xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์เจอ “ก็อดซิลลา” แห่งดาวเคราะห์หิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ดสมิทโซเนียน จำลองดาวเคราะห์เคปเลอร์-10ซี ซึ่งเป็นดาวเคราะห์หินขนาดใหญ่ที่มีมวลมากกว่าโลก 17 เท่า และได้รับการขนานนามจากคนในวงการว่า ก็อดซิลลา แห่งดาวเคราะห์หิน (เอเอฟพี)
นักดาราศาสตร์เจอ “ก็อดซิลลา” แห่งดาวเคราะห์หิน อยู่ไกลออกไป 560 ปีแสง ใหญ่กว่าโลกแค่ 2.3 เท่า แต่หนักกว่าถึง 17 เท่า และเขย่าความเข้าใจเดิมของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกำเนิดเอกภพ

การค้นพบดาวเคราะห์หินนอกระบบสุริยะดวงใหม่นี้ เอเอฟพีรายงานว่า เป็นข้อมูลจากปฏิบัติการของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์เคปเลอร์ 10ซี (Kepler 10c) ที่อยู่ห่างจากโลก 560 ปีแสง และมีขนาดกว้างกว่าโลก 2.3 เท่า แต่หนักกว่าโลก  ถึง 17 เท่า

ซาวิเยร์ ดูมุสก์ (Xavier Dumusque) นักดาราศาสตร์จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ดสมิทโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) เผยว่า เขาและทีมประหลาดใจต่อสิ่งที่พวกเขาค้นพบอย่างมาก ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันนักดาราศาสตร์ไม่เชื่อว่าดาวเคราะห์หินจะมีขนาดใหญ่ได้ เพราะการมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นทำให้ดาวเคราะห์สะสมไฮโดรเจนได้มากขึ้น และทำให้ดาวเคราะห์เปลี่ยนเป็นดาวก๊าซยักษ์เหมือนเช่นดาวพฤหัสบดี

“นี่คือดาวโลกก็อดซิลลา! แต่ต่างจากหนังสัตว์ประหลาด เคปเลอร์-10ซี มีความหมายเชิงบวกต่อสิ่งมีชีวิตมากกว่า” ดิมิทาร์ แซสเซลอฟ (Dimitar Sasselov) นักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องนี้ และเป็นผู้อำนวยการสถาบันจุดเริ่มต้นกำเนิดชีวิตฮาร์วาร์ด (Harvard Origins of Life Initiative) กล่าว

สำหรับปฏิบัติการล่าดาวเคราะห์ของเคปเลอร์นั้น ทำได้เพียงจับตาดูดาวเคราะห์และจัดจำแนกประเภทของดาวเคราะห์นั้น จากจำนวนครั้งที่ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวแม่ แต่ก็ให้รายละเอียดไม่ได้มากนัก ว่าดาวเคราะห์เหล่านั้นเป็นดาวเคราะห์หินหรือดาวเคราะห์ก๊าซ ซึ่งแยกประเภทของเคปเลอร์-10ซี ครั้งนี้อาศัยกล้องโทรทรรศน์ชนิดพิเศษที่ตั้งอยู่ในหมู่เกาะคานารี ของสเปน ช่วยวัดมวลของดาวเคราะห์ 

เคปเลอร์-10ซีนั้นหนาแน่นมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้มาก ทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกจัดอยู่ในประเภทใหม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเจอดาวเคราะห์แบบนี้อีกมาก และดาวเคราะห์ดวงนี้ยังโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองทุกๆ 45 วัน บ่งชี้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ร้อนเกินกว่าที่มีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้ และยังอยู่ในระบบดาวเคราะห์เดียวกับ “เคปเลอร์ 10บี” (Kepler 10b) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ลาวาที่โคจรรอบดาวฤกษ์ด้วยความเร็วสูงทุกๆ 20 ชั่วโมง

นักวิทยาศาสตร์เผยอีกว่า ระบบดาวฤกษ์เคปเลอร์-10 ซึ่งเป็นศูนย์กลางของดาวเคราะห์เคปเลอร์-10บี และดาวเคราะห์เคปเลอร์-10 ซี นั้นมีอายุประมาณ 1.1 หมื่นล้านปี และก่อกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 3 พันล้านปีหลังกำเนิด “บิกแบง” (Big Bang) ซึ่งหมายความว่า เอกภพอาจสร้างดาวเคราะห์หินขนาดใหญ่ได้ แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะขาดแคลนธาตุหนักอย่างซิลิกอนและเหล็ก ซึ่งเอกภพในช่วงเริ่มต้นนั้นสร้างขึ้นจากไฮโดรเจนและฮีเลียมเท่านั้น

ด้านแซสเซลอฟให้ความเห็นอีกว่า การค้นพบเคปเลอร์-10ซีบอกเราว่าดาวเคราะห์หินก็ก่อกำเนิดขึ้นมาเร็วกว่าที่เรานึก และหากสร้างดาวเคราะห์หินขึ้นมาได้ นั่นก็หมายความว่าเอกภพสามารถสร้างชีวิตขึ้นได้เช่นกัน







กำลังโหลดความคิดเห็น