xs
xsm
sm
md
lg

ร่ายมนต์งานวิจัยเสกอาหารโอทอปสู่สินค้าอินเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.บัณฑิต ธินณวงศ์ และตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์ช่วยผู้ประกอบการพัฒนาหรือแก้ปัญหา
เบียร์ไร้แอลกอฮอล์สำหรับสาวๆ รักปาร์ตี้แต่ยังห่วงสุขภาพตับ กล้วยฉาบรสเกลือทะเล น้ำสลัดแคลอรี่เบาๆ หรือจะเป็นขนมไทยหวานๆ ที่คงความอร่อยยาวนาน ไม่เหม็นหืนโดยไม่ต้องพึ่งสารกันบูด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ด้วยเวทมนต์แห่งงานวิจัย และเป็นหนทางที่จะยกระดับสินค้าโอทอปสู่ตลาดอินเตอร์

“ผลิตภัณฑ์ชุมชนของเรามีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพ การจัดการระดับต้นน้ำ และมักแข่งกันสร้างผลิตภัณฑ์คล้ายๆ กันแล้วมาจบที่คาถา ‘3 ถุง 100’ ซึ่งควรจะต้องเปลี่ยน วิทยาศาสตร์เป็นเหมือนเวทมนต์ที่ช่วยสร้างและยกระดับผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งขนมไทยล้วนมีเรื่องราวของภูมิปัญญาอันน่ารักที่เราต้องยกระดับขึ้นมา” ผศ.ดร.บัณฑิต ธินณวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ชี้ถึงปัญหาอุตสาหกรรมอาหารระดับชุมชนของไทย

ปัญหาหลักๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทางศูนย์วิจัยรับปรึกษาและแก้ปัญหา มักเป็นเรื่องการเน่าเสียของอาหารหรือคุณภาพอาหารไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเมื่อเก็บไว้นาน เช่น ไม่กรอบ ขึ้นรา สีเปลี่ยน หรือรสชาติ เปลี่ยน เป็นต้น โดยทีมวิจัยจะใช้หลักการด้านวิทยาศาสตร์อาหารช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้น รวมถึงช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้ประกอบการ

จันจิรา จินโนรส หนึ่งในทีมวิจัยของศูนย์ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ผู้ประกอบการที่เข้ามารับการคำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มีทั้งที่มีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นอยู่แล้ว แต่ต้องการความช่วยเหลือในการปรับปรุงคุณภาพ หรือบางรายก็นำแนวคิดมาเสนอว่า ต้องการผลิตภัณฑ์แบบใดเพื่อเจาะกลุ่มตลาดทางด้านไหนโดยตรง ซึ่งทางทีมวิจัยจะช่วย “สกัดโจทย์” จากความต้องการ ก่อนนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

“บางรายเข้ามาตอนแรกพร้อมแนวคิดที่ฟุ้งมาก ซึ่งเราก็ช่วยสกัดโจทย์ออกมา ขั้นตอนนี้ค่อนข้างใช้เวลานาน แต่เมื่อได้แล้วขั้นตอนงานวิจัยก็ง่าย บางรายใช้เวลาสกัดโจทย์ 1 ปี แต่ใช้เวลาวิจัยผลิตภัณฑ์แค่ 6 เดือน” จันจิราเล่าประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ทางด้าน ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าวถึงการทำงานของศูนย์ว่าประกอบด้วยการสร้าง “ทัพหน้า” คือการสร้างแบรนด์ ออกแบบผลิตภัณฑ์และทำการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการตั้งมีเป้าหมายว่าต้องการขายอะไรและขายให้ใคร เมื่อได้โจทย์แล้วทางทีมวิจัยจะช่วยสร้าง “ทัพหลัง” คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมยกตัวอย่างการพัฒนา เบี้ยร์ไร้แอลกอฮอล์ จากความต้องการของผู้ประกอบการต้องการขายเครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่มีรสชาติคล้ายเบียร์แต่ปราศจากแอลกอฮอล์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงที่ชอบการดื่มและเที่ยว แต่ไม่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นการขยายกำลังการผลิตสู่ระดับโรงงาน

สำหรับศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรฯ มีทีมวิจัยทั้งหมด 5 คน รับให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการอาหารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมช่วยเหลือเรื่องการหาทุนสนับสนุนงานวิจัยจากหลายๆ หน่วยงาน อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น โดยสามารถจัดหาทุนให้แก่ผู้ประกอบการได้ปีละประมาณ 85 ราย

พร้อมกันนี้ ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรฯ ยังเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตชุมชนด้านการควบคุมคุณภาพ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มี.ค.57 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการอาหารสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 1-2 ดาว ให้ขึ้นเป็นสินค้าระดับบนไปสู่ตลาดสากล ตามแผนงานที่มีเป้าหมายยกระดับสินค้าโอทอปให้ได้ 95,000 ล้านบาทภายในปี 2557 และ 100,000 ล้านบาทภายในปี 2558
กล้วยทอดหลากรสชาติ
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์ช่วยผู้ประกอบการพัฒนาหรือแก้ปัญหา
จันจิรา จินโนรส ระหว่างวัดค่าในการตรวจสอบคุณภาพอาหาร






กำลังโหลดความคิดเห็น