xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ไก่เนื้อของไทยปราศจากฮอร์โมนเร่งโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ ลงความเห็นร่วมกันในการประชุมเวชศาสตร์เขตร้อนนานาชาติ ประจำปี 2013 หัวข้อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของไก่เนื้อจากประเทศไทย ระบุว่า ไก่เนื้อของไทยมีความปลอดภัย ปราศจากการใช้ฮอร์โมนเร่งโต ย้ำปัจจัยส่งเสริมไก่เนื้อเติบโตเร็วเกิดจากสายพันธุ์ดี การใช้เทคโนโลยีที่ดี ครอบคลุมการบริหารจัดการฟาร์ม และการป้องกันโรคที่ดี รวมถึงโภชนาการที่ดี

เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมเวชศาสตร์เขตร้อนนานาชาติ ประจำปี 2013 หัวข้อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของไก่เนื้อจากประเทศไทย จัดโดยภาควิชาการเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีนักวิชาการจำนวนมากได้แสดงความเห็นเรื่องอุตสาหกรรมไก่ไทย

ผศ.ดร.ยุวเรศ เรืองพานิช รองหัวหน้าภาควิชาฝ่ายวิชาการและบริการวิชาการ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการวิจัย และพัฒนาอยู่ตลอดเวลานั้น สามารถสนับสนุนให้ไก่เนื้อเติบโตเร็วกว่าในอดีตจากปี 1957 ที่ใช้เวลา 84 วัน ลงมาเหลือราว 42 วันในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากปัจจัย 5 ประการ ได้แก่ พันธุ์สัตว์ที่ดี อาหารสัตว์คุณภาพดี โรงเรือนและอุปกรณ์ทันสมัย การดูแลด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี และระบบการป้องกันโรคที่ดี

“อาจมีคนคาดเดาว่าในส่วนของอาหารไก่จะมีการใส่สารบางอย่างเข้าไปเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งก็ต้องบอกว่า เป็นการคาดเดาที่เลื่อนลอย เพราะอาหารไก่ในปัจจุบันจะถูกคิดค้นสูตรเฉพาะโดยนักวิชาการอาหารสัตว์ ที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการ และสารอาหารที่เหมาะสมกับไก่แต่ละช่วงอายุ ทำให้ไก่เติบโตได้รวดเร็วตามมาตรฐาน ในบางกรณีอาจมีการพิจารณาใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหารของไก่ ขณะเดียวกัน วัตถุดิบอาหารสัตว์ยังถูกควบคุมอย่างเข้มงวด จากกฎหมายที่ห้ามใช้สารฮอร์โมนเร่งโตที่ครอบคลุมถึงอาหารสัตว์ว่าต้องไม่มีสารฮอร์โมนเร่งโตด้วย โดยอาหารสัตว์ที่ได้มาจะผ่านการตรวจสอบคุณภาพอีกหลายขั้นตอนทีเดียว”

น.สพ.บริสุทธิ์ วรรณสุทธิ์ นักวิชาการ บริษัท คอบบ์ แวนเทรส เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อ (สายพันธุ์ COBB) ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า กรณีที่ไก่เนื้อทุกวันนี้โตเร็วกว่าในอดีตนั้น เป็นเพราะกระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์ตามธรรมชาติที่พัฒนาโดยใช้หลักการพื้นฐานวิชาพันธุศาสตร์ โดยไก่จะต้องผ่านเกณฑ์ลักษณะเด่นทางพันธุกรรมมากกว่า 50 ลักษณะ จึงจะถูกคัดเลือกเพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อ

เมื่อไก่ที่ได้รับการพัฒนาด้านพันธุกรรมที่ดีแล้ว นำไปเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ให้อาหารที่มีโภชนาการที่ดีกับการเจริญเติบโตของไก่แต่ละช่วงวัย ภายใต้การเลี้ยงที่ถูกต้อง และมีมาตรฐานการป้องกันโรคที่ดี ไก่เนื้อก็จะแสดงลักษณะภายนอกที่ชัดเจน คือ เติบโตรวดเร็ว และแข็งแรงตามพันธุกรรมธรรมชาติ โดยการคัดเลือกสายพันธุ์ตามธรรมชาติ (Genetic Breeding) ที่ใช้นั้น แตกต่างกับการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) อย่างสิ้นเชิง และไม่มีอันตรายใดๆ

“เราใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยในการคัดเลือกสายพันธุ์ไก่ เช่น เครื่องวัดความแข็งแรงของปอดและหัวใจ (oximeter) เครื่องวัดระดับความดันเลือด เครื่องเอกซเรย์ความแข็งแรงของกระดูกและข้อต่อ เครื่องสแกนดูปริมาณสัดส่วนกล้ามเนื้อ และไขมัน เพื่อคัดพันธุ์รองรับการเติบโตที่ดีอย่างสมดุล ทั้งนี้ วิธีการคัดสายพันธุ์ส่งผลให้ไก่โตขึ้นทุกปีๆ ละ 45 กรัม มีอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ (FCR ) ที่ดีขึ้น 0.02 ทุกปี เท่ากับว่ากินอาหารน้อยลงแต่เปลี่ยนเป็นเนื้อได้มากขึ้น ขณะที่ยิลด์ (Yield) ก็ดีขึ้น 0.34% ทุกปีเช่นกัน ทั้งหมดนี้คือข้อดีของการคัดเลือกสายพันธุ์”

น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านบริการวิชาการสัตว์ปีก บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยจะใช้สารเร่งการเจริญเติบโต เพราะผิดทั้งกฎหมายของประเทศไทย และขัดต่อข้อบังคับของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ อีกทั้งปัจจัยสนับสนุนทั้ง 5 ข้อก็ทำให้ไก่เนื้อของไทยเติบโตเร็วอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเร่งใดๆ

กระบวนการบริหารจัดการฟาร์มที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา สามารถช่วยให้ไก่ที่เลี้ยงเติบโตได้เร็ว โดยเฉพาะการเลี้ยงด้วยระบบโรงเรือนปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำที่สามารถควบคุมองค์ประกอบของการอยู่สบายได้ตามที่ไก่ต้องการ มีระบบอัตโนมัติในการให้อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ตลอดจนปัจจัยด้านการป้องกันโรค และการจัดการฟาร์มที่ดี รวมไปถึงการจับ และขนส่งสู่โรงงานชำแหละด้วยรถขนส่งที่ถูกควบคุมด้วยระบบดาวเทียม (GPS)สามารถตรวจสอบเส้นทาง และสภาพการขนส่งได้ตลอดเวลา เพิ่มความมั่นใจในระบบอาหารปลอดภัยอีกขั้นตอนหนึ่ง หรือแม้แต่ภายในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ยังต้องมีการตรวจสอบสารตกค้างทุกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อยืนยันว่าไก่ไทยปลอดภัย และปราศจากสารตกค้างใดๆ

“ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ของไทย สามารถตรวจสอบได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งการตรวจสอบไปข้างหน้า และตรวจสอบย้อนกลับ (Forward & Backward) ด้วยระบบตรวจสอบย้อนกลับอิเล็กทรอนิกส์ (E-Traceability) ที่สามารถตรวจพบสารตกค้างตลอดจนสารเร่งการเจริญเติบโตต่างๆได้ จึงมั่นใจได้ว่าเนื้อไก่ในอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยมีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั่วโลก” น.สพ.พยุงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อในลำดับที่ 9 ของโลก ด้วยปริมาณการผลิต 1.9 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 2% ของการผลิตทั้งโลก โดยมีสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดคิดเป็น 20% ตามมาด้วยจีน 17% และบราซิล 16% และในมิติของการส่งออก ประเทศไทยจัดเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ในปริมาณ 5 แสนกว่าตันต่อปี คิดเป็น 5% โดยมีบราซิล เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในปริมาณ 3.5 ล้านตัน หรือคิดเป็น 36% ตามด้วยสหรัฐอเมริกา ในปริมาณ3.1 ล้านตัน หรือ 31%
กำลังโหลดความคิดเห็น