xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตชาวสวนยาง สต๊อกยางทำราคาตก ปี 2557 คาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60-80 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมจิตต์ ศิขรินมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา
นายสมจิตต์ ศิขรินมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา ได้วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของราคายางพาราในปี 2557 ไว้ว่า ปี 2557 ความคาดหวังของชาวสวนยางที่จะเห็นราคาแตะที่กิโลกรัมละ 100 บาท เป็นเพียงแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพราะเริ่มเปิดศักราชใหม่ ชาวสวนยางขายยางแผ่นดิบได้ในเดือนมกราคม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 67.99 บาท เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เฉลี่ยกิโลกรัมละ 87.45 บาท และเดือนธันวาคม 2556 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 73.50 บาท ลดลงกิโลกรัมละ 19.46 และ 5.52 บาท ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยรอบด้านที่ไม่เอื้ออำนวยต่ออุปสงค์ยาง ผลผลิตที่เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น และการเรียนเก็บเงินสงเคราะห์ (CESS) จากผู้ส่งออกยางที่ผลักภาระแก่เกษตรกร หลังจากที่รัฐบาลได้ยกเว้นการจัดเก็บตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2556 ประกอบกับจีนชะลอการซื้อยาง และหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ราคายางแผ่นดิบปรับตัวลดลงต่ำสุดที่กิโลกรัมละ 61.61 บาท เมื่อวันที่ 6 ก.พ.57 ราคายางได้ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง จนถึงปัจจุบันมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 63.75 บาท (20 ก.พ.57) จากการกลับเข้ามาถามซื้อยางของจีน หลังเทศกาลตรุษจีน การเก็งกำไรของนักลงทุนจากข่าวการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมของสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ประกอบกับผลผลิตยางลดลงในหลายพื้นที่ปลูกยางทางภาคใต้ของไทย ซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลยางผลัดใบ

สถานการณ์ราคายางในไตรมาสแรก คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในกรอบแคบๆ เนื่องจากราคายางได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ทำให้นักลงทุน และผู้ประกอบการในประเทศเร่งซื้อ ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณสต๊อกยางอยู่ในโรงงานแล้วก็ตาม เพราะต้นทุนการจัดซื้อวัตถุดิบต่ำ และคาดว่าจะกระทบแล้งเป็นช่วงระยะเวลานาน การเปิดกรีดยางรอบใหม่จะล่าช้ากว่าทุกปี ความร่วมมือของผู้ส่งออกที่จะไม่ขายยางในระดับราคาที่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 65 บาท การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว จีนมีนโยบายส่งเสริมการใช่รถยนต์พลังงานทดแทนไปจนถึงปี 2558 และรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายลดภาษีการซื้อรถยนต์ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสภาพอากาศทั่วโลกที่หนาวจัดกว่าทุกปี
สมจิตต์ ศิขรินมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา
 
สถานการณ์ราคายางพาราตลอดปี 2557 ยังคงมีความผันผวน และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบจำกัด ประการแรก ปริมาณสต๊อกยางยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อราคายาง โดยเฉพาะสต๊อกยางจีน (ตลาดเซี่ยงไฮ้) ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 แตะระดับ 207,452 ตัน (16 ก.พ.57) ประกอบกับสต๊อกยาง ณ ท่าเรือชิงเต่า ที่มีประมาณ 339,900 ตัน (15 ก.พ.57) เมื่อรวมกับสต๊อกยางของไทยจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง อีกประมาณ 220,00 ตัน ซึ่งเคยได้กล่าวไว้แล้วว่า การสต๊อกยางของภาครัฐมีอุทาหรณ์ที่เป็นข้อสังเกต และควรพิจารณานับตั้งแต่ปี 2540-2544 การสต๊อกยางตามโครงการแทรกแซงตลาดยางพาราไม่ได้ส่งผลในการยกระดับราคายางให้สูงขึ้น กลับทำให้ราคายางเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ เท่านั้น (กิโลกรัมละ 20-25 บาท)

ประการที่สอง จีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย และเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ที่สุดของโลก มีนโยบายในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะลดลงจากร้อยละ 7.6 ในปี 2556 เหลือเพียงร้อยละ 7.3 ในปี 2557

ประการที่สาม สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) คาดการณ์ว่า ผลผลิตยางส่วนเกินของโลกปี 2557 อยู่ที่ระดับ 500,000 ตัน เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์เศรษฐกิจในวงการยางมีความเห็นสอดคล้องว่า จะมีผลผลิตส่วนเกินอยู่ที่ระดับ 366,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งมีผลผลิตส่วนเกินประมาณ 336,000 ตัน

ประการสุดท้าย ราคาน้ำมันดิบซึ่งมีการประเมินว่าปี 2557 ปริมาณการผลิตของประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจเป็นแรงกดดันให้กลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตลง ทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวม ยังคงเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ราคายางปรับตัวลดลงไม่มาก และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบจำกัด ระหว่างกิโลกรัมละ 60-80 บาท
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น