xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยน "จันทร์ซีด" เป็น "จันทร์สี"

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ตัวอย่างภาพถ่ายดวงจันทร์สี โดยการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงจำนวน 22 ภาพแบบต่อเนื่อง แล้วนำภาพทั้งหมดมา Stack Image ด้วยโปรแกรม RegiStax6 และสุดท้ายนำภาพมาปรับเร่งความอิ่มสี (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens :Takahashi TOA 150  / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3  / ISO : 100 / Exposure : 1/400s x 20 Images)
ในคอลัมน์นี้ ผมขอแนะนำวิธีการสร้างสรรค์ภาพถ่ายดวงจันทร์ดวงเต็มให้มีสีสันกันบ้างครับ หลังจากที่หลายคน คงจะถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงกันไว้ในช่วง ซูปเปอร์มูน ที่ผ่านมาคราวนี้เราลองขุดภาพเก่าๆ มาเล่าใหม่กันบ้าง มาดูกันว่าเราจะสามารถทำอะไรกับภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงกันได้บ้าง

สำหรับเทคนิคนี้ก็เป็นเทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์สี โดยเป็นการนำภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวง มาปรับเร่งความอิ่มสีของภาพขึ้น ทำให้เห็นสีต่างๆ บนผิวดวงจันทร์ “โดยแต่ละสีนั้นจะบ่งบอกถึงธาตุองค์ประกอบที่ต่างกัน ซึ่งสามารถนำไปศึกษาองค์ประกอบบนผิวดวงจันทร์ได้” ภาพที่ได้จะเป็นประโยชน์กับนักวิทยาศาสตร์เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง และทำการศึกษาสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์ในอนาคตได้

เทคนิคและวิธีการ
สำหรับเทคนิคและวิธีการก็เป็นวิธีที่ง่ายๆ ที่สามารถนำไปทดลองกันได้ครับ แต่มันก็มีกลเม็ดเคล็ดลับอยู่บ้างครับ โดยสิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าไม่ควรละเลยก็คือ

1. เลือกถ่ายภาพในช่วงดวงจันทร์เต็มดวง เนื่องจากการถ่ายภาพดวงจันทร์เพื่อนำมาทำเป็นภาพดวงจันทร์สีนั้น จากประสบการณ์แล้วต้องเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงหรือใกล้เต็มดวง

2. ท้องฟ้าต้องใสเคลียร์ เพราะการถ่ายภาพดวงจันทร์สีนั้น หากมีเมฆมาบดบังจะทำให้พื้นผิวของดวงจันทร์สะท้อนแสงได้น้อยจนภาพไม่ใสเคลียร์ และไม่สามารถเร่งสีสันของผิวดวงจันทร์ขึ้นได้

3. ถ่ายดวงจันทร์ในมุมที่สูงที่สุด เนื่องจากตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่สูงที่สุด จะสามารถหลีกหนีอุปสรรคของมวลอากาศที่หนาแน่นบริเวณขอบฟ้าได้ดีที่สุด และจะทำให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่คมชัดใสเคลียร์มากที่สุด

4. ถ่ายภาพดวงจันทร์แบบต่อเนื่องหลายๆ ภาพ เพื่อนำภาพหลายๆภาพมารวมกันเพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดและข้อมูลภาพมากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการถ่ายภาพประเภทวัตถุท้องฟ้า แล้วนำภาพทั้งหมดมา Stack Image ในซอฟต์แวร์ RegiStax หรือในโปรแกรม Photoshop

5. ทางยาวโฟกัสสูงๆ ได้เปรียบกว่า หากสามารถถ่ายภาพดวงจันทร์ด้วยเลนส์หรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ เช่น 1000 mm. ก็จะทำให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงขึ้น หรืออีกวิธีที่นักดาราศาสตร์ใช้คือการถ่ายภาพด้วยเว็ปแคม เป็นส่วนๆแล้วนำภาพมาต่อกันแบบ Mosaic ก็จะทำให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงมากๆ และเมื่อภาพมีความละเอียดสูงขึ้นก็จะสามารถปรับเร่งสีได้ดีและง่ายขึ้นอีกด้วย

สำหรับเทคนิคการ Stack Image ด้วยซอฟต์แวร์ RegiStax สามารถดูรายละเอียดได้ตามลิงค์ จากบทความ “ประมวลผลภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้าด้วย Registax” http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000114250

อีกวิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน คือการใช้โปรแกรม Photoshop ในการ Stack Image ด้วยวิธีการดังนี้





การปรับเร่งความอิ่มสีของภาพขึ้น ทำให้เห็นสีต่างๆ บนผิวดวงจันทร์


จากที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นนั้น ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้ภาพดวงจันทร์เดิมๆ ของเรามีอะไรมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ภาพยังบอกเล่าเรื่องราวความรู้ถึงธาตุองค์ประกอบที่ต่างกันขององค์ประกอบบนผิวดวงจันทร์ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญของการถ่ายภาพดวงจันทร์สีก็คือ ถ่ายในช่วงดวงจันทร์เต็มดวง ด้วยเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงๆ กับสภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ ในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่สูงที่สุดบนท้องฟ้า เพราะหากภาพดวงจันทร์ที่ถ่ายมาไม่ใสเคลียร์แล้วหรือมีความสว่างของภาพน้อยๆ แล้วหล่ะก็ การนำภาพมาปรับเร่งความอิ่มสีของภาพก็ยากที่จะดึงสีสันขึ้นได้ครับ และนี้ก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ผมนำมาบอกเล่าให้กับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์กันครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายดวงจันทร์สี โดยการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงจำนวน 30 ภาพแบบต่อเนื่อง แล้วนำภาพทั้งหมดมา Stack Image ด้วยโปรแกรม Photoshop และนำภาพมาปรับเร่งความอิ่มสี (ภาพโดย : ธนกฤต สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Mead LX200 / Focal length : 2,000 mm. / Aperture : f/10 / ISO : 500 / Exposure : 1/1250s x 30 Images)

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น