xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง!! น้ำหมัก “ผู้ใหญ่สุพรรณ-โสมตังเซียง” เชื้อโรคเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิทย์โคราชตรวจพบน้ำหมัก “ผู้ใหญ่สุพรรณ-โสมตังเซียม” พบเชื้อโคลิฟอร์ม อี.โคไล เพียบ แถมเจอสารอันตรายทั้งไดคลอโรมีเทน และไซ-โปรเฮปตาดีน เกินมาตรฐานกำหนดอื้อ ชี้กินแล้วเลือดออกในทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน สูดดมมากถึงขั้นตาย เร่งประสาน สสจ.จัดการ
ภาพจาก http://www.tumdee.org/
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา ได้รับตัวอย่างส่งตรวจจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา จำนวน 3 ตัวอย่าง จำแนกเป็นของเหลวใสในขวดแก้วสีชา จำนวน 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างเครื่องดื่มน้ำหมักในภาชนะบรรจุปิดสนิทจำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำหมักพืชแท้เต็มพลัง “ตราผู้ใหญ่สุพรรณ” และเครื่องดื่มน้ำสมุนไพรหมักเต็มพลัง ตรา “โสมตังเซียม” ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อโคลิฟอร์ม และ อี.โคไล ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในปริมาณที่เกินมาตรฐานกำหนด รวมทั้งมีส่วนผสมของยาและสารเคมีอันตรายในเครื่องดื่มน้ำหมักทั้ง 2 ตัวอย่าง ได้แก่ สารไดคลอโรมีเทน และ สารไซ-โปรเฮปตาดีน

นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า สารไดคลอโรมีเทนพบในเครื่องดื่มน้ำหมักตราผู้ใหญ่สุพรรณ 4,695 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนน้ำสมุนไพรหมักตราโสมตังเซียม พบไดคอลโรมีเทน 5,174 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนในของเหลวใสในขวดแก้วสีชา ตรวจพบสารไดคลอโรมีเทนในปริมาณสูงถึง 692,088 มิลลิกรัม/ลิตร เกินกว่าค่ามาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยามีปริมาณไดคลอโรมีเทนเจือปนได้ไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/ลิตร และสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา กำหนดให้มีปริมาณไดคลอโรมีเทนปนเปื้อนในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัม/ลิตร เบื้องต้นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 ได้รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่ สสจ.นครราชสีมา ดำเนินการแล้ว แต่เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคไม่ควรซื้อน้ำหมักดังกล่าวมาบริโภค แม้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ก็ตาม

นางธิดารัตน์ บุญรอด ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ไดคลอโรมีเทน จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสารที่มีสภาพเป็นของเหลวใสไม่มีสี ระเหยได้ง่าย ไม่ติดไฟและไม่ระเบิด ใช้เป็นตัวละลายไขมันและเป็นตัวทำละลายแว็กซ์และเรซิน จึงมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสี พลาสติก และฟิล์มถ่ายภาพ หากกลืนกินจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เกิดแผล และมีเลือดออกในทางเดินอาหาร หากหายใจเอาสารดังกล่าวเข้าไปจะก่อให้เกิดการระคายเคือง ไอ หายใจลำบาก เจ็บแน่นทรวงอก กล้ามเนื้อหัวใจตาย และหัวใจหยุดเต้นได้

“นอกจากนี้ มีรายงานว่า สารไดคลอโรมีเทน เป็นสารที่ก่อให้เกิดเนื้องอกในระบบทางเดินหายใจ ตับ และเต้านมในสัตว์ทดลอง รวมถึงอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ด้วย สำหรับการปฐมพยาบาล ถ้ากลืนกินสารเข้าไปอย่ากระตุ้นให้อาเจียน ควรนำส่งแพทย์ทันที ถ้าหายใจเข้าไปให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ หากผู้ป่วยหยุดหายใจให้ช่วยผายปอด และนำส่งแพทย์ ถ้าสัมผัสถูกผิวหนังให้ล้างออกด้วยสบู่ ถ้าถูกลูกตาให้ล้างทันทีด้วยน้ำอย่างน้อย 15 นาที” นางธิดารัตน์ กล่าว

นางธิดารัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับไซโปรเฮปตาดีน เป็นยาในกลุ่มแอนติฮีสตามีน จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตราย ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ใช้รักษาอาการแพ้ เช่น ผื่นคัน น้ำมูกไหล ลมพิษ ทั้งยังมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะจากไมเกรน และยานี้มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึม ปากแห้ง หรือมองภาพไม่ชัดเจน ช่วยกระตุ้นให้ทานอาหารได้ การรับประทานยาไซโปรเฮปตาดีนจึงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร


กำลังโหลดความคิดเห็น