xs
xsm
sm
md
lg

เรียนชีววิทยาจากเหรียญกษาปณ์นานาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหรียญโบราณของไทยเคยมีช้างเผือกปรากฏอยู่ เกือบ 20 ปีก่อนเคยมีตราแผ่นดินรูป “ครุฑ” บนเหรียญ 1 บาท หลายคนน่าจะยังทันใช้ และมีเหรียญที่ผลิตออกมาในปี 2517 มีเหรียญที่ระลึกชุดอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าราคา  50 บาท ผลิตออกมาเป็นภาพ “กระซู่” และ 100 บาท เป็นภาพ “ละมั่ง” ในอนาคตนายปรี๊ดอยากเห็นช้างเผือกบนเหรียญของไทย คงจะน่าใช้น่าสะสมทีเดียว
สิ่งมีชีวิตและวิทยาศาสตร์อยู่ในอุ้งมือ เหรียญกษาปณ์ที่ใช้จ่าย หรือได้รับทอนจากการเดินทาง ถูกใช้เป็นสื่อบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตในแต่ละประเทศ การเดินทางครั้งต่อไป แค่พลิกเหรียญคุณอาจเห็นสวนสัตว์หรือสวนพฤกษศาสตร์อยู่บนนั้น

เวลาไปท่องเที่ยวต่างประเทศเคยสังเกตเหรียญกษาปณ์ของประเทศนั้นๆ ไหมครับว่าเป็นรูปอะไร? โดยทั่วไปด้านหน้าเหรียญ หรือด้านหัวมักใช้รูปผู้นำประเทศ ตราแผ่นดิน หรือสัญลักษณ์ประจำชาติ แต่ที่นายปรี๊ดมักจะลุ้นเวลาได้เหรียญทอนจากมีแม่ค้ามาคือด้านหลังหรือ “ด้านก้อย” ที่มีรูปภาพหลากหลายมาก สะท้อนวิถีชีวิตและเรื่องราวทางธรรมชาติของประเทศนั้นได้น่าสนใจ

นายปรี๊ดสนุกกับการสะสมเหรียญรูปสัตว์และดอกไม้ บ้างก็ได้มาจากการเดินทาง บ้างก็มีคนเก็บมาฝาก บ้างก็ทำมึนขอเพื่อนมาแบบเจ้าของไม่ค่อยเต็มใจ ตัวอย่างการพบชีวิตบนเหรียญใกล้ๆ ตัว คือเหรียญของประเทศเพื่อนบ้านเรานี่แหละครับ ที่เห็นชีวิตบนเหรียญชัดเจนมากเลย คือเหรียญกษาปณ์ของของมาเลเซียรุ่นที่ใช้ปัจจุบันเพราะใช้ “ดอกชบา” ซึ่งดอกไม้ประจำชาติบน “ด้านหัว” แทนภาพตราแผ่นดินหรือผู้นำประเทศ เช่นเดียวกับเหรียญด้านหัวของพม่า ที่ใช้ภาพสัตว์ในตำนาน คือ “สิงห์” แบบที่พบตามหน้าประตูวัดและวัง เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องและความซื่อสัตย์

คนรักสัตว์แบบนายปรี๊ดชอบเหรียญของอินโดนีเซียรุ่นที่ใช้ในปัจจุบันมาก เพราะมีภาพนกและสัตว์หลายชนิดอยู่บนเหรียญ เหรียญ 100 รูปีมีภาพ “นกกระตั้ว” ซึ่งเป็นนกแก้วสีขาวมีหงอน ฉลาด ตลก ร้องเสียงดัง และที่สำคัญเป็นนกแก้วประจำถิ่นที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์มาก ตามถิ่นกำเนิดที่ถูกแยกเป็นเกาะห่างๆ กัน และนกกระตั้วก็พบได้เฉพาะอินโดนิเซียไล่ไปจนถึงออสเตรเลียเท่านั้น เหรียญ 200 รูปียิ่งน่าสนใจ เพราะเป็นภาพ “นกเอี้ยงบาหลี” นกเอี้ยงสีขาวหัวฟูขอบตาทาอายแชโดว์สีฟ้า และทั่วโลกพบที่เดียวบนเกาะบาหลีเท่านั้น ส่วนเหรียญ 500 รูปี เป็นภาพดอกมะลิ ดอกไม้กลิ่นอมตะที่หลายประเทศในอาเซียนหลงใหล

แม้ประเทศสิงคโปร์จะมีขนาดเล็ก และไม่โดดเด่นเรื่องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต แต่เหรียญกษาปณ์ของสิงคโปร์ก็เลือกใช้ภาพสัตว์และดอกไม้เช่นกัน เหรียญของสิงคโปร์ผลิตออกมาหลายรุ่น รุ่นแรกเมื่อราว 20 ปีที่แล้วเป็นชุดภาพปลา รุ่นที่ใช้ในปัจจุบันและกำลังถูกเก็บกลับคืนคลังให้หมดในปี 2561 เป็นชุดดอกไม้ เหรียญ 1 เซนต์ คือ ดอกกล้วยไม้แวนด้า “Miss Joaquim” ซึ่งเป็นกล้วยไม้ลูกผสมชื่อดังของสิงคโปร์และถือเป็นดอกไม้ประจำชาติด้วย

แวนด้าชนิดนี้ผสมขึ้นโดยนักพัฒนาพันธุ์ ชื่อ Agnes Joaquim เมื่อปี 2524 โดยใช้แวนด้าสายพันธุ์จากพม่าและมาเลย์เซีย ส่วนเหรียญอื่นๆ ในรุ่นดอกไม้ของสิงคโปร์ใช้ภาพ พลูฉีก ดอกมะลิ ดอกจามจุรี และดอกบานบุรี ดังนั้นใครอยากเก็บเหรียญภาพดอกไม้อาจจะต้องรีบตามเก็บสะสมไว้ก่อนจะค่อยๆ หายไปจากการหมุนเวียนใช้ตามปกติ และถูกแทนด้วยเหรียญภาพเมอร์ไลออน และสถานที่สำคัญซึ่งเป็นเหรียญรุ่นล่าสุดที่พึ่งผลิตมาทดแทนในปีนี้เอง

ฟิลิปปินส์ก็เคยใช้ภาพสัตว์และพรรณพืชบนเหรียญ เช่นกัน เป็นเหรียญชุดที่ผลิตขึ้นเมื่อปี 2526 ต่อมา ปรับองค์ประกอบและเลิกผลิตเหรียญมูลค่าต่ำ แต่ยังคงใช้ภาพเดิมเมื่อปี 2531 จนสุดท้ายทยอยเก็บเหรียญชุดนี้คืนคลังเมื่อปี 2537 อันที่จริงก็เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่สัตว์และพืชเฉพาะถิ่นจะปรากฏตัวบนเหรียญของชาวตากาล๊อก เพราะฟิลลิปินส์เป็นประเทศที่ประกอบขึ้นด้วยหมู่เกาะนับพัน สิ่งมีชีวิตที่พบบนเกาะบางชนิดพบได้แห่งเดียวของโลกด้วยซ้ำไป

เหรียญมูลค่าน้อยๆ 1-10 เซนติโม เป็นสัตว์และดอกไม้จิ๋วๆ อย่างปลาบู่แคระ หอยเต้าปูน และดอกกล้วยไม้ เหรียญใหญ่ขึ้นมาอย่างเหรียญ 25 เซนติโม เป็นภาพผีเสื้อ Graphium idaeoides เหรียญ 50 เซนติโมเป็นภาพนกอินทรีฟิลิปปินส์ เหรียญ 1 เปโซ เป็นภาพควายแคระ หรือ Tamaraw สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเฉพาะถิ่นใกล้สูญพันธุ์ของเกาะมินดาเนา และเหรียญ 2 เปโซเป็นภาพมะพร้าว ผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียง และเหรียญ 5 เปโซเป็นภาพดอกประดู่

ในประเทศลาวแม้ปัจจุบันจะใช้ธนบัตรเป็นหลัก แต่ก็สามารถหาแลกซื้อเหรียญได้ตามร้านขายของที่ระลึก เหรียญกษาปณ์ของลาวน่าสนใจ เพราะไม่ใช่ภาพสัตว์หรือพืช แต่เล่าเรื่องวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้อย่างน่ารัก เหรียญ 10 กีบเป็นภาพชาวนาหอบรวงข้าว 20 กีบเป็นภาพควายกับคันไถ และ 50 กีบเป็นภาพปลาตะเพียนแหล่งโปรตีนสำคัญที่จับได้จากแหล่งน้ำและท้องนาที่อุดมสมบูรณ์

เฉพาะเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตบนเหรียญกษาปณ์ของประเทศรอบบ้านเรายังสนุกขนาดนี้ นายปรี๊ดยังมีเหรียญของอีกหลายประเทศที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยว เช่น เหรียญภาพนกกระเรียนของเกาหลี เหรียญภาพดอกชงโคของเกาะฮ่องกง เหรียญภาพนกกีวี่ เฟิร์นสีเงิน และนกกระยางของนิวซีแลนด์ หรืออย่างแผ่นทวีปออสเตรเลียที่แยกออกไปจากแผ่นทวีปอื่นๆ จนมีสัตว์และพืชหน้าตาประหลาดก็ใช้เหรียญเป็นภาพสัตว์จำเพาะถิ่นที่เป็นดาราของประเทศ คือ ไกลเดอร์หางขนนกญาติของตัวซูการ์ไกลเดอร์ที่คนไทยนิยมเลี้ยง กิ้งก่าแผงคอ ตัวอิชิดนา นกหางพิณ ตุ่นปากเป็ด จิงโจ้ และเสารูปสัตว์ของชาวอะบอริจินพิ้นเมือง เป็นต้น

นายปรี๊ดยกตัวอย่างมาแค่นี้ ใครอยากสนุกต่อ ลองค้นหาใน Wikipedia ดูได้ครับ ลองคำว่า “coins of …” ใส่ชื่อประเทศที่เราสนใจเข้าไป ก็จะมีตารางชุดเหรียญและลิงก์รายละเอียดสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนนั้นออกมามากมายเกือบทุกประเทศ หรือค้นในเว็บไทยที่เป็นชุมชนของนักสะสม http://colnect.com ซึ่งในส่วนเหรียญกษาปณ์ รวบรวมภาพคอลเลกชันเหรียญ ค้นหาแบบแยกตามประเทศก็เพลินดีครับ
เทคนิคการทำเหรียญแบบใหม่ สามารถสร้าง “เหรียญหลากสี” ได้ด้วยระบบการพิมพ์ดิจิตอลที่พัฒนาจนรองรับการผลิตจำนวนมาก ต้นทุนต่ำลง และเกาะติดพื้นผิวได้ดี หลายประเทศเริ่มผลิตเหรียญที่ระลึกในวาระต่างๆ แบบเหรียญหลากสีออกมาให้นักสะสมติดตาม ประเทศลาวก็พึ่งออกเหรียญรูปงูสีเขียวบนพื้นสีโลหะ เพื่อเป็นที่ระลึก “ปีแห่งงู” (joelscoins.com)

เกี่ยวกับผู้เขียน

“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น