xs
xsm
sm
md
lg

ไขยุทธศาสตร์จัดการพลังงานที่ยั่งยืน ซีพีเอฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตั้งแต่ปี 2547 กว่า 200 โครงการประหยัดพลังงานของ ซีพีเอฟ ได้ใช้เงินลงทุนกว่า 350 ล้านบาท แต่กลับช่วยประหยัดการใช้พลังงานมากกว่า 1,000 ล้านบาท
นับเป็นผลสำเร็จจากโครงการประหยัดพลังงานต่างๆ ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วม และสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์พลังงานของพนักงานซีพีเอฟในทุกระดับ ตลอดจนการส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมที่ไปสนับสนุนปรับปรุงการผลิตและการปฎิบัติงานเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และยังนำระบบบริหารจัดการพลังงานระดับสากลมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการใช้พลังงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดที่นำไปสู่ความอย่างยั่งยืน
สุชาติ วิริยะอาภา
สุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า “กุญแจนำไปสู่ผลสำเร็จอยู่ที่การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการพลังงานจากภายในองค์กรไปสู่สังคมและชุมชน โดยผลักดันบุคลากรให้เป็นผู้นำด้านการจัดการพลังงาน”
ปัจจุบัน ซีพีเอฟ แบ่งประเด็นการจัดการด้านพลังงานออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
2.การปรับปรุงกระบวนการผลิตและวิธีปฏิบัติงานที่มุ่งลดการใช้พลังงาน เช่น การออกแบบกระบวนการผลิตที่ลดการใช้พลังงาน
3.การจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตเพื่อนำกลับมาเป็นพลังงานทดแทน อาทิเช่น นำอุปกรณ์ Economizer ที่ดึงเอาความร้อนสูญเปล่านำกลับมาใช้ในระบบหม้อไอน้ำ ไบโอแก๊สจากฟาร์มสุกร ไบโอแก๊สจากระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
เขาบอกว่า "หนึ่งในโครงการการจัดการพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ของซีพีเอฟทั้ง 16 แห่ง จะใช้เชื้อเพลิง ชีวมวล ทดแทนการใช้น้ำมันเตา ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิต โดยในแต่ละปีใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวรวม 100,000 ตัน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ถึง 138,000 ตันคาร์บอนคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือคิดเป็นการลดปริมาณการใช้น้ำมันเตาได้มากกว่า 46,000,000 ลิตรต่อปี"
ส่วนหนึ่งในโครงการลดใช้พลังงาน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่โรงงานซีพีเอฟ แปดริ้ว
ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ จัดทำโครงสร้างการใช้พลังงาน แบ่ง 48% เป็นการใช้พลังงานไฟฟ้า 30% เป็นการใช้พลังงานธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (fossil fuel) อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน ส่วนที่เหลืออีก 22% เป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล ประเภท กะลาปาล์ม แกลบ ซังข้าวโพด ถ่านไม้ เศษไม้สับ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้มีการเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงหมุนเวียนที่หาได้จากชุมชนใกล้เคียงให้มากขึ้นเพราะไม่เพียงช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง แต่ยังช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเพิ่มการจ้างงานและรายได้ของชุมชนอีกด้วย
จะสังเกตได้ว่า ซีพีเอฟมีสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2551 ซีพีเอฟ มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 14% และเพิ่มขึ้นเป็น 22% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2555
ข้อสำคัญ ซีพีเอฟ ได้พัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถถึงขั้นเป็นผู้ตรวจประเมินระบบมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001 ตามมาตรฐานการฝึกอบรมของสถาบัน IRCA ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสถาบันระดับสากลที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก เพื่อสร้างผู้นำด้านการจัดการพลังงานยั่งยืนขององค์กร ล่าสุดมีบุคลากรของเราจำนวน 7 คน ที่ผ่านการรับรองเป็นหัวหน้าผู้ตรวจประเมินในครั้งนี้ ซึ่งจะสามารถเป็นวิทยากรในหลักสูตรมาตรฐานด้านการจัดการพลังงานและออกใบรับรองสำหรับผู้ผ่านการอบรมได้ ทั้งหลักสูตร Energy Management System Criteria หรือ ข้อกำหนดระบบการจัดการด้านพลังงาน และหลักสูตร Internal Audit for Energy Management System หรือ การตรวจติดตามภายในระบบการจัดการด้านพลังงาน
ในปีที่ผ่านมา สุชาติ วิริยะอาภา  รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำคณะผู้บริหารและพนักงานซีพีเอฟ เข้ารับ รางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และ รางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพดีเด่น ประจำปี 2556 จำนวนถึง 54 รางวัล ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา เป็นบทพิสูจน์องค์กรที่ให้ความใส่ใจต่อความปลอดภัยระดับสูงสุด
ผู้นำกิจการผลิตอาหาร ภายใต้มาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม
ซีพีเอฟ ผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ของบริษัทนำระบบมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Management System (ISO14001) มาใช้เพื่อลดมลพิษที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริง
ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO14001 แล้ว 70 หน่วยงาน แบ่งเป็น โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก 11 แห่ง โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ 5 แห่ง ฟาร์มสัตว์น้ำ 10 แห่ง ฟาร์มเลี้ยงสุกร 32 แห่ง โรงงานแปรรูปสัตว์บก 6 แห่ง โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ 3 แห่ง และโรงงานอาหารสำเร็จรูป 3 แห่ง และตั้งเป้าหมายขยายผล 20 หน่วยงานภายในปี 2556 พร้อมวางแผนให้ทั้ง 340 หน่วยงานของซีพีเอฟนำระบบมาตรฐาน CPF SHE Management System ไปใช้ครบทุกหน่วยงาน
ซีพีเอฟ มุ่งมั่นให้หน่วยงานของบริษัทนำระบบมาตรฐานบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม หรือ CPF SHE Management System ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรตามนโยบายบริษัทอย่างมีคุณภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

โดยที่ระบบมาตรฐานดังกล่าวสอดคล้องกับระบบมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004) และด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัย (OHSAS18001: 2007) ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งซีพีเอฟนำเอามาตรฐานทั้ง 2 นี้มาประยุกต์ให้เข้ากับมาตรฐานที่บริษัทจัดทำขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมกับองค์กรได้ง่าย จนกระทั่งปัจจุบัน มีหน่วยงานที่ผ่านการรับรองระบบมาตรฐานทั้งสิ้นกว่า 170 หน่วยงาน
สำหรับ ISO14001 เป็นมาตรฐานสากลที่มุ่งเน้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การปล่อยมลพิษลงในอากาศ พื้นดิน หรือน้ำ พร้อมบันทึกการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ รวมถึงทำการปรับปรุง พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และดำเนินโครงการเพื่อปรับปรุงรักษาสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น