีกล้องที่มีเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ ก็เตรียมกันไว้ได้เลยครับ เพราะโอกาสดีๆ แบบนี้นานๆ มาทีนะครับ แต่ก่อนอื่นไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกกันก่อนครับ
ทำความเข้าใจกันก่อน
http://www.rmutphysics.com/charud/naturemystery/sci3/geology/1/index_ch_1-5.htm">
ตามปกติแล้วดวงจันทร์จะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 1 รอบ ใช้ระยะเวลา 1 เดือน ดังนั้น และอยู่ห่างจากโลกด้วยระยะทางเฉลี่ย 384,400 กิโลเมตร แต่สิ่งที่เรามักให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ช่วงที่ดวงจันทร์เข้ามาใกล้และไกลกว่านี้ได้อีกราว 25,000 กิโลเมตร
ในทุกๆ เดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ช่วงของวงโคจรที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างประมาณ 356,000 กิโลเมตร ส่วนช่วงของวงโคจรที่ห่างจากโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างประมาณ 407,000 กิโลเมตร
หากช่วงเวลาที่ดวงจันทร์โคจรผ่านจุดทั้งสองตรงกับจันทร์เพ็ญ ขนาดของดวงจันทร์เมื่อเปรียบเทียบกันจะแตกต่างกันประมาณ 14% ตาเปล่าอาจไม่เห็นความแตกต่างนี้ แต่เมื่อถ่ายรูปด้วยเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสเท่ากัน จะสามารถเปรียบเทียบให้เห็นขนาดดวงจันทร์ที่ไม่เท่ากันได้อย่างชัดเจน
การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ทิศทางของแรงกระทำต่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ดังนั้นการที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่มีวงโคจรมา ใกล้โลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
โดยในรอบปี 2557 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ ดวงจันทร์ใกล้โลกขึ้นทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2557, 10 สิงหาคม 2557 , และวันที่ 9 กันยายน 2557 ซึ่งในวันที่ 10 สิงหาคม นี้ถือได้ว่าเป็นช่วงที่ดวงจันทร์จะมีวงโคจรที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด (Perigee) ที่ระยะห่างประมาณ 356,896 กิโลเมตร
ซูเปอร์มูน (Super Moon) คืออะไร?
ซูเปอร์มูน หรือ ดวงจันทร์เต็มดวง ขณะที่ดวงจันทร์เข้ามาใกล้โลกและทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างตั้งแต่ 358,000 กิโลเมตร โดยประมาณ และเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี
มินิมูน (Mini Moon) คืออะไร?
มินิมูน หรือ ดวงจันทร์เต็มดวง ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในวงโคจรที่ไกลโลก และทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าปกติ เนื่องจากดวงจันทร์โคจรออกห่างโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างตั้งแต่ 406,000 กิโลเมตร โดยประมาณ และเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี
จากที่กล่าวมาข้างต้น หลายคนมักให้ความสนใจกับ Super Moon ซึ่งอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ Mini Moon คือช่วงที่ดวงจันทร์มีวงโคจรที่ห่างจากโลกมากที่สุด หากเราลองถ่ายภาพทั้งปรากฏการณ์ Super Moon และ Mini Moon ด้วยกล้องที่มีทางยาวโฟกัสเท่ากันเอาไว้ เมื่อเรานำทั้งสองภาพมาเปรียบเทียบกัน ก็จะเห็นว่าภาพของดวงจันทร์จะมีขนาดปรากฏที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และถือว่าเป็นภาพที่น้อยคนจะเคยถ่ายเก็บไว้ ดังนั้นสำหรับคอลัมน์นี้ ผมจึงอยากชวนคนที่หลงไหลการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ลองมาถ่ายภาพ Super Moon กับ Mini Moon กันครับ
เทคนิคและวิธีการ
สำหรับเทคนิคของการถ่ายภาพดวงจันทร์ ในช่วงที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด และช่วงที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุด นั้นเราจะถ่ายในช่วงข้างขึ้น 15 ค่ำ หรือวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง เพื่อให้ได้รายละเอียดของดวงจันทร์ทั้งดวง โดยเราสามารถดูตารางตรวจสอบวัน/เวลา ที่จะเกิดขึ้นได้จากเว็บไซต์ https://www.fourmilab.ch/earthview/pacalc.html หรือซึ่งจะแสดงตารางเวลาของดวงจันทร์ในช่วงที่อยู่ใกล้โลก และไกลโลกในแต่ละรอบเดือน ตลอดทั้งปี ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ว่าในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้หรือไกลโลกที่สุดนั้น จะสามารถถ่ายภาพในช่วงดวงจันทร์เต็มดวงได้หรือไม่ ซึ่งในบางเดือนอาจพบว่าระยะทางของดวงจันทร์อาจอยู่ใกล้ หรืออยู่ไกลมากที่สุด แต่เมื่อตรวจสอบเฟสของดวงจันทร์ก็อาจเป็นช่วงที่ดวงจันทร์ไม่เต็มดวง อันนี้ก็ไม่เหมาะที่จะถ่ายภาพสักเท่าไรครับ
จากการตรวจสอบตารางเวลา สามารถสรุปได้ว่า หลังจากวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 นี้ เราจะสามารถถ่ายภาพดวงจันทร์แบบ Super Moon กับ Mini Moon ได้อีกครั้งดังนี้
เทคนิคการถ่ายภาพ
หลังจากตรวจสอบตารางเวลาในการถ่ายภาพแล้ว คราวนี้เรามาดูวิธีการถ่ายภาพดวงจันทร์กันบ้าง ซึ่งเทคนิคนั้นไม่ได้ยากเย็นอะไร ปัจจัยที่สำคัญของการถ่ายภาพดวงจันทร์ ส่วนตัวผมคิดว่าหากเราสามารถหาเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ ก็จะทำให้เราได้ภาพดวงจันทร์ที่ดูใหญ่ตื่นตามากๆ ซึ่งสามารถลองทำเองได้ (ติดตามรายละเอียดตามลิงค์ “กล้องโทรทรรศน์” ทำเอง-บันทึกวัตถุท้องฟ้าได้จริง
1. เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 200 mm. ขึ้นไปเพื่อให้ๆได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่พอที่จะเห็นรายละเอียดพื้นผิวและหลุมของดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน โดยปกติแล้วดวงจันทร์ขณะเต็มดวงจะมีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าเพียง 0.5 องศา หรือหากเหยียดแขนให้สุดแล้วใช้นิ้วก้อยเทียบกับดวงจันทร์ ดวงจันทร์จะมีขนาดครึ่งหนึ่งของนิ้วก้อยเท่านั้นครับ
2. ควรเลือกค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 100-200 โดยการเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับความสว่างของดวงจันทร์ในขณะนั้นด้วย ซึ่งหากเลือกถ่ายดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้าจะมีมวลอากาศอยู่หนาแน่นมักทำให้สีของดวงจันทร์มีสีออกเหลืองและความสว่างของดวงจันทร์ลดลงเล็กน้อย
3. เลือกใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot Metering) เพราะระบบนี้จะเลือกคำนวณเฉพาะพื้นที่ส่วนที่เป็นเป้าหมายเท่านั้นและจะไม่อ่านค่าแสงจากบริเวณอื่นๆ ซึ่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 2-3 % กลางช่องมองภาพในการวัดแสงทำให้ได้แสงที่พอดี
4. ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล M เพราะการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงเพื่อให้ได้รายละเอียดของหลุมของดวงจันทร์นั้น *** ปกติหากให้กล้องวัดแสงแบบพอดี เมื่อถ่ายภาพออกมา ดวงจันทร์จะสว่างโอเวอร์กลบรายละเอียดของหลุมดวงจันทร์ไปหมด
ดังนั้นในการถ่ายภาพด้วยโหมด M เราสามารถปรับตั้งค่าทั้งรูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ ได้สะดวก
5. ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s ซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปก็ให้ปรับค่าความไวแสง (ISO) เพิ่มขึ้นจนได้แสงที่พอดี ซึ่งปกติแล้วแสงของดวงจันทร์จะสว่างมากอาจทำให้ภาพสว่างโอเวอร์จนไม่เห็นรายละเอียด ซึ่งเรามักต้องปรับกล้องให้ถ่ายภาพติดค่าอันเดอร์ประมาณ 2-3 สต็อป หรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความสว่างของดวงจันทร์ก็จะได้ภาพที่เห็นรายละเอียดของพื้นผิวและหลุมบนดวงจันทร์ได้ชัดเจนมากขึ้น
6. ควรเลือกขนาดรูรับแสงโดยประมาณ f/8 ขึ้นไป เพื่อให้ได้ความคมชัดตลอดทั่วทั้งภาพ (อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม เลือก “รูรับแสง” ค่าไหนให้คมชัด ความลับอยู่ที่... “Diffraction Limit” http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000055138
7. การปรับโฟกัสภาพ ควรใช้ระบบ Live view ที่จอหลังกล้อง เพื่อช่วยให้การปรับโฟกัสได้คมชัดมากที่สุด นอกจากนั้นในการใช้ Live view ยังทำให้กล้องยกกระจกสะท้อนภาพขึ้น ทำให้สามารถลดการสั่นไหวขณะถ่ายภาพได้อีกด้วย รวมทั้งสามารถดูความสว่างของดวงจันทร์จากการปรับค่าได้อีกด้วย
8. ใช้สายลั่นชัตเตอร์ในการถ่ายภาพและตั้งบนขาตั้งกล้องที่มั่นคงเพื่อลดการสั่นไหวของตัวกล้อง
9. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format ความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง
สำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงดวงจันทร์ใกล้โลก หรืออาจเป็นช่วงดวงจันทร์ไกลโลกนั้น อีกเทคนิคหนึ่งที่ผมอยากแนะนำก็คือ การถ่ายดวงจันทร์ Super Moon เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบนโลก ก็จะช่วยให้ภาพถ่ายในช่วงปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างนี้ มีเรื่องราวและแสดงให้เห็นความใหญ่อลังการของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วยครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน