xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นสูงสุดรอบ 1 ปีครึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ระบุว่า ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่งในเดือนต.ค. เนื่องจากคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเร็วๆนี้
        รอยเตอร์สำรวจข้อมูลจากบริษัทจัดการกองทุนในญี่ปุ่น 8 แห่งระหว่างวันที่ 17-23 ต.ค. โดยผลสำรวจระบุว่า บริษัทกลุ่มนี้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ยูโรโซนขึ้นสู่ระดับสูงสุดรอบ 2 ปีครึ่ง ในขณะที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังฟื้นตัวขึ้นขณะออกจากวิกฤติหนี้
        ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นขึ้นสู่ 44.2 % ของสินทรัพย์ทั้งหมดในเดือนต.ค. ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดรอบ 18 เดือน  โดยเพิ่มขึ้นจาก 44.0 % ในเดือนก.ย.
        ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ขึ้นสู่ 49.0 ในเดือนต.ค. จาก 48.9 % ในเดือนก.ย. ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน
        ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นรายหนึ่งกล่าวว่า "การคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะเลื่อนเวลาในการปรับลดขนาด QE ออกไป หลังจากมีการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ คือปัจจัยที่กดดันอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ และส่งผลบวกต่อราคาหุ้น" 
        ผู้จัดการกองทุนกล่าวเสริมว่า "อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเพียงในวงจำกัดในตลาดโลก ดังนั้นคำสั่งซื้อของนักลงทุนจะกระจุกตัวอยู่ในหุ้นบริษัทที่มีผลกำไรสูงหรือกลุ่มบริษัทที่มีผลกำไรสูง"
        นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด เคยกล่าวในเดือนพ.ค.ว่า เฟดอาจจะเริ่มต้นปรับลดขนาดมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้จากระดับ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในช่วงต่อไปในปีนี้ อย่างไรก็ดี เฟดสร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาดในเดือนก.ย.เมื่อตัดสินใจคงขนาด QE ไว้ที่ระดับเดิม
        นักลงทุนหลายรายคาดว่า เฟดอาจจะเลื่อนเวลาในการปรับลดขนาด QE ออกไปสู่ช่วงต้นปีหน้า ในขณะที่การปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐในวันที่ 1-16 ต.ค.อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
        การคาดการณ์ดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนให้ดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่ในสัปดาห์นี้
        ทั้งนี้ ภายในพอร์ทลงทุนหุ้นนั้น ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นยูโรโซนและประเทศตลาดเกิดใหม่ในยุโรป และลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดอื่นๆ ซึ่งรวมถึงตลาดสหรัฐ, ญี่ปุ่น และเอเชีย
        ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นยูโรโซนขึ้นสู่ 10.5 % ของพอร์ทลงทุนหุ้น โดยปรับตัวขึ้นจากสถิติต่ำสุดที่ 8.8 % ในเดือนก.ย.
        ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นเข้าซื้อตราสารหนี้ยูโรโซนด้วยเช่นกัน ในขณะที่ตราสารหนี้อิตาลีและสเปนได้รับแรงหนุนในช่วงนี้เนื่องจากนักลงทุนลดความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้
        ผู้จัดการกองทุนญี่ปุ่นเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ยูโรโซนขึ้นสู่ 22.4 % ของพอร์ทลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2011 เป็นต้นมา และปรับขึ้นจาก 22.0 % ในเดือนก.ย.
  ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 4 ปีที่ 135.52 เยนในเดือนนี้ และแตะจุดสูงสุดรอบ 2 ปีที่ 1.3833 ดอลลาร์ในเดือนก.ย.
        การหันไปลงทุนในยูโรโซนอาจมีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในสหรัฐ และถึงแม้สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐสามารถตกลงกันได้ในเรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาเพดานหนี้ แต่นักวิเคราะห์ก็กังวลว่าภาวะทางตันทางการเมืองอาจเกิดขึ้นได้อีกในช่วงต้นปีหน้า
        นายยุอิชิ โคดามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทเมอิจิ ยาสึดะ ไลฟ์ กล่าวว่า "ถึงแม้การเจรจาต่อรองทางการคลังในสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เป็นการชั่วคราว แต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไขในขั้นพื้นฐาน และสหรัฐยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก"
        รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ระบุว่า ผู้จัดการกองทุนจีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้, ลดสัดส่วนการถือครองเงินสด และคงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไว้ที่ระดับเดิมสำหรับช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยผู้จัดการกองทุนจีนต้องการรอดูสถานการณ์ต่อไปก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะจัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ในเดือนพ.ย.
        รอยเตอร์สำรวจข้อมูลจากบริษัทจัดการกองทุนในจีน 8 แห่งในสัปดาห์นี้ โดยผลสำรวจระบุว่า สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้พุ่งขึ้นสู่ 7.6 % ในเดือน ต.ค. จาก 6.4 % ในเดือนก.ย. ในขณะที่สัดส่วนการถือครองเงินสดลดลงสู่ 8.6 % ในเดือนต.ค. จาก 9.9 % ในเดือนก.ย. ทางด้านสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทรงตัวที่ 83.8 %
        สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผู้นำจีนจะจัดการประชุมครั้งสำคัญเพื่อหารือเรื่องการปฏิรูประหว่างวันที่ 9-12 พ.ย. และมีแนวโน้มว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสำหรับช่วงสิบปีข้างหน้า ขณะที่ ในอดีตนั้นพรรค คอมมิวนิสต์จีนมักจะใช้การประชุมใหญ่ครั้งที่สามเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
        ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งกล่าวว่า "สิ่งที่มีความสำคัญสำหรับช่วงไตรมาส 4 ก็คือการประชุมใหญ่ครั้งที่สามของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประเด็นที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มต้นปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อใด"
        "เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ทั้งสองอย่างนี้"
        ผู้ตอบโพลล์ไม่แน่ใจว่าจะมีเงินทุนมากเพียงใดที่ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ เมื่อเฟดเริ่มต้นปรับลดขนาดมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในอนาคต
        ผู้ตอบโพลล์ระบุว่า ความกังวลเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะถ้าหากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงเกินคาด เพราะสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นการจำกัดความสามารถของธนาคารกลางจีนในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
        ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาของจีนระบุในช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่า จีนควรดำเนินการปฏิรูปใน 8 ด้านที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ การเงิน, การเก็บภาษี, ที่ดิน, สินทรัพย์ของรัฐบาล, สวัสดิการสังคม, นวัตกรรม, การลงทุนของต่างชาติ และการบริหารปกครอง
        นายหยู เจิงเซิง ซึ่งเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งอันดับ 4 ในคณะกรมการเมืองถาวรแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนกล่าวเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ในการประชุมครั้งนี้จะมีการเปิดเผยมาตรการปฏิรูปในวงกว้างในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน
        นักลงทุนในหุ้นบริษัทจีนเริ่มต้นโยกย้ายเงินลงทุนออกจากหุ้นที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ และหันมาลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ที่ปรับตัวอ่อนแอในช่วงก่อนหน้านี้
        ดัชนี ChiNext Composite ดิ่งลงมาแล้ว 10 % จากจุดสูงสุดในวันที่ 21 ต.ค. โดยดัชนีตัวนี้มีลักษณะคล้ายดัชนี Nasdaq ของตลาดหุ้นสหรัฐ และประกอบด้วยหุ้นบริษัทไฮเทคที่เพิ่งจัดตั้งใหม่ และเป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดเสิ่นเจิ้น
        ทางด้านดัชนี CSI300 ขยับลงเพียง 2 % ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยดัชนีตัวนี้ประกอบด้วยหุ้น A-share ของบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดเซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้น และมีหุ้นกลุ่มการเงินรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
ทวีสุข ธรรมศักดิ์
Executive Vice President.
RHB-OSK Securities (Thailand)PLC
RHB Banking Group
กำลังโหลดความคิดเห็น