xs
xsm
sm
md
lg

ดม “มะลิ” คลายกังวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวอียิปต์ ตูนีเซียและอัฟกานิสถานมีอาชีพเก็บมะลิพันธุ์พื้นเมืองเพื่อสกัดน้ำมันแจสมิน (Jasmine) คือชื่อสามัญที่คนทั่วโลกเรียกดอกมะลิคำว่าแจสมินเป็นภาษาเปอร์เซียแปลว่า “ของขวัญจากพระเจ้า” ทั่วโลกมีมะลิมากกว่า 300 สายพันธุ์ กระจายอยู่ในเขตร้อนชื้นไปจนถึงเขตอบอุ่น หลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ชาวอียิปต์และกรีกโบราณเป็นชนชาติแรกๆ ที่เริ่มสกัดน้ำมันดอกมะลิมาให้ประโยชน์ (www.dw.de)
“กลิ่นมะลิ” เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลสงกรานต์ กลิ่นหอมเย็นของดอกมะลิทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายท่ามกลางแดดร้อนระอุ ธรรมชาติซ่อนความลับไว้ในกลิ่นหอมอันคุ้นเคย กลิ่นมะลิมีผลโดยตรงต่อสมอง ช่วยคลายเครียดได้เท่ากับการกินยานอนหลับ

ช่วงหน้าร้อนของไทยหันจมูกไปทางไหนก็มักเจอ “กลิ่นดอกมะลิ” ทั้งใช้ลอยน้ำสำหรับสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ผสมกลิ่นน้ำใช้ประพรมกันตามประเพณี บ้างใช้ปรุงกลิ่นหอมของขนมไทยหรือลอยหน้าข้าวแช่ บ้างผสมในชาร้อน ชาเย็นดื่มดับร้อนแก้กระหาย กลิ่นมะลิเป็นหนึ่งในกลิ่นหอมในวิถีชีวิตที่คนไทยคุ้นเคย

อันที่จริงแล้ว “กลิ่นมีตัวตน” กลไกการรับกลิ่นของเราเกิดขึ้นเมื่อวัตถุที่ “มีกลิ่น” ปลดปล่อยโมเลกุลเล็กจิ๋วระดับนาโนออกมา แล้วถูกลมพัด หรือเราหายใจพาพวกมันเข้าไปถึงเพดานในช่องจมูกซึ่งเป็นที่อยู่ของเซลล์รับกลิ่น (Olfactory receptor cell) จำนวนมหาศาล ซึ่งแต่ละเซลล์ก็มีหน้าที่รับโมเลกุลที่จำเพาะ จากนั้นสมองส่วนหน้าที่เรียกว่าออลแฟกทอรีบัลบ์ (Olfactory bulb) ก็จะส่งต่อสัญญาณจากตัวรับแต่ละตัวไปยังส่วนซีรีบรัมให้แปลข้อมูลซึ่งส่งมาร่วมกันว่าเป็นกลิ่นอะไร

ที่น่าทึ่งก็คือเซลล์รับกลิ่น 1 เซลล์ถูกควบคุมด้วยยีนส์เฉพาะ 1 ตัว ทำให้เราแยกแยะกลิ่นได้มากกว่า 10,000 กลิ่น สัตว์ที่มีจมูกดีอย่างสุนัขมีเซลลืรับกลิ่นมากกว่าเรา จึงรับกลิ่นได้ละเอียดกว่ามาก กลไกนี้เป็นที่มาของการสร้างจมูกอิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งใช้ตัวรับไฟฟ้าแทนเซลล์ในจมูกเพื่อการตรวจสอบสารเสพติด หรือวัดคุณภาพการผลิตอาหารด้วยการแยกแยะความเข้มข้น และการผสมผสานของโมเลกุลกลิ่นแต่ละแบบที่แตกต่างกันออกไป

มนุษย์และสัตว์ดมกลิ่นเพื่อรับรู้คุณภาพของอาหารว่าบูดเสียหรือไม่ กินไปแล้วจะเสี่ยงอันตรายหรือได้พลังงานสูง ดมกลิ่นเหยื่อเพื่อล่า หรือดมกลิ่นศัตรูเพื่อหลบหนี ส่วนสาวๆ ก็ใช้กลิ่นปล่อยฟีโรโมนปั่นหัวหนุ่มๆ เพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ พืชจึงใช้ประโยชน์จากการดมกลิ่นของสัตว์ เพื่อ “เชื่อมโยงกลิ่นกับน้ำหงานงานพลังงานสูง” เข้าด้วยกัน

นกกินน้ำหวานอย่างนกกินปลีใช้จมูกดมกลิ่นเหมือนเรา แต่ผึ้งและผีเสื้อดมกลิ่นด้วยเซลล์รับโมเลกุลที่ปลายหนวด พวกมันไม่ได้สนใจกลิ่นดอกไม้เพียงเพราะหอมหรือเหม็น งานวิจัยหลายชิ้นพิสูจน์ได้ว่าพืชปล่อยกลิ่นนำทางสัตว์มาหาตนเอง เพื่อประโยชน์ในการผสมเกสร นักชีววิทยาเชื่อว่าต้นไม้พัฒนากลิ่นของตัวเองควบคู่ไปกับการใช้คู่สี เช่น ดอกไม้สีแดงแสดมักมีกลิ่นออกไปในโทนกลิ่นน้ำผึ้ง เพื่อเชื่อมโยงกลิ่นกับแหล่งพลังงานที่แมลงตามหานั่นก็คือน้ำหวานนั่นเอง

ธรรมชาติสร้างกลิ่นของ “มะลิ” เพื่อเรียกแมลงมาช่วยผสมเกสร แต่คนเราใช้ประโยชน์จากกลิ่นของมะลิมากกว่านั้น คนเราใช้ประโยชน์จากมะลิมานานมาก มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ว่าคนเริ่มสกัดน้ำมันหอมจากดอกมะลิมาตั้งแต่สมัยอียิปต์และกรีกโบราณ เพื่อใช้ทำน้ำหอมและน้ำมันรักษาโรค ด้วยสรรพคุณที่ทำให้ผ่อนคลาย เพิ่มประสิทธิภาพการหมุนเวียนเลือดได้ดี
ดอกไม้อาจใช้กลิ่นช่วยป้องกันการผสมข้ามพันธุ์ การผสมข้ามพันธุ์อาจทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่แต่ก็อาจจะเสี่ยงทำให้เกิดลูกหลานที่เป็นหมัน ดอกไม้จึงผลิตกลิ่นด้วยการปล่อยโมเลกุลคาร์บอนสายสั้นๆ ออกมาผสมกัน เป็นกลิ่นเฉพาะของสายพันธุ์ เมื่อถึงฤดูดอกไม้บานจึงเหมือนการเปิดซุ้มสินค้าแข่งขันโปรโมชั่นในงานกาชาด ยิ่งดอกไม้พันธุ์ไหนออกดอกได้มาก กลิ่นแรง หรือมีกลิ่นเฉพาะมากเท่าไหร่ แมลงขาชอปที่รักชอบสินค้าแบรนด์นั้นก็ไม่ต้องเสียเวลาบินหา สามารถตรงรี่ไปหาได้ทันที  (commons.wikimedia.org)
แม้กลิ่นของมะลิถูกใช้ในการบำบัดโรคมานานเป็นพันปี แต่ไม่ค่อยมีคนใส่ใจทำวิจัยเชิงลึกในกลิ่นอันลึกลับนี้มากนัก จนเมื่อ 2-3 ปี มานี้เองที่มีการศึกษาโมเลกุลของกลิ่นมะลิ ที่ส่งผลต่อการคลายอาการกังวลและพบว่ามีผลดีเทียบเท่ากับการใช้ยาคลายเครียด Diazepam หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการค้าว่าวาเลียม (Valium)

เมื่อปี 2555 ศาสตราจารย์ Hanns Hatt แห่ง Ruhr University เมืองโบคุม เยอรมนี สนใจอิทธิพลของกลิ่นต่อการลดอาการเครียด หรือการรักษาแบบสุคนธบำบัด (Aromatherapy) ทีมงานแสกนสมองของอาสาสมัครหลังการสูดกลิ่นหอมของน้ำหอมและน้ำมันหอมระเหยหลายร้อยชนิด แล้วพบว่าน้ำหอมในโทนกลิ่นมะลิ มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์รับสาร GABA ซึ่งเป็นสารสำคัญในการลดอาการเครียดมากกว่ากลิ่นหอมอื่นกว่า 5 เท่า
สาร GABA หรือ Gamma-aminobutyric Acid ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทประเภทยับยั้ง ในระบบประสาทส่วนกลาง โดยทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง เมื่อร่างกายต้องทำกิจกรรม สมองจะได้รับการกระตุ้นให้ทำงานอย่างหนัก สาร GABA จึงมีหน้าที่ถ่วงสมดุลให้สมองการผ่อนคลายและนอนหลับสบาย การใช้งานแก้เครียดและยานอนหลับอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ประสิทธิภาพของตัวรับสาร GABA ลดลง และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องกินยาในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ

การใช้กลิ่นหอมรักษาอาการเครียดและนอนไม่หลับจึงน่าจะมีผลดีกว่าการใช้ยา ทีมงานพบว่า น้ำหอมที่มีกลิ่นมะลิเป็นหลัก 2 ชนิด คือ Vertacetal-coeur และ PI24513 มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพตัวรับสาร GABA มากที่สุด เมื่อทดสอบในหนูที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมเกี่ยวกับตัวรับสาร GABA ก็ได้ผลลัพธ์ในทางเดียวกัน และพวกมันก็แสดงอาการผ่อนคลาย นอนพึ่งพุงตามมุมกรงทันทีที่ปล่อยกลิ่นน้ำหอมเข้าไปในกรงจนเต็มที่

ประโยชย์ของกลิ่นมะลิที่มีผลกับสมอง ถือเป็นงานวิจัยใหม่ๆ ที่ช่วยยืนยันว่า กลิ่นหอมที่เราคุ้นเคย มีผลต่อการทำงานของร่างกายจริงๆ การต่อยอดประโยชน์ของกลิ่นอาจจะไม่ได้หยุดแค่ช่วยแก้เครียด หรือแก้นอนไม่หลับ เพราะกลไลของ GABA มีผลต่อการทำงานของโกรทฮอร์โมน ที่ช่วยให้เด็กๆ เติบโต และช่วยฟื้นฟูร่างกายของพวกเราในขณะหลับด้วยเช่นกัน

นายปรี๊ดเริ่มมีคำถามมากมายเกิดขึ้นในหัว กลิ่นมะลิหอมๆ ที่เราคุ้นเคยทุกวันนี้ส่วนมากเป็นสารสังเคราะห์ เพราะน้ำมันมะลิ 1 กิโลกรัมต้องใช้ดอกมะลิมากกว่า 5 ล้านดอก แล้วแบบนี้งานวิจัยจะช่วยทำให้มะลิไทยๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไหมนะ? มะลิพันธุ์ไหนหอมที่สุด? ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามะลิที่ปลูกในไทยมีคุณภาพสูง ผลิตโมเลกุลช่วยผ่อนคลายได้มากกว่ากลิ่นสังเคราะห์ มูลค่ามันจะมากขึ้นไหม? แล้วข้าวหอมมะลิล่ะ...มันมีโมเลกุลของกลิ่นชนิดเดียวกับดอกมะลิไหม? ถ้าเป็นชนิดเดียวกัน...ข้าวหอมมะลิไทยจะมีมูลค่ามากขึ้นไหม? ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่ากลิ่นของมันช่วยให้ผ่อนคลายส่งผลให้เจริญอาหารมากขึ้น หรือกลับกันทำให้กินอิ่มแบบพอดีไม่อ้วนล่ะ ?

กลิ่นมะลิเป็นของใกล้ตัว เหมือนหลายๆ เรื่องที่เรามักมองข้าม หลังเล่นสาดน้ำลอยดอกมะลิ หรือยกมาลัยไหว้ผู้ใหญ่มาสูดกลิ่นใกล้จมูก ลองคิดถึงเบื้องหลังของ “กลิ่นมะลิ” เผื่อหลังวันหยุดยาวไอเดียอาจพรั่งพรูได้งานได้เงินจากกลิ่นหอมที่คุ้นเคย

เกี่ยวกับผู้เขียน

“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น