พระนครศรีอยุธยา - คนอยุธยาแห่ดูปรากฏการณ์ “ซูเปอร์ฟูลมูน” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีก่อนวันแม่แห่งชาติ
เมื่อเวลา 00.46 น. วันนี้ (11 ส.ค.) หรือคืนวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพากลุ่มหนุ่มสาว ได้พากันออกจากบ้านมาเฝ้ารอดูปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้ที่สุดกับโลกในรอบหนึ่งปีกันอย่างคึกคัก ซึ่งจะมีลักษณะกลมโต และมีขนาดใหญ่ที่สุดในรอบปี เนื่องจากดวงจันทร์จะโคจรมาใกล้โลกมากที่สุด ซึ่งยังพบว่ามีลักษณะคล้ายกับพระจันทร์ทรงกลดมีวงกลมสีรุ้งเป็นวงกลมรอบดวงจันทร์อย่างสวยงามอีกด้วย
หนุ่มสาวชาวพระนครศรีอยุธยากลุ่มหนึ่งที่พากันออกมาเฝ้าดูปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก หรือปรากฏการณ์ “ซูเปอร์มูน” ที่บริเวณหน้าบ้านของตนเอง เผยว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกก่อนที่จะถึงวันแม่แห่งชาติในวันที่ 12 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า ในคืนวันที่ 10 ส.ค.57 เวลาประมาณ 00.46 น.ตามเวลาประเทศไทย ดวงจันทร์จะโคจรมาเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตร และคนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 10%
คนทั่วไปมักเรียกปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกว่า “ซูเปอร์มูน” (Supermoon) ซึ่ง ดร.ศรัณย์ อธิบายว่า มีผู้นิยามปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า หมายถึง ดวงจันทร์เต็มดวงที่มีระยะห่างจากโลกน้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร โดยเกิดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค.57 ที่ระยะห่าง 358,258 กิโลเมตร แต่ในคืนวันที่ 10 ส.ค.นี้ ดวงจันทร์เต็มดวงจะใกล้โลกที่สุดในรอบปี จึงเรียกว่า “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon)
“การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ทิศทางของแรงกระทำต่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ดังนั้น การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่มีวงโคจรมาใกล้โลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และไม่มีผลกระทบรุนแรงใดๆ ต่อโลก” ดร.ศรัณย์กล่าวย้ำ