xs
xsm
sm
md
lg

รัฐติดหนี้ชาวนาปากน้ำโพกว่า 7 พันล้าน เครือข่ายฯ ดึงเกษตรกรช่วยตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐติดหนี้ชาวนาปากน้ำโพกว่า 7 พันล.เครือข่ายฯดึงเกษตรกรช่วยตัวเอง
นครสวรรค์ - เครือข่ายโรงเรียนชาวนา นครสวรรค์รวมตัวพูดคุยหาทางออกให้แก่อนาคตของชาวนา เน้นผลิตพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ จำหน่ายเป็นพันธุ์ข้าว และพร้อมสีขายเอง

ที่บ้านวังแจง ต.มาบแก อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ถูกจัดให้เป็นสถานที่รวมตัวกันของตัวแทนชาวนาจากทุกอำเภอที่อยู่ในเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ การมารวมตัวของชาวนาครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการขับเคลื่อนพันธุกรรมพื้นบ้านสู่เมนูอาหารท้องถิ่น ซึ่งโครงการนี้จัดขึ้นโดยเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์ ชาวนากลุ่มนี้เดินหน้าพูดคุยแลกเปลี่ยนวิถีการทำนาภายใต้โครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 มีเป้าหมายเพื่อให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอนโยบายและโครงการของรัฐบาลที่กำลังมีปัญหาจากการค้างจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวนาหลายจังหวัด ประกอบกับโครงการดังกล่าวทำให้คุณภาพของข้าวไทยลดลง

นายนพดล มั่นศักดิ์ ผู้จัดการสมัชชาเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ กล่าวถึงการลงพื้นที่เปิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ว่า มุ่งเน้นให้ชาวนาผลิตพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพจำหน่ายแก่ชาวนาในกลุ่มทดแทนการซื้อพันธุ์ข้าวจากบริษัทเอกชนที่อาจมีการตัดแต่งพันธุกรรมจนไม่สามารถนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ และให้ชาวนาผลิตข้าวอินทรีย์ ปลอดสารพิษ แปรรูปผลผลิตของตนเอง

เช่น การสีข้าวกล้องบรรจุถุงจำหน่าย ทำข้าวเกรียบ ทำข้าวกรอบ โดยมีหอการค้าจังหวัด และโรงพยาบาลเปิดช่องทางให้ชาวนานำสินค้าวางจำหน่าย โดยทุกขั้นตอนเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์จะติดต่อวิทยากรที่มีประสบการณ์เปิดอบรมให้ชาวนาฟรี

นายนพดลกล่าวถึงความเดือนร้อนของชาวนาในจังหวัดนครสวรรค์ว่า ชาวนาหลายรายยังไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าวมานานกว่า 5 เดือนแล้ว รวมเป็นเงินกว่า 7 พันล้านบาท ซึ่งวันนี้มีการหารือร่วมกับเครือข่ายชาวนาเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหากับโครงการรับจำนำข้าว พร้อมร่วมแสดงความคิด ความเห็นให้ชาวนาทำเกษตรทางเลือก โดยลดต้นทุนการผลิต พัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้น เพื่อที่ชาวนาจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของรัฐบาล พร้อมเสนอให้รัฐบาลปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกของตลาด

สำหรับโครงการขับเคลื่อนพันธุกรรมพื้นบ้านสู่เมนูอาหารท้องถิ่นวันนี้ ชาวนาต่างร่วมเดินหน้าปกป้องเมล็ดพันธุ์พืช ทั้งข้าว ผัก ผลไม้ดั้งเดิมของแต่ละชุมชนโดยใช้วิธีกระจายเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านไปปลูกตามพื้นที่ต่างๆ ตามที่คนในเครือข่ายโรงเรียนชาวนาอาศัยอยู่ พร้อมแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ให้แก่ผู้สนใจนำไปเพาะปลูก ให้เกิดความมั่นคงและหลากหลายในเมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชนอีกด้วย
รัฐติดหนี้ชาวนาปากน้ำโพกว่า 7 พันล.เครือข่ายฯดึงเกษตรกรช่วยตัวเอง
รัฐติดหนี้ชาวนาปากน้ำโพกว่า 7 พันล.เครือข่ายฯดึงเกษตรกรช่วยตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น