เก็บมาฝาก "ซูเปอร์ฟูลมูน" ค่ำคืน 10 ส.ค.ปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงในระยะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในค่ำคืนนี้หลายคนคงเต็มอิ่มกับความงามของดวงจันทร์ดวงโต ซึ่งมีความพิเศษมากขึ้นที่เต็มดวงในช่วงโคจรมาใกล้โลกมาที่สุดในรอบปี
ข้อมูลจาก ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า ในคืนวันที่ 10 ส.ค.57 เวลาประมาณ 00.46 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงจันทร์จะโคจรมาเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตร และคนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 10%
คนทั่วไปมักเรียกปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกว่า “ซูเปอร์มูน” (Supermoon) ซึ่ง ดร.ศรัณย์อธิบายว่า มีผู้นิยามปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า หมายถึง ดวงจันทร์เต็มดวงที่มีระยะห่างจากโลกน้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร โดยเกิดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค.57 ที่ระยะห่าง 358,258 กิโลเมตร แต่ในคืนวันที่ 10 ส.ค.นี้ ดวงจันทร์เต็มดวงจะใกล้โลกที่สุดในรอบปี จึงเรียกว่า “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon)
“การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ทิศทางของแรงกระทำต่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ดังนั้นการที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่มีวงโคจรมาใกล้โลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และไม่มีผลกระทบรุนแรงใดๆ ต่อโลก” ดร.ศรัณย์กล่าวย้ำ
ในโอกาสนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงรวบรวมภาพปรากฏการณ์สวยๆ มาฝาก
และก่อนจันทร์เต็มดวง ....