xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้ม 60 กลุ่มผู้ผลิตปลาส้มอีสานกลาง หวังดันกระบวนการผลิต-ตลาดสู่สากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ติวเข้ม 60 กลุ่มเกษตรกรแปรรูปอาหารผู้ผลิตปลาส้มกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง หวังพัฒนาสู่มาตรฐานการผลิตที่ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าสินค้าชุมชนสู่ตลาดการค้าระดับนานาชาติ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (7 มี.ค.) ที่ห้องประชุมใหญ่โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ขอนแก่น รศ.ดร.รังสรรค์ เนียมสนิท รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย น.ส.เสาวณี มุสิแดง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐานในพื้นที่ จ.ขอนแก่น, หนองบัวลำภู และชัยภูมิ

ทั้งนี้ มีกลุ่มผู้ประกอบการและผู้นำชุมชนจากทั้ง 3 จังหวัดและกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอทอปรวมกว่า 60 ราย ผู้ร่วมประชุมกว่า 100 คนเข้าร่วมประชุม

น.ส.เสาวณี มุสิแดง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า การยกระดับมาตรฐานและผลิตภัณฑ์ของชุมชนเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะกับการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และการขยายโอกาสให้ชุมชนครอบคลุมทุกพื้นที่

ขณะเดียวกัน การผลักดันในด้านของคุณภาพและมาตรฐานสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทยให้สามารถที่จะเข้าถึงโอกาสทางการตลาดจนนำไปสู่การยกระดับสู่ตลาดการค้าที่ครอบคลุมทั้งประเทศและตลาดการค้าในต่างประเทศก็เป็นสิ่งที่สำคัญของแนวทางการดำเนินงานเช่นกัน

ดังนั้น การนำเอาผลิตภัณฑ์ชุมชนจากทั้ง 3 จังหวัดของกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง ที่ถือเป็นสินค้าสำหรับการบริโภคของท้องถิ่นอย่างปลาส้มมาเป็นโจทย์ที่สำคัญของการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้รับรองมาตรฐานที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการและผ่านการประเมินจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของผลิตภัณฑ์อาหาร จนนำไปสู่การขยายฐานตลาดการค้าได้อย่างครอบคลุมต่อไปในอนาคต

“ปลาส้ม เป็นสินค้าโอทอปของไทย ซึ่งภาคอีสานมีการผลิตอยู่หลายพื้นที่ ดังนั้นการคัดเลือกพื้นที่นำร่องใน 3 จังหวัดรวมผู้ประกอบการกว่า 60 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่ติดกับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีวัตถุดิบภายในท้องถิ่นชุมชน โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์ เป็นพื้นที่เป้าหมาย”

กรมฯ จะเข้าไปส่งเสริมและต่อยอดในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันที่ผ่านมาปลาส้มซึ่งเป็นอาหารหมักได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน แต่กระบวนการผลิตปลาส้มส่วนใหญ่ยังคงใช้กรรมวิธีเดิมๆ ที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ปัญหาที่พบก็คือผู้ประกอบการมักจะประสบปัญหาในเรื่องของการควบคุมการผลิต รสชาติไม่คงที่

รวมทั้งความปลอดภัยของปลาส้มทั้งในด้านของการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และสารเคมี ซึ่งหากได้รับในปริมาณที่มากอาจจะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการกล่าวเพิ่มเติมว่า การประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อช่วยในการประสานงาน การจัดเก็บข้อมูล รวมไปถึงการตรวจสอบทางปฏิบัติการของผลผลิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ถือว่าใกล้ตัว และผู้ประกอบการสามารถที่จะมาขอรับบริการได้โดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ

ดังนั้น เมื่อการอบรมดักล่าวแล้วเสร็จก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาส้มของภาคอีสานให้มีคุณภาพและได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลาส้มที่ผ่านการพัฒนากระบวนการผลิตภัณฑ์ปลาส้มที่ดี ถูกสุขลักษณะการผลิต และเป็นไปตามหลักการผลิตที่ดีของโรงงานตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้บริโภคว่าปลาส้มที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการและผ่านการรับรองอย่างถูกสุขลักษณะนี้แล้วนั้นจะไม่ก่อปัญหาในเรื่องของการเกิดโรคที่มากับอาหารอีกด้วย

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของปลาส้มของภาคอีสานที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ในราคาย่อมเยาอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น