xs
xsm
sm
md
lg

พบสาหร่ายสีแดงพันธุ์ใหม่ที่เกาะลันตา กระบี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริเวณเกาะลันตาที่มีการเก็บตัวอย่าง
นักเรียนทุนนิวซีแลนด์ใช้หลักการตรวจดีเอ็นเอยืนยันการพบสาหร่ายสีแดงพันธุ์ใหม่บนเกาะลันตา กระบี่ จากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกันของนักวิจัย มก. และ ม.บูรพา

ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ นักศึกษาปริญญาเอกด้านชีววิทยาทางทางทะเล มหาวิทยาลัยวิกตอเรียแห่งเวลลิงตัน (Victoria University of Wellington) นิวซีแลนด์ เผยข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่ามีการพบสาหร่ายสีแดงพันธุ์ใหม่บนเกาะลันตา กระบี่

สาหร่ายดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ถูกเก็บสำรวจภายในโครงการสำรวจความหลากหลายของทรัพยากรสาหร่ายในประเทศไทย ของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่ดำเนินการสำรวจอย่างต่อเนื่องมาประมาณ 20-30 ปี โดยการสำรวจจุดสำรวจครอบคลุมทั้งบริเวณชายฝั่งทางอ่าวไทยและทะเลอันดามันปีละ 1 ครั้ง

กระทั่งปี 2555 ที่ผ่านมา ทีมสำรวจจากคณะประมง มก.ซึ่งนำโดย ศ.ดร.กาญจนภาชน์ ลิ่วมโนมนต์ และ ดร.จันทนา ไพบูรณ์ ร่วมกับ ธิดารัตน์ น้อยรักษา นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของสาหร่ายบริเวณ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และพบสาหร่ายสีแดงในสกุล กราซิลาเรีย (Gracilaria) บริเวณหาดคอกวาง มีลักษณะค่อนข้างแตกต่างจากชนิดที่เคยมีรายงานในประเทศไทย

“ต้นปี 2556 ผมเดินทางกลับประเทศไทยและมีโอกาสได้พูดคุยกับ ศ.ดร.กาญจนภาชน์ ในหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องตัวอย่างสาหร่ายที่เก็บได้จากเกาะลันตา เนื่องจากผมสนใจและศึกษาเกี่ยวกับสาหร่ายสีแดงสกุลกราซลาเรียมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีและโท จึงขอตัวอย่างบางส่วนมาศึกษาเพิ่มเติมที่นิวซีแลนด์” ณรงค์ฤทธิ์เผย

ทั้งนี้ ณรงค์ฤทธิ์สนใจสาหร่ายกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่เรียนปริญญาตรีคณะประมง มก.และในระดับปริญญาที่มหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เขาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเกี่ยวกับอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยาของสาหร่ายกลุ่มนี้บริเวณหมู่เกาะคิวชู

จากการศึกษาเพิ่มเติมทั้งลักษณะทางโครงสร้างภายนอกและภายใน ร่วมกับข้อมูลทางชีวโมเลกุล (DNA) สามารถยืนยันได้ว่า สาหร่ายสกุลกราซิลาเรีย ที่พบบริเวณหาดคอกวาง เกาะลันตา เป็นชนิดใหม่ซึ่งไม่เคยมีรายงานมาก่อน และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้ตามชื่อของสถานที่ที่ทำการสำรวจว่า กราซิลาเรีย ลันตาเอ็นซิส (Gracilaria lantaensis)

ณรงค์ฤทธิ์ใช้เวลา 5 เดือนในการวิเคราะห์ตัวอย่างที่ได้รับเมื่อเดือน เม.ย.57 โดยแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.และประมาณปลายเดือน ก.ย.ได้ส่งบทความเพื่อตีพิมพ์ไปยังวารสารวิชาการ Phycologia ซึ่งเวลาตรวจสอบผลงาน 4 เดือน และได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในเดือนธ.ค.56 โดยบทความเพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

สาหร่าย กราซิลาเรีย ลันตาเอ็นซิส พบได้บริเวณชายฝั่งน้ำขึ้น-น้ำลง เกาะติดและเจริญเติบโตบนโขดหินหรือซากเปลือกหอย มีลักษณะแบนคล้ายใบไม้ สีแดงอมชมพู สูงประมาณ 2-11 เซนติเมตร ขอบเรียบ แตกแขนงเป็นสองแฉกหรือสามแฉก แขนงอ่อนมีลักษณะเป็นเส้นตรง แต่เมื่อโตขึ้นจะมีลักษณะโค้งเล็กน้อย

“รายละเอียดในส่วนของบทบาทต่อระบบนิเวศของสาหร่ายชนิดนี้ยังไม่ได้ทำการศึกษาครับ แต่จากการค้นพบสาหร่ายชนิดใหม่ในบริเวณหาดคอกวาง อาจใช้เป็นตัวชี้วัดถึงสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ในบริเวณดังกล่าว ดังนั้น การการวางแผนเกี่ยวกับการใช้พื้นที่อย่างยั่งยืน การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งบริเวณรอบๆ เกาะลันตา ร่วมไปถึงชายฝั่งบริเวณทะเลอันดามัน ควรได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น” ณรงค์ฤทธิ์ให้ความเห็น

นอกจากนี้ ดร.จันทนา ได้เก็บตัวอย่างของสาหร่ายชนิดนี้มาเลี้ยงในห้องปฎิบัติการศูนย์วิจัยทรัพยากรชีวภาพสาหร่าย ภาควิชาชีววิทยาประมง มก.เพื่อลองขยายพันธุ์และทดสอบหาสารสกัดที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยยังเป็นงานวิจัยในระดับเริ่มต้น

ปัจจุบันณรงค์ฤทธิ์ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับการเกิดชนิดและความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการเชิงภูมิศาสตร์ของสาหร่ายทะเลสีแดงสกุลบอสทรีเชีย (Bostrychia) ที่แพร่กระจายอยู่บริเวณซีกโลกใต้ โดยได้รับทุนการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัยวิกตอเรียแห่งเวลลิงตัน ซึ่งเป็นทุนการศึกษาที่ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดเป็นเวลา 3 ปี

http://www.phycologia.org/doi/abs/10.2216/13-215.1
สาหร่ายแดงกราซิลาเรียชนิดใหม่จากเกาะลันตา
ตัวอย่างที่ถูกนำไปวิเคราะห์
ผู้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยครั้งนี้ (ตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย) ณรงค์ฤทธิ์, ดร.โจ ซัคคาเรลล์ (Dr.Joe Zuccarello) ที่ปรึกษาปริญญาเอกของณรงค์ฤทธิ์ , ศ.ดร.กาญจนภาชน์ ลิ่วมโนมนต์ และธิดารัตน์ น้อยรักษา






กำลังโหลดความคิดเห็น