ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา พร้อมเปิด Bangsane Aquarium จุดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทางทะเลแห่งใหม่ของชลบุรีช่วงกลางปีนี้ หลังได้รับสนับสนุนงบประมาณหลายร้อยล้านบาทจากรัฐบาล และจังหวัด พัฒนาส่วนแสดง และตู้ปลาขนาดใหญ่ จุน้ำ 4.8 พันตัน ตั้งแต่ปี 2549 ชี้ไฮไลต์อยู่ที่อุโมงค์ใต้น้ำที่แตกต่างจาก Aquarium อื่น
ดร.เสาวภา สัวสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของสถาบันปี 2557 ว่า นอกจากจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม “ศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเล หรือ Bangsane Aquarium” ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2549 งบประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.ชลบุรี อย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน หลังปรับปรุงตู้ปลาใหญ่ที่มีความจุน้ำขนาด 4.8 พันตันเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ในปีนี้ยังจะเป็นปีที่สถาบันครบรอบการดำเนินงาน 30 ปี หลังเปลี่ยนชื่อจาก “พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทางทะเลบางแสน” เป็น “สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา” โดยจะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคมนี้ ทั้งการแสดงบนเวที กิจกรรมการเปิดร้านขายของ การแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านการวิจัย และผลงานพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำทางทะเลต่างๆ การประกวดภาพเก่าเล่าเรื่อง เป็นต้น
และตลอดทั้งปี 2557 ยังมีแผนที่จะปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ รวมถึงบอร์ดนิทรรศการ การจัดทำป้ายตู้ปลาในอาคารหลังเก่า โดยเพิ่มจุดขายใหม่ที่ลานเรียนรู้ด้านหน้า เพื่อดึงดูดความสนใจของเยาวชน นักเรียน นักศึกษาให้ได้รู้เกี่ยวกับมหัศจรรย์โลกใต้ทะเล และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมสัตว์ทะเลต่างๆ ทั้งในอาคารจัดแสดงเก่า และ Bangsane Aquarium ส่วนแสดงใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ กัน
“ไฮไลต์ของ Bangsane Aquarium อยู่ที่อุโมงค์ใต้น้ำที่แตกต่างจาก Aquarium อื่นที่จัดแสดงอยู่บนพื้น แต่ Bangsane Aquarium จะเป็นอุโมงค์ที่แยกออกจากตู้ปลาใหญ่ และมีเส้นทางอุโมงค์เดินวนจากจุดแสดงชั้น 2 ลงสู่ชั้นล่าง ในลักษณะอุโมงค์ที่มีทางเดินดิ่งลงจากที่สูงสู่ที่ต่ำ”
โดยในอนาคต สถาบันยังมีแผนที่จะพัฒนาทั้ง Aquarium ซึ่งเป็นส่วนแสดงใหม่ และ Museum ส่วนแสดงสัตว์น้ำทางทะเลในอาคารหลังเก่าให้เป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวที่มีทั้งความตื่นตา ตื่นใจ และความรู้ในเรื่องโลกใต้ทะเล ซึ่งในการปรับปรุงเฟสแรกอาจต้องใช้งบประมาณในปี 2558 นอกจากนั้น ยังจะเพิ่มจุดแสดงแมงกะพรุน ทั้งแมงกะพรุนหลากสี และแมงกะพรุนต่างประเทศ รวมถึงปะการัง ที่ได้พัฒนา และวิจัยจนมีความสวยงาม ซึ่งขณะนี้ในส่วนแมงกะพรุนอยู่ระหว่างการศึกษา และพัฒนาสายพันธุ์
ดร.เสาวภา กล่าวถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้าชมสถาบันตั้งแต่ปี 2527 ว่า มีประมาณ 4 แสนคน และมียอดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2556 มีนักท่องเที่ยวเข้าชม 5.7 แสนคน
“เราเคยคิดว่าเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องแวะเข้ามา หากเดินทางมายัง จ.ชลบุรี ซึ่งในปี 2553 สถาบันได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ของประเทศ แต่เมื่อมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าเพราะอะไรคนจึงไม่รู้จักเรามากเท่าที่ควร สรุปได้ว่า เป็นเพราะชื่อ เนื่องจากเราเปลี่ยนชื่อจากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทางทะเลบางแสน ที่มีคนรู้จักในวงกว้าง เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่แน่ใจว่ายังมีการจัดแสดงสัตว์น้ำทางทะเลอยู่หรือไม่ ในวันนี้เราจึงจะใช้ชื่อเดิมควบคู่กับชื่อใหม่ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กลับคืนมา”
แต่ทั้งนี้ การเปิดให้บริการ Aquarium และ Museum ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยค่าเข้าชมเพียงอย่างเดียว เพราะต้นทุนดำเนินงานที่สูง โดยเฉพาะการจัดแสดงสัตว์น้ำทางทะเล ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าชมสถาบันเป็นนักเรียนมากถึง 60% จึงทำให้ค่าเข้าชมที่เก็บต่อหัวในอัตราเด็ก 30 บาท ผู้ใหญ่ 60 บาท ไม่เพียงพอต่อการปรับปรุง และพัฒนาส่วนพิพิธภัณฑ์ ดังนั้นในอนาคตอาจมีการปรับขึ้นค่าเข้าชมเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
“ที่เราอยู่ได้ในขณะนี้ก็เพราะส่วนหนึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล และภาคเอกชนต่างๆ ในพื้นที่ในเรื่องงบการวิจัย และพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำทางทะล แต่เมื่อมีการเปิด Aquarium เราก็ต้องมาคิดกันใหม่ว่าจะปรับค่าเข้าชมเท่าไรจึงจะเหมาะสม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมทั้ง 2 ส่วนแสดงควบคู่กันไป”