xs
xsm
sm
md
lg

CPF สร้างเครือข่ายเกษตรกรคอนแทรกฟาร์ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ซีพีเอฟ เดินหน้าสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนแก่เกษตรกรระบบคอนแทรกฟาร์ม ผลักดันการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี และมาตรฐานการผลิตเดียวกันกับบริษัทฯ สู่เกษตรกร ผู้เป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่การผลิตอาหารปลอดภัย

นายณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย (food safety) ตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร (Supply Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจในคุณภาพของอาหารที่ต้องทั้งอร่อย สะอาด และปลอดภัยต่อการบริโภค บริษัทจึงมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการผลิตอาหารของบริษัท โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยี และมาตรฐานการผลิตเดียวกันกับบริษัทฯ ไปสู่เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์กับซีพีเอฟ หรือคอนแทรกฟาร์ม ที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลิตสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิตอาหารปลอดภัย

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟทำหน้าที่สร้างเครือข่ายส่งเสริมเกษตรกร ช่วยสร้างอาชีพที่ยั่งยืน และการมีรายได้ที่มั่นคง เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ขณะที่ระบบคอนแทรกฟาร์มยังช่วยลดปัญหาความเสี่ยงของราคาผลิตผลการเกษตรที่มีความผันผวนสูง โดยมีบริษัทเป็นผู้รับความเสี่ยงแทนเกษตรกร ทั้งนี้ ในกระบวนการผลิตของเกษตรกรจะอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่ผลิตได้ต้องสามารถควบคุมมาตราฐานจนถึงมือผู้บริโภค

“โมเดลคอนแทรกฟาร์มในแบบฉบับของซีพีเอฟคือ การมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตอาหารปลอดภัยที่เป็นพื้นฐานสำคัญของบริษัทสู่เกษตรกร เพื่อร่วมกันผลิต และพัฒนาสินค้าตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะด้านคุณภาพ และความปลอดภัย ที่จะต้องใส่ใจ และให้ความสำคัญในการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าตลอดสายการผลิตสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ นับเป็นหัวใจหลักสู่ความสำเร็จ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบัน และอนาคต” นายณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนการผลิตและจัดพื้นที่การผลิต (Zoning) อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยมีการจัดประชุมประจำเดือนเพื่อติดตามประสิทธิภาพการผลิต แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ตลอดจนให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ เทคโนโลยี วิชาการใหม่ๆ โดยในบางพื้นที่มีการจัดตั้งเป็นชมรมเกษตรกรคอนแทรกฟาร์มซีพีเอฟ ตลอดจนคัดเลือกฟาร์มของเกษตรกรที่มีการจัดการมาตรฐาน และประสิทธิภาพการผลิตดีเด่นให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์” เพื่อถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์แก่เพื่อนเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงานความสำเร็จของเพื่อนเกษตรกรในพื่นที่อื่น เพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับฟาร์มของตนเอง

“สิ่งที่สำคัญ เกษตรกรไทยต้องมีการปรับตัวเองให้มีความสนใจหาความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แข่งขัน สร้างความยั่งยืน และส่งผลให้ภาคการเกษตรของไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นมากในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน หากเกษตรกรไม่แข่งขัน และปรับตัวจะอยู่รอดได้ลำบาก” นายณรงค์ กล่าว

นายณรงค์ บอกอีกว่า ที่ผ่านมายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในระบบคอนแทรกฟาร์ม ซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถตรวจสอบตัวเลขจำนวนเกษตรกรทั้งประเทศที่อยู่ในระบบนี้ได้อย่างชัดเจน มีเพียงการคาดการณ์เกษตรกรคอนแทรกฟาร์ม ทั้งการเพาะปลูกพืช และปศุสัตว์ที่ประมาณ 1.5-2 แสนราย แบ่งเป็นคอนแทรกฟาร์มภาคปศุสัตว์ประมาณ 50,000 รายเท่านั้น

สำหรับซีพีเอฟ มีเกษตรกรร่วมโครงการคอนแทรกฟาร์ม จำนวน 5,147 ราย คิดเป็น 10% ของทั้งประเทศ ทั้งนี้ พบว่าในจำนวนเกษตรกรกว่า 5 พันรายของซีพีเอฟ ครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมาเกินกว่า 10 ปี รวมถึงเกษตรกรรุ่นแรกๆ เมื่อครั้งริเริ่มโครงการฯ ในปี 2518 ก็ยังคงร่วมโครงการกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำการส่งเสริมให้เกิดอาชีพอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท

“ปัจจุบัน เกษตรกรที่ร่วมโครงการกับซีพีเอฟมากกว่า 99% ประสบความสำเร็จ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การที่สังคมมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่งคลาดเคลื่อนไปในเชิงลบ น่าจะเกิดจากที่ผ่านมา ในการสำรวจ หรือทำการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับระบบนี้ในพื้นที่ที่มีการทำวิจัยนั้นมีเกษตรกรของซีพีเอฟในจำนวนน้อย จึงไม่มีโอกาสได้ถ่ายทอดความสำเร็จผ่านงานวิจัยต่างๆ” นายณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการคอนแทรกฟาร์มของซีพีเอฟ มีเกษตรกร 67.40% ที่ปราศจากหนี้สิน ส่วนเกษตรกร 30.66% ยังอยู่ในระยะเวลาการคืนเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงิน (ประมาณ 7-8 ปี) และมีเพียง 1.83% ที่มีหนี้สินเกินระยะเวลาการคืนเงินกู้กับสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องสุดวิสัย เช่น มีคนในครอบครัวเจ็บป่วยต้องใช้เงินเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกร 0.12% ที่มีปัญหากับบริษัทฯ จำเป็นต้องยุติการทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งกรณีนี้เกิดจากเกษตรกรไม่ได้ดูแลฟาร์มเอง เกิดการเสียหายสูง หรือลักขโมย เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น