สกว.- ห้องรมลำไยผลงานวิจัยจากแม่โจ้ พาลำไยไทยผ่านด่านตรวจเข้มของจีน หลังถูกแบนนำเข้าลำไย เพราะสารตกค้างเกินมาตรฐานไป 9 แห่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
จีนเป็นตลาดลำไยใหญ่ที่สุดของไทย โดยเฉพาะผลลำไยสด ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมา มีปริมาณการนำเข้าประมาณ 2 แสนตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 4 พันล้านบาท และยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาหรืออุปสรรคสำคัญของการส่งออกลำไยสดจากไทยไปจีน คือ การมีปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อผลลำไยสูงกว่าเกณฑ์ที่จีนได้กำหนดไว้
ปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อผลลำไยไทยมีมากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มีการแจ้งเตือนปัญหาดังกล่าวไปยังเกษตรกรและสถานประกอบการรมอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา จีนได้มีหนังสือแจ้งระงับการนำเข้าลำไยผลสดจากผู้ประกอบการของไทยจำนวนไปแล้ว 9 แห่ง
กระบวนการรมลำไยที่ผู้ประกอบการใช้กันโดยทั่วไป ได้แก่ วิธีการเผาไหม้ผงกำมะถันเพื่อให้ได้แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่การควบคุมปริมาณและความเข้มข้นของสารดังกล่าวเป็นไปได้ยาก และมักใช้ระดับความเข้มข้นหรือปริมาณผงกำมะถันสูงกว่าที่กำหนดไว้ สกว. จึงได้สนับสนุนทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำโดย ผศ.จักรพงษ์ พิมพ์พิมล มาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว
ทีมวิจัยพัฒนาและปรับปรุงเทคนิคการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับผลลำไยสดขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากถังอัดความดันโดยตรง รวมทั้งนำระบบบังคับอากาศแนวตั้งเข้ามาใช้ในกระบวนการรม เพื่อช่วยให้แก๊สเข้าไปสัมผัสกับผลลำไยสดที่บรรจุภายในตะกร้าได้ดียิ่งขึ้น จึงสามารถลดระดับความเข้มข้นของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลังสิ้นสุดการรมให้เหลือเพียง 4,000-6,000 พีพีเอ็ม หรือประมาณ 4-5 เท่า อีกทั้งควบคุมโรคและป้องกันการเกิดสีน้ำตาลบนเปลือกผลลำไยได้ไม่ต่ำกว่า 20 วัน ที่อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 เปอร์เซ็นต์
ผศ.จักรพงษ์ กล่าวว่า องค์ความรู้และผลงานวิจัยนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยี 4 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นำไปปรับปรุงคุณภาพห้องรมลำไยเพื่อพัฒนามาตรฐานระบบการผลิตลำไยของประเทศไทย เพื่อการส่งออกจำนวน 8 ห้อง ในปี พ.ศ. 2555
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตผลเกษตรบ้านเกี๋ยงดอย จ.เชียงราย และสหกรณ์การเกษตรน้ำแวน จ.พะเยา ขอรับแบบห้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับผลลำไยสดไปก่อสร้างแล้วปรับใช้ในเชิงการค้า เช่นเดียวกับบริษัทไทยฮงผลไม้ จำกัด ผู้ประกอบการส่งออกลำไยรายใหญ่ของไทย นำไปปรับปรุงและดัดแปลงห้องรมที่มีอยู่เดิมเพื่อส่งออกลำไยไปจีนและฮ่องกง ซึ่งปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ แม้ต้นทุนสูงกว่าวิธีเดิมประมาณ 0.20-0.30 บาทต่อกิโลกรัมผลลำไยสด
ล่าสุด บริษัท กรีนริชโปรดิวซ์ จำกัด อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ได้ดำเนินการสร้างห้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับผลลำไยสด จำนวน 4 ห้อง และนำไปปฏิบัติใช้เชิงการค้าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 เพื่อส่งไปจำหน่ายยังซูเปอร์มาร์เก็ตภายในประเทศ ได้แก่ เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี รวมถึงส่งออกผลลำไยสดที่ผ่านกระบวนการรมด้วยเทคนิคดังกล่าวไปยังตลาดเซี่ยงไฮ้ของจีน ซึ่งมีความเข้มงวดอย่างมากเกี่ยวกับในการนำเข้าผลไม้
ข้อมูลจาก สกว. ระบุอีกว่า การขนส่งทางเรือ รวมถึงการผ่านพิธีทางศุลกากร การรอผลตรวจวิเคราะห์สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง และคุณภาพผลลำไยสด จากห้องตรวจวิเคราะห์ของสำนักงานตรวจสอบสินค้านำเข้าของจีน (AQSIQ) ณ ศูนย์กระจายสินค้าที่เซี่ยงไฮ้ ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 23 วัน จึงจะอนุญาตให้ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ออกจากท่าเรือได้ ผลปรากฏว่าผลลำไยสดทั้งหมดผ่านการตรวจวิเคราะห์ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยจากสารตกค้างทุกชนิด เช่นเดียวกับคุณภาพของผลลำไย ซึ่งพบความเสียหายจากตำหนิต่างๆ ทั้งการเกิดเชื้อรา ศัตรูพืช ผลแตก และผลช้ำ น้อยมากเพียง 0.1%
การสร้างห้องรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ตามเทคนิคนี้ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 500,000-550,000 บาทต่อห้อง โดยสามารถรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับผลลำไยได้สูงสุดครั้งละ 360 ตะกร้า หรือคิดเป็นกำลังการผลิตต่อรอบการผลิตชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง ประมาณ 4,140 กิโลกรัม หรือ 11.5 กิโลกรัมต่อตะกร้า
ขณะที่ นายวรุณ พรพินิจสุวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท กรีนริชโปรดิวซ์ จำกัด ให้ความเห็นว่า วิธีการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์แบบใหม่นี้ เป็นแนวทางที่ดีซึ่งช่วยลดปัญหาการมีปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในผลลำไยสดได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับผลลำไยสดด้วยการเผาผงกำมะถัน แก๊สมักจะลอยหรือหมุนเวียนอยู่ในห้องแบบไร้ทิศทาง และไม่สามารถควบคุมปริมาณของแก๊สได้แน่นอน แต่เทคนิคใหม่นี้สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งยังช่วยให้ปฏิบัติงานได้ง่าย และใช้เวลาน้อยกว่าการเผาผงกำมะถัน 30 นาที จึงสามารถจัดส่งผลลำไยสดให้กับลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
สำหรับผู้สนใจห้องรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับผลลำไยสดดังกล่าว หรือต้องการชมห้องต้นแบบเป็นหมู่คณะ รวมทั้งขอรายละเอียดการก่อสร้าง สามารถติดต่อได้ที่ ผศ.จักรพงษ์ โทร. 0 5387 3922 และ 0 5387 8117 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ 0 5387 3390