xs
xsm
sm
md
lg

“ซูเปอร์ฟูลมูน-ฝนดาวตกเพอร์เซอิด” ปรากฏการณ์รับ “วันแม่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ปี ค.ศ. 2012 จากรัฐวายโอมิ่ง สหรัฐอเมริกา ภาพดาวตกจำนวนมากเกิดจากการถ่ายฝนดาวตกจำนวนหลายภาพ แล้วนำมารวมกันในภาพเดียว ด้วยซอฟต์แวร์ (ภาพโดย David Kingham : www.davidkinghamphotography.com)
สดร. ชวนชม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ฉลองวันแม่ “ซูเปอร์มูน” ดวงจันทร์เต็มดวงโตสุดในรอบปีวันที่ 10 ส.ค.นี้ และฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ คืนวันที่ 12 ส.ค.ถึงเช้ามืด 13 ส.ค.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยคืนวันที่  10 สิงหาคม ดวงจันทร์กลมโตและมีขนาดใหญ่ที่สุดในรอบปี เหตุเพราะโคจรมาใกล้โลกที่สุดและเป็นคืนเดือนเพ็ญ และร่วมฉลองวันแม่กับฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ในคืนวันที่ 12 สิงหาคม จนถึงเช้ามืดวันที่ 13 สิงหาคม คาดจำนวน 75-100 ดวงต่อชั่วโมง แต่อาจไม่เห็นเนื่องจากแสงจันทร์รบกวน

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงวันแม่ในเดือนสิงหาคมมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจคือ ในคืนวันที่ 10 สิงหาคม 2557 เวลาประมาณ 00.46 น. ตามเวลาในประเทศไทยดวงจันทร์จะโคจรมาเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตร ประกอบกับเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี คนบนโลกจึงสามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 10%

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก คนทั่วไปมักเรียกว่า “ซูเปอร์มูน” (Supermoon) ซึ่ง ดร.ศรัณย์อธิบายว่า มีผู้นิยามปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า หมายถึง ดวงจันทร์เต็มดวงที่มีระยะห่างจากโลกน้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร เกิดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค.57 ที่ระยะห่าง 358,258 กิโลเมตร แต่ในคืนวันที่ 10 ส.ค.นี้ ดวงจันทร์เต็มดวงจะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตร จึงเรียกว่า “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon)

“การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ทิศทางของแรงกระทำต่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ดังนั้นการที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่มีวงโคจรมาใกล้โลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และไม่มีผลกระทบรุนแรงใดๆ ต่อโลก” ดร.ศรัณย์กล่าวย้ำ

นอกจากนี้ ช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 12 ส.ค.ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 ส.ค.57 เวลาประมาณ 01:00-04:00 น. ยังมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseid) บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) และกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีจำนวนดาวตกที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าถึง 75-100 ดวงต่อชั่วโมง

“แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในเดือน ส.ค.พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นช่วงกลางฤดูฝน และในคืนวันที่ 12 ส.ค.57 มีแสงจันทร์รบกวน ทำให้สภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ อาจทำให้ในปีนี้ไม่สามารถมองเห็นฝนดาวตกมากเท่าที่ควร” รอง ผอ.สดร.กล่าว
ภาพโลกโคจรเข้าไปในสายธารของสะเก็ดดาว ซึ่งดาวหาง สวิฟท์- ทัทเทิล ได้เหลือทิ้งไว้ หลังจากที่มาเยือน ระบบสุริยะชั้นใน ซึ่งครั้งล่าสุดที่ดาวหางดวงนี้เข้ามาใกล้คือ ปี ค.ศ. 1992 (ภาพโดย Bob King : http://astrobob.areavoices.com )
 (ภาพโดย David Kingham : www.davidkinghamphotography.com)
*** หมายเหตุ ***

“ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์”

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวยงาม สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงวันที่ 17 ก.ค. - 24 ส.ค.ของทุกปี ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศแถบซีกโลกเหนือ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเป็นช่วงฤดูร้อน ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหาง สวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจรเมื่อ 20 ปีก่อน

เมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปบริเวณที่มีเศษฝุ่นเหล่านี้ จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ สังเกตเห็นฝุ่นของดาวหางลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบ และถึงแม้ว่าเศษฝุ่นของดาวหาง สวิฟท์-ทัตเทิล จะถูกทิ้งไว้เป็นเวลา 20 ปีแล้ว แต่เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านี้ก็ยังทำให้ชาวโลกได้สัมผัสความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์นี้เป็นประจำทุกปี




Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น