xs
xsm
sm
md
lg

ส่องฟ้าล่า Super Full Moon

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี 2557 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสสูงกว่า 2,000 mm. โดยการถ่ายภาพดวงจันทร์แบบต่อเนื่องหลายจำนวนกว่า 30 ภาพ แล้วนำภาพทั้งหมดมา Stack Image เพื่อให้ภาพที่มีรายละเอียดและความคมชัดมากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีที่นักดาราศาสตร์นิยมใช้ในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า (ภาพโดย : ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Mead LX200  / Focal length : 2,000 mm. / Aperture : f/10 / ISO : 500 / Exposure : 1/1250s)
จากที่ผมเคยบอกไว้ในคอลัมน์ก่อนหน้า เกี่ยวกับการเกิด Super Moon ในวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมานนั้น จากภาพที่เห็นจากข่าวหรือหน้าแพจต่างในเฟสบุ๊ค ก็มีหลายคนทั่วประเทศที่ถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีเอาไว้ได้ ผมเองก็ไม่พลาดเช่นกัน แต่ต้องบอกก่อนว่ากว่าจะได้ภาพมานั้น ที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ผมถ่ายภาพ ในช่วงหัวค่ำอากาศไม่เป็นใจเอาเสียเลยเพราะฝนตกตลอด แต่โชคก็ยังเข้าข้างอยู่บ้าง เพราะท้องฟ้าหลังฝนเปิดเป็นช่องๆ ซึ่งผมกับเพื่อนต้องขับรถกันออกไปนอกเมืองเพื่อตามล่าท้องฟ้าที่เห็นดวงจันทร์ จนสามารถเก็บภาพมาได้จากที่ผมรอคอยมาหลายเดือน

สำหรับการถ่ายภาพ Super Moon นั้นส่วนตัวผมคิดว่าการจะสื่อให้เห็นถึงขนาดของดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เมื่อมันอยู่ในวงโคจรที่ใกล้โลกมากๆนั้น ควรจะต้องมีการเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์กับอะไรสักอย่างไม่ว่าจะเป็นดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกกับช่วงปกติ หรือดวงจันทร์กับวัตถุบนพื้นโลก
จากการวางแผนไว้ตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวของปีก่อน นั้นตอนแรกผมก็คิดว่า จะถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนโลกซึ่งอาจเป็น ตึก ต้นไม้ หรือ สถานที่ แต่เมื่อลองศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด จะพบว่าในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนการขึ้น-ตก ของดวงจันทร์ก็จะมีการเปลี่ยนตำแหน่งแกว่งไปมา จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับขนาดวัตถุบนโลก ณ ตำแหน่งเดียวกัน และอีกเหตุผล ก็คือ บริเวณขอบฟ้ามักมีเมฆหนา ซึ่งในช่วงฤดูหนาวอาจถ่ายภาพได้แต่เมื่อถึงช่วงฤดูฝนก็อาจมีอุปสรรคของเมฆฝน ที่ทำให้ไม่สามารถถ่ายภาพดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้าก็เป็นได้

ดังนั้น สิ่งที่ง่ายที่สุด และชัวร์ที่สุด คือ การถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกเปรียบเทียบกับช่วงปกติ ในช่วงที่ดวงจันทร์เต็ม ด้วยกล้องและอุปกรณ์แบบเดียวกัน น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

การวางแผนถ่ายภาพ

ในการวางแผนถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลกนั้น ผมเริ่มจากการตรวจสอบข้อมูลช่วงเวลาที่ดวงจันทร์จะใกล้โลกมากที่สุดและช่วงที่ดวงจันทร์จะไกลโลกมากที่สุด โดยหากใครที่เคยตรวจสอบข้อมูลจะทราบว่า ในช่วงที่ดวงจันทร์ใกล้โลก หรือไกลโลกนั้น บางครั้งก็เป็นช่วงที่ดวงจันทร์ไม่ได้สว่างเต็มดวงเสมอไป

ดังนั้น นอกจากการตรวจสอบวันเวลาแล้ว เรายังจำเป็นต้องตรวจสอบเฟสของดวงจันทร์ในวันนั้นๆ อีกด้วย ซึ่งจากการวางแผนไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ของปีที่ผ่านมา (จริงๆ ผมมานึกขึ้นได้ตอนปลายปีว่าจะถ่าย Super Moon) ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูล ในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงในเดือน พฤศจิกายน ของปีที่ผ่านมาก็สามารถถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงที่อยู่ไกลจากโลกได้ที่ระยะทาง 396,769 กิโลเมตร ซึ่งก็ถือว่าไกลพอสมควร ซึ่งหากนำไปเทียบขนาดกับช่วงที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดแล้วก็น่าจะทำให้เห็นความแตกต่างของขนาดดวงจันทร์ได้ชัดเจนพอสมควร

ตารางตรวจสอบช่วงดวงจันทร์ใกล้โลก (Perigee) และช่วงดวงจันทร์ไกลโลก (Apogee) ในรอบปี 2014-2015

จากตารางตรวจสอบช่วงดวงจันทร์ใกล้โลก (Perigee) และช่วงดวงจันทร์ไกลโลก (Apogee) ในรอบปี 2014-2015 จะเห็นว่าในปี 2014 นี้ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2014 ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงสุดท้ายของการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงที่ใกล้โลกมากที่สุด ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอไปอีกไปจนถึงวันที่ 28 กันยายน 2015 ถึงจะสามารถถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงที่ใกล้โลกมากที่สุดได้อีกครั้ง เพราะในบางเดือนที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกกว่า 356,XXX กิโลเมตร นั้น ก็เป็นช่วงคืนเดือนมืด หรือดวงจันทร์ไม่เต็มดวง

นอกจากนั้น ในการวางแผนถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงไกลโลกนั้น ก็จะสามารถถ่ายได้ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2015 เท่านั้น เนื่องด้วยปัจจัยเดียวกัน คือเป็นช่วงเดียวที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกกว่า 406,XXX กิโลเมตร ที่ดวงจันทร์เต็มดวง นอกนั้นเป็นช่วงที่เป็นช่วงที่ไม่เต็มดวงหรืออยู่ในช่วงคืนเดือนมืด

ดั้งนั้นเราสามารถเรียกได้ว่า เป็นการถ่ายภาพ “Super Full Moon” ซึ่งหมายถึงการถ่ายภาพดวงจันทร์ที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด และมีขนาดปรากฏเชิงมุมที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี ในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงนั่นเอง
ภาพเปรียบเทียบดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี 2557 กับดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงปกติ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi TOA 150  / Focal length : 1,100 mm. / Aperture : f/7.3 / ISO : 100 / Exposure : 1/400s)
ในการถ่ายภาพ “ซูเปอร์มูน-มินิมูน” นั้นส่วนตัวผมมักจะใช้วิธีการถ่ายภาพ โดยใช้กล้องถ่ายภาพตัวเดียวกัน และอุปกรณ์ เช่น กล้องโทรทรรศน์หรือ เลนส์ตัวเดียวกัน เพราะเมื่อเรานำภาพทั้ง “ซูเปอร์มูน-มินิมูน” มาเปรียบเทียบกันขนาดภาพจะมีขนาดพิกเซลที่เท่ากันอยู่แล้ว ทำให้เราสามารถเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงได้ทันที และสำหรับใครที่ได้ถ่ายภาพ Super Full Moon เก็บไว้ในปีนี้แล้ว อย่าลืมเฝ้าติดตามถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วง Mini Moon ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2015 อีกครั้งเพื่อจะได้นำภาพทั้งสองมาเปรียบเทียบกันเป็นภาพ “ซูเปอร์มูน-มินิมูน” เป็นของตัวเองกันนะครับ ซึ่งอย่างน้อยเราก็ได้ภูมิใจว่าครั้งหนึ่งได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ไว้ได้

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น