xs
xsm
sm
md
lg

ไปดู...ห้องปฏิบัติการ “ไดออกซิน” ของไทย (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในสิ่งแวดล้อมมีสารพิษกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์โดยไม่ตั้งใจ แต่มีความร้ายกาจที่นอกจากเป็นปัจจัยก่อมะเร็งและความผิดปกติในร่างกายของสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังตกค้างในสิ่งแวดล้อมยาวนาน สารพิษที่ว่าคือ “ไดออกซิน” แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าในสิ่งแวดล้อมมีสารพิษนี้ปนเปื้อนอยู่ และปนเปื้อนอยู่มากน้อยเท่าใด? “ห้องปฏิบัติการไดออกซิน” เป็นตัวช่วยที่จะไขคำตอบให้แก่เราได้

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ มีโอกาสได้ไปเยือน ห้องปฏิบัติการไดออกซิน (Dioxin Laboratory) ห้องปฏิบัติการในสังกัด ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งอยู่ภายในเทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จึงรวบรวมข้อมูลน่าสนใจบางส่วนกลับมาฝาก



ทำไมต้องมี “ห้องปฏิบัติการไดออกซิน”?
อย่างที่กล่าวไปแต่ต้น “ไดออกซิน” นั้นเป็นสารพิษก่อมะเร็งและตกค้างในสารพิษยาวนาน โดยเมื่อปี 2544 มีการลงนามในอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Persistant Organic Pollutants) จากการเห็นความสำคัญในการปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไดออกซินจัดเป็นสารพิษที่ตกค้างยาวนาน และสามารถเคลื่อนจากสิ่งแวดล้อมหนึ่งไปยังอีกสิ่งแวดล้อมหนึ่ง แล้วเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ห้องปฏิบัติการไดออกซินจึงก่อตั้งขึ้นตามอนุสัญญาดังกล่าว ภายใต้มติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไทยเมื่อปี 2550 และมีหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการลดและควบคุมสารมลพิษ โดยเฉพาะไดออกซิน และฟิวแรน (furans) ซึ่งคล้ายคลึงกับไดออกซิน และสารมลพิษตกค้างยาวนานชนิดอื่นๆ ที่ระบุไว้ในอนุสัญญาสตอกโฮล์ม อาทิ ดีดีทีดิลดริน เอนดริน โดยสารส่วนใหญ่เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

รู้จัก “ไดออกซิน”
ไดออกซิน (Dioxins) เป็นผลิตผลทางเคมีที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจจากการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ณ อุณหภูมิต่ำกว่า 800 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่าแต่มีการลดอุณหภูมิบางช่วง ซึ่งแหล่งกำเนิดไดออกซินมีหลากหลาย เช่น เตาเผาขยะชุมชน เตาเผาขยะติดเชื้อ การเผาไหม้ถ่านกิน การเผาไหม้น้ำมันต่างๆ เตาเผาปูนซีเมนต์ ไฟป่า การระเบิดของภูเขาไฟ โรงงานหลอมโลหะ การผลิตสารเคมี การปลดปล่อยจากดินและพืชผักต่างๆ ที่ปนเปื้อนสารไดออกซิน เป็นต้น

ทั้งนี้ ไดออกซินเข้าสู่ร่างกายได้จากทางผิวหนังและทางปาก ซึ่งทั้งคนและสัตว์ได้รับสารนี้จากสิ่งแวดล้อม แต่ประมาณว่า 90% ของไดออกซินที่คนได้รับนั้นมาจากอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมและปลา โดย ดร.รุจยา บุญยทุมานนท์ ผู้อำนวยการส่วนห้องปฏิบัติการไดออกซินและสารอันตราย ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม อธิบายว่าเป็นสารดังกล่าวตกค้างและละลายได้ดีในไขมัน เมื่อเรากินสัตว์ที่มีการสะสมสารดังกล่าวในร่างกาย สารนี้ก็จะเข้าไปสะสมในไขมันของเรา

สำหรับห้องปฏิบัติการไดออกซินของไทยนั้นถือเป็นห้องปฏิบัติการไดออกซินของภาครัฐแห่งเดียวในเอเชียที่ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมและอาหารได้ครบถ้วน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 56 และคาดว่าจะรองรับการตรวจวิเคราะห์ไดออกซินในทุกตัวอย่างสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ และกำหนดค่ามาตรฐานไดออกซินของไทยได้ในปี 2558

เข้าไปชมแล็บไดออกซิน
ดร.รุจยา ผู้นำชมห้องปฏิบัติการไดออกซิน แจกแจงว่าห้องปฏิบัติการแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนทดสอบตัวอย่างที่มีไดออกซินความเข้มข้นต่ำ เช่น อากาศและน้ำในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และส่วนทดสอบตัวอย่างที่มีไดออกซินความเข้มข้นสูง เช่น ตัวอย่างน้ำและอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยความดันอากาศภายในห้องปฏิบัติการเป็นลบ คืออากาศจากห้องปฏิบัติการไม่สามารถไหลออกมาภายนอก แต่อากาศภายนอกสามารถไหลผ่านตัวกรองอากาศเข้าสู่ห้องปฏิบัติการได้

เนื่องจากต้องมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมภายในห้องปฏิบัติการ ทีมข่าววิทยาศาสตร์และผู้เยี่ยมชมจึงไม่สามารถไปภายในห้องปกิบัติการได้โดยตรง แต่สังเกตห้องปฏิบัติการได้จากภายนอก โดยภายในห้องปฏิบัติการทั้ง 2 ส่วนที่แยกกันนี้มีเครื่องมือและชุดปฏิบัติการเดียวกัน แต่ไม่นำมาใช้ปะปนกัน เพื่อความเที่ยงตรงในการวิเคราะห์ โดยชุดเครื่องมือและอุปกรณ์วิเคราะห์สารไดออกซิน ได้แก่ เครื่องตัวอย่างอากาศ ชุดสกัดแบบ ตู้อบอุณหภูมิสูง เครื่องแก๊สโครมาโตกราฟีชนิดความละเอียดสูง ชุดสกัด เตาอบสุญญากาศ ชุดคอลัมน์ชนิดต่างๆ เครื่องลดปริมาตร

ตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์นั้น มีทั้ง ดิน น้ำ อากาศ ตะกอนดิน เถ้าตะกอนและอาหาร ซึ่งหลังจากวิเคราะห์ตัวอย่างแล้ว ของเสียจากห้องปฏิบัติการจะถูกเผาไหม้ในเตาอุณหภูมิสูง เพื่อให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ ป้องกันการเกิดไดออกซิน และมีการฝังกลบอย่างปลอดภัยที่มีการจัดการพื้นที่ด้วยวัตถุกันซึม เพื่อป้องกันไม่ให้ของเสียออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม







*อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากเอกสารประชาสัมพันธ์ห้องปฏิบัติการไดออกซิน
ชุดสกัดแบบ soxhlet extraction
เครื่องลดปริมาตร

ดร.รุจยา บุญยทุมานนท์






กำลังโหลดความคิดเห็น