เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์--ขณะนี้สื่อกระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน กำลังโน้มน้าวประชาชน ชี้ อาหารตัดแต่งพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ (GMO) “ปลอดภัย” ขณะที่รัฐบาลกำลังคลอดนโยบายสนับสนุนการขายอาหาร GMO เพื่อเป็นหลักประกันว่า ประชากร 1,350 ล้านคน มีอาหารกินเพียงพอ
สืบเนื่องจากช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประชาชนเขตเมืองในประเทศจีน เพิ่มจำนวนถึง ราว 700 ล้านคน จากจำนวนไม่ถึง 200 ล้านคน ดันความต้องการข้าวปลาอาหารพุ่งกระฉูด ขณะที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามีเพียงอาหารตัดแต่งพันธุกรรมที่จะสนองความต้องการได้เพียงพอ
ขณะเดียวกันก็มีกระแสต่อต้านอาหารจีเอ็มโอ ที่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยชิ้นไหนในโลกยืนยันความปลอดภัย กลุ่มหน่วยงานรัฐหลายหน่วยในจีน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งรัฐถึงกับกล่าวว่า อาหารจีเอ็มโอเป็นฝิ่นแบบใหม่ ที่บริษัทข้ามชาติตะวันตก บีบให้จีนยอมรับ เหมือนอย่างที่เคยนำมามอมเมาประชาชนจีนในอดีต
แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อกระบอกเสียงของรัฐช่วยกันลุยประโคมข่าวไม่หยุดหย่อนว่า "GMO ปลอดภัย" โดยกระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน หนังสือพิมพ์ประชาชนจีน หรือพีเพิล เดลี่ ออกมาปฏิเสธ “ข่าวลือ” ที่ระบุว่าอาหาร GMO จะเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอ (DNA) มนุษย์ นอกจากนี้ สำนักข่าวซินหวาก็ดำเนินการสอบสวนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และได้ออกรายงานปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ว่า การบริโภคอาหาร GMO จะลดจำนวนสเปิร์ม
เมื่อเร็วๆนี้นักวิทยาศาสตร์ GMO จัง ฉีฟา กออกมาวิพากษ์วิจารณ์กระทรวงเกษตรที่ไม่ยอมรับรองอาหาร GMO ซึ่งดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้วยงบฯหลายพันล้านหยวนในช่วงสิบปีมานี้
ทั้งนี้จีนรับรองความปลอดภัยข้าว GMO รุ่นแรกของจีนในปี 2552 แต่ยังไม่อนุญาตการผลิตเพื่อการพาณิชย์ จนกว่ามติสาธารณจะเป็นเอกฉันท์ ขณะที่ใบรับรองข้าว GMO “BT” ที่ใส่ยีนส์ต่อต้านศัตรูพืช ก็จะหมดอายุลงในปีหน้า
จัง ผู้มีฉายา “บิดาจีเอ็มโอ” ครวญจีนจะเสียโอกาสในการพัฒนาอาหาร GMO หากไม่เดินหน้ารับรองฯ และว่ามติสาธารณะไม่เกี่ยวข้อง
ด้านกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จีนอีหลักอีเหลื่อในการยอมรับว่าอาหาร GMO ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารของประเทศแล้ว จีนเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลือง GMO รายใหญ่สุดของโลก ใช้สำหรับบริโภค และยังนำเข้าข้าวโพด GMO จากสหรัฐฯและที่อื่นๆ
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าการนำเข้าข้าวของจีน จะแตะระดับ 3.4 ล้านตัน ในปี 2555/56 ขณะที่บรรดานักวิจัยชี้ว่าจีนกำลังประสบปัญหาช่องว่างด้านอาหาร ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้อาหาร GMO เท่านั้น แต่ทางการปักกิ่งก็ยังไม่เดินหน้ารับรอง จนกว่าจะแน่ใจว่าความเสี่ยงมีน้อยที่สุด และที่สำคัญคือได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะ
นอกจากนี้กลุ่มวิจัยที่ทรงอิทธิพลก็เตือนให้ระวังโดยเฉพาะการนำมาเป็นอาหารบริโภคประจำวัน เช่น ข้าว และข้าวสาลี
“หลายฝ่ายบอกว่าไม่มีความเสี่ยงในการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ แต่ความเสี่ยงอาจไม่พบในช่วง 3 ถึง 5 ปี หรือกระทั่ง 3 ถึง 5 ชั่วรุ่นคน” เจียง ฉางอวิ๋น ผู้อำนวยการวิจัยแห่งสถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Development Research Institute) นอกจากนี้ เจียงยังเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงการติดฉลากอาหารเพื่อให้ประชาชนเลือกเองว่าจะบริโภคอาหาร GMO หรือไม่
การถกเถียงอาหาร GMO ในจีน ยังขยายวงไปถึงหน่วยความมั่นคงแห่งชาติ เผิง กวงเฉียน รองเลขาธิการคณะกรรมการด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาว่า อาหาร GMO ไม่ผิดอะไรกับฝิ่นรูปแบบใหม่ ที่กลุ่มบริษัทตะวันตกบีบให้จีนยอมรับ
เผิงเขียนบทความเผยแพร่ในสื่อจีน ระบุบรรษัทข้ามชาติอย่าง มอนซานโต (Monsanto) และ ดูปองท์ (Dupont) ทุ่มผลิตภัณฑ์ GMO เข้ามาในตลาดจีน
หวัง เสี่ยวอี๋ว์ เจ้าหน้าที่ในสมาคมถั่วเหลืองมณฑลเฮยหลงเจียง กล่าวว่าน้ำมันถั่วเหลือง GMO ที่บริโภคในภาคใต้ของประเทศ ดันอัตราเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้น