xs
xsm
sm
md
lg

CPF ออเดอร์ไก่สดจากญี่ปุ่นทะลัก ยันปีนี้ส่งออกได้ 2 หมื่นตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซีพีเอฟเผยยอดออเดอร์ไก่สดจากญี่ปุ่นทะลัก รับไม่ไหว เหตุบริษัทฯ ปรับนโยบายเน้นส่งออกไก่ปรุงสุกเพื่อเพิ่มมูลค่ามากกว่า ย้ำปีนี้บริษัทจะส่งออกไก่สดไปญี่ปุ่นได้เพียง 1.5-2 หมื่นตัน และอนาคตเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3-4 หมื่นตัน หรือคิดเป็น 50% ของปริมาณการส่งออกในอดีตก่อนเกิดไข้หวัดนก

นายไพศิลป์ วรวิสุทธิกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากญี่ปุ่นอนุญาตให้นำเข้าไก่สดจากไทยได้ในรอบ 10 ปีหลังไทยเกิดวิกฤตไข้หวัดนกนั้น พบว่าลูกค้าญี่ปุ่นได้ติดต่อขอซื้อไก่สดจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เป็นจำนวนมาก โดยลูกค้าญี่ปุ่นได้โยกคำสั่งซื้อสินค้าไก่สดจากบราซิลมาให้ แต่บริษัทฯ ไม่สามารถรับออเดอร์ได้หมด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการลงทุนเครื่องจักรเพื่อพัฒนาสินค้าจากไก่สดเป็นไก่ปรุงสุกส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นแทน ดังนั้น คาดว่าปีนี้ ซีพีเอฟจะส่งออกไก่สดไปตลาดญี่ปุ่นได้เพียง 1.5-2 หมื่นตันเท่านั้น ขณะที่เป้าหมายการส่งออกไก่ปรุงสุกของซีพีเอฟไปตลาดญี่ปุ่นปีนี้อยู่ที่ 3 หมื่นตัน โตขึ้น 10-15% จากปีก่อน

“ไทยคงต้องใช้เวลาครึ่งปีในการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงไก่เพื่อตอบสนองความต้องการไก่สดของญี่ปุ่น โดยปีที่แล้วไทยส่งออกไก่สดไปต่างประเทศ 1.2 แสนตัน เป็นส่วนแบ่งตลาดของซีพีเอฟอยู่ 3 หมื่นตัน และไก่ปรุงสุกไทยส่งออก 4.5 แสนตัน เป็นของบริษัทฯ 8 หมื่นตัน”

นายไพศิลป์กล่าวต่อไปว่า ซีพีเอฟเคยส่งออกไก่สดไปตลาดญี่ปุ่นก่อนเกิดไข้หวัดนกคิดเป็นปริมาณ 6-8 หมื่นตัน แต่หลังจากวิกฤตไข้หวัดนก บริษัทฯ หันมาผลิตสินค้าปรุงสุก และมีนโยบายที่มุ่งเน้นการทำตลาดสินค้าแบรนด์ CP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น โดยมีการลงทุนเครื่องจักรต่างๆ รวมทั้งสร้างความหลากหลายของสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือกล่าวได้ว่าบริษัทฯ หันมาเน้นส่งออกไก่ปรุงสุกเป็นหลัก 70% ที่เหลือเป็นการทำตลาดไก่เท่านั้น และในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนไก่ปรุงสุกมากขึ้นเป็น 80% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ปริมาณการส่งออกไก่สดไปตลาดญี่ปุ่นในอนาคตคาดว่าจะมีสัดส่วนเพียง 50% ของปริมาณการส่งออกไปญี่ปุ่นในอดีต หรือเพียงปีละ 3-4 หมื่นตันเท่านั้น

การส่งออกไก่สดไปตลาดญี่ปุ่นนั้น นอกเหนือจากการส่งออกไก่สดแช่แข็งแล้ว บริษัทฯ ได้เตรียมสินค้าใหม่วางตลาดด้วย เช่น ไก่ดิบนวดแป้งโดยไม่ผ่านความร้อน (Raw Karaage) สินค้าไก่ทอดกึ่งสุกกึ่งดิบ (Pre-fried Karaage) และไก่สดเสียบไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่ช่วยเพิ่มมูลค่าด้วย

“สาเหตุที่บริษัทฯ ไม่มุ่งเน้นการทำตลาดไก่สดส่งออกไปญี่ปุ่นมากขึ้นเหมือนในอดีต เนื่องจากญี่ปุ่นและคนเอเชียนิยมกินไก่เนื้อน่อง ส่วนไก่เนื้ออกจะส่งออกไปตลาดยุโรป การเร่งทำตลาดไก่สดไปญี่ปุ่นมากจะทำให้มีปริมาณเนื้ออกเหลือในตลาด กดดันราคาให้เกิดปัญหาด้านราคาตกต่ำได้ จึงจำเป็นต้องสร้างสมดุลทั้ง 2 ตลาดเอาไว้”

ทั้งนี้ ก่อนเกิดวิกฤตไข้หวัดนกในปี 2547 ไทยเคยส่งออกไก่สดไปตลาดญี่ปุ่นกว่า 200,000 ตัน/ปี แต่หลังจากเกิดวิกฤตไข้หวัดนกแล้ว ญี่ปุ่นหันไปนำเข้าจากบราซิลทั้งหมดแทน โดยปีที่แล้วมีการนำเข้าถึง 350,000 ตัน ดังนั้น จากกรณีที่ญี่ปุ่นอนุญาตนำเข้าไก่สดจากไทยอีกครั้ง คาดในไตรมาสแรกปีนี้ไทยจะส่งออกไก่สดได้ 5 พันตัน และทั้งปีนี้จะส่งออกได้ 80,000-100,000 ตัน เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะสามารถส่งออกไปญี่ปุ่นได้ปีละ 200,000 ตันเท่ากับปริมาณการส่งออกในอดีต

สาเหตุที่ลูกค้าญี่ปุ่นต้องการสินค้าไก่สดจากไทย เนื่องจากบราซิลต้องใช้เวลานาน 2 เดือนในการขนส่งสินค้าทางเรือกว่าไปถึงญี่ปุ่น แต่ไทยใช้เวลาเพียง 7-10 วันเท่านั้น รวมทั้งไทยยังมีฝีมือในการตัดแต่งเนื้อมากกว่าบราซิล และคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น