xs
xsm
sm
md
lg

พบดาวฤกษ์เก่าแก่ที่สุดกำเนิดหลัง “บิ๊กแบง” ไม่นาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแสดงดาวฤกษ์เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบ (ที่ตำแหน่งปลายลูกศร) โดยทีมนักดาราศาสตร์ออสเตรเลีย (AFP PHOTO / SPACE TELESCOPE SCIENCE INSTITUTE)
ทีมนักดาราศาสตร์จากออสเตรเลียค้นพบดาวฤกษ์ที่เก่าแก่ที่ที่สุดในเอกภพ กำเนิดหลัง “บิ๊กแบง” เมื่อ 1.37 หมื่นล้านปีก่อนในเวลาไม่นาน และนับเป็นครั้งแรกที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาเคมีของดาวรุ่นแรกๆ ซึ่งเผยถึงสภาพของเอกภพในช่วงวัยเยาว์ได้ชัดเจนขึ้น

การค้นพบดังกล่าวนำโดยทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (The Australian National University) หรือเอเอ็นยู (ANU) ซึ่ง ดร.สเตฟาน เคลเลอร์ (Dr.Stefan Keller) จากวิทยาลัยเพื่อการวิจัยดาราศาสตร์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยเผยว่า พวกเขาพูดได้เต็มปากว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบลายนิ้วมือทางเคมีของดาวฤกษ์ยุคแรก และเป็นก้าวแรกในความเข้าใจว่าดาวฤกษ์ยุคแรกๆ นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร

ดาวฤกษ์ซึ่งเกิดหลังระเบิด “บิ๊กแบง” (Big Bang) เมื่อ 1.37 หมื่นล้านปีไม่นานนี้ ถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์สกายแมพเปอร์ (SkyMapper telescope) ของมหาวิทยาลัย ณ หอดูดาวซิดิงสปริง (Siding Spring Observatory) ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวมีหน้าที่ในการค้นหาดาวฤกษ์ดึกดำบรรพ์ในโครงการสร้างแผนที่ท้องฟ้าซีกใต้ โครงการระยะเวลา 5 ปี

ดาวโบราณดังกล่าวอยู่ห่างจากโลกแค่ 6,000 ปีแสง ซึ่งในแง่ดาราศาสตร์แล้ว ดร.เคลเลอร์ระบุว่าเป็นระยะทางที่ค่อนข้างใกล้ และเป็นหนึ่งในดาวฤกษ์กว่า 60 ล้านดวงที่กล้องสกายแมพเปอร์ค้นพบในช่วงปีแรกของโครงการ ซึ่ง ศ.ไมค์เบสเซลล์ (Prof Mike Bessell) ผู้ร่วมวิจัยอีกคนกล่าวว่า การค้นหาดาวฤกษ์ดังกล่าวเปรียบเหมือนการงมเข็มในกองฟาง แต่สกายแมพเปอร์ก็มีความสามารถค้นหาดาวฤกษ์ที่มีธาตุเหล็กต่ำๆ ได้จากสีของดาวฤกษ์ และเพื่อยืนยันการค้นพบครั้งนี้ทีมวิจัยอาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์แมกเจลแลน (Magellan telescope) ในชิลีทำการตรวจสอบ

จากการศึกษาองค์ประกอบของดาวฤกษ์โบราณ พบว่าดาวฤกษ์ดวงนี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 60 เท่า ซึ่งองค์ประกอบของดวงอาทิตย์นั้นมีไฮโดรเจนและฮีเลียมที่เกิดจากบิกแบง ผสมด้วยธาตุเหล็กปริมาณเทียบเท่ามวลของโลก 1,000 ดวง แต่ดาวฤกษ์โบราณนั้นประกอบด้วยธาตุเหล็กในขนาดไม่เกินออสเตรเลีย กับคาร์บอนอีกในปริมาณมาก ซึ่งองค์ประกอบที่แตกต่างกันระหว่างดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์โบราณนี้ ทำให้นักดาราศาสตร์ของใจถึงธรรมชาติของดาวยุคแรกๆ มากขึ้น และเข้าใจด้วยว่าดาวฤกษ์เหล่านั้นตายอย่างไร

ดร.เคลลี ระบุว่า เดิมทีเข้าใจว่าการตายในดาวฤกษ์ยุคบุกเบิกนั้นต้องเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง และปล่อยธาตุเหล็กออกไปเต็มอวกาศ แต่ดาวฤกษ์โบราณที่เพิ่งค้นพบนี้เผยให้เห็นสัญญาณของธาตุที่เบากว่า เช่น คาร์บอนและแมกนีเซียม เป็นต้น แต่กลับไม่พบร่องรอยการปลดปล่อยธาตุเหล็กสู่อวกาศ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าการระเบิดซูเปอร์โนวา (supernova) หรือการระเบิดของดาวที่ตายแล้วในอดีตนั้นมีพลังงานต่ำอย่างน่าประหลาดใจ

สำหรับการค้นพบครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ฉบับล่าสุด 
กล้องโทรทรรศน์สกายแมพเปอร์ที่หอดูดาวซิดิงสปริง ( AFP PHOTO / SPACE TELESCOPE SCIENCE INSTITUTE)
กล้องโทรทรรศน์สกายแมพเปอร์ที่หอดูดาวซิดิงสปริง ( AFP PHOTO / SPACE TELESCOPE SCIENCE INSTITUTE)
 (ซ้ายไปขวา) ดร.สเตฟาน เคลเลอร์ และ ศ.ไมค์เบสเซลล์ ณ กล้องโทรทรรศน์สกายแมพเปอร์ (David Paterson, ANU)






กำลังโหลดความคิดเห็น