กลุ่มสตรีชุมชนท่าจีน เมืองตรัง แปรรูปแกงไตปลา คิดค้นสูตรแกงไตปลาแห้งจนได้ขึ้นทะเบียนเป็น OTOP บรรจุกล่องพลาสติกพกติดตัวได้สะดวก รับประทานง่ายเพียงแค่เปิดฝานำไตปลาแห้งคลุกกับข้าวสวยร้อนๆ มีจำหน่ายทั้งไตปลาน้ำ ไตปลาแห้ง และไตปลาเจ ส่งออกขายต่างประเทศเดือนละ 1,500 ขวด
“แกงพุงปลา” หรือแกงไตปลาแห้งเมืองตรัง ถือเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ในรูปแบบของภูมิปัญญาท้องถิ่น โดย “ชุมชนท่าจีน” เทศบาลนครตรัง ซึ่งดั้งเดิมจะผลิตกันในลักษณะของแกงไตปลาน้ำ เพื่อใช้รับประทานร่วมกับอาหารประจำวัน หรือรับประทานกับขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ เพื่อเสริมรสชาติให้เกิดความอร่อยยิ่งขึ้น เนื่องจากลักษณะของแกงไตปลากระดี่ หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า แกงไตปลาขี้เด หรือขี้ดี จะมีกลิ่นหอมพิเศษเฉพาะตัว และมีรสชาติกลมกล่อมเป็นอย่างมาก
สืบเนื่องจากชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำตรัง อันเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนทั่วทั้งจังหวัดมายาวนานแล้ว ทำให้มีแหล่งปลาน้ำจืด อย่างปลากระดี่ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว ชาว “ชุมชนท่าจีน” จึงได้คิดค้นสูตรแกงไตปลาแห้งขึ้น เพียงแต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน จวบจนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2547 “กลุ่มสตรีชุมชนท่าจีน” จึงได้รวมตัวกันขึ้น ในนามกลุ่มส่งเสริมการมีรายได้ ก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ในปีเดียวกันนี่เอง
ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้เริ่มจากการประยุกต์จากแกงไตปลาน้ำแบบตั้งเดิม มาดัดแปลง และปรับปรุงสภาพให้เป็นแกงไตปลาแบบแห้ง เพื่อนำไปบรรจุกล่องพลาสติก ให้สามารถพกพาติดตัวได้ง่าย ต่อมา จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถยืดระยะเวลาในการเก็บรักษาได้นานขึ้น โดยเปลี่ยนแปลงมาบรรจุผลิตภัณฑ์ในขวดแก้ว และใช้ความร้อน 121 องศาเซลเซียส โดยกระบวนการสเตอริไรซ์ จนได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เลขที่ 323/2547 จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549
สำหรับแกงไตปลาแบบแห้งนี้ นับเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากปราศจากสารกันบูด รวมทั้งอุดมไปด้วยโปรตีนจากปลา และสมุนไพร เช่น กระเทียม ขมิ้น ตะไคร้ ข่า พริกขี้หนู พริกไทย มะกรูด โดยเริ่มจากการต้มไตปลานานประมาณ 30 นาที เพื่อกรองเอาน้ำใส แล้วนำมาผสมเข้ากับเนื้อปลากระดี่ สมุนไพร กะปิ และน้ำตาลทราย ก่อนบรรจุใส่ขวดแก้ว เพื่อนำไปอบด้วยความร้อนสูง ซึ่งจะช่วยให้สามารถเก็บผลิตภัณฑ์ได้ยาวนานถึง 1 ปี แล้วนำไปปิดฝา โดยผนึกด้วยซีลอย่างดี และติดฉลากก่อนบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งไปวางขาย
“นางฉวีวรรณ ช่วยแจ้ง” ประธานกลุ่มสตรีชุมชนท่าจีน บอกว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ก็คือ เป็นแห่งเดียวของประเทศไทยที่สามารถนำปลาน้ำจืดมาผลิตเป็นไตปลาแห้งได้สำเร็จ ขณะที่อื่นๆ จะเป็นแค่ปลาน้ำเค็ม ซึ่งรองรับผู้บริโภคได้เพียงแค่กลุ่มเดียว ส่วนเนื้อปลา ก็จะใช้การนึ่งแทนการย่าง ทำให้มีรสชาติดีกว่า และยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ขณะเดียวกัน น้ำที่ได้จากการนึ่งยังสามารถนำไปใช้รดต้นไม้ได้ด้วย จนส่งผลให้ทางกลุ่มได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าระดับ 5 ดาว ภายใต้ทะเบียนการค้า “ฉวีวรรณ” ในปี 2556
ทั้งนี้ ล่าสุดได้มีการผลิตแกงไตปลาช่อน มาเพิ่มอีก 1 ชนิด รวมทั้งแกงไตปลาเจ สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในการปฏิบัติตนตามศีล 5 เนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาใช้ทุกอย่างจะไม่มีเนื้อสัตว์ 100% อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ครอบคลุมตลาดมากยิ่งขึ้น ทางกลุ่มจึงได้ผลิตแกงไตปลาทู เสริมเข้าไปด้วย ขณะที่วิธีรับประทานก็ทำได้ง่ายมาก แค่เปิดขวดแล้วตักมาคลุกกับข้าวร้อนๆ ก็สัมผัสความอร่อยได้ทันที หรือนำแกงไตปลา 1 ขวด ไปเติมน้ำ 1-2 ถ้วยตวง แล้วตั้งไฟให้เดือด ก่อนที่จะเติมปลาหรือผักเพิ่มเติมได้ตามความต้องการ
ปัจจุบัน แกงไตปลาแห้งเมืองตรัง มีจำหน่ายใน 3 รูปแบบ คือ ไตปลาแห้ง ราคาขวดละ 65 บาท หรือเป็นขนาดชุดละ 2 ขวด ราคา 130 บาท และขนาดชุดละ 3 ขวด ราคา 190 บาท ส่วนไตปลาน้ำ มีราคาขวดละ 60 บาท และไตปลาเจ มีราคาขวดละ 35 บาท สำหรับตลาดที่วางขาย นอกจะเป็นในจังหวัด และต่างจังหวัดแล้ว ยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีคนไทยไปอาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมาก โดยมียอดขายเดือนละ 1,500 ขวด หรือปีละ 5 แสนบาท
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “กลุ่มสตรีชุมชนท่าจีน” หน้าสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 (ทุ่งแจ้ง) ถนนท่ากลาง โทร.0-7557-0500, 08-1396-4998
ภาพ/เรื่อง - เมธี เมืองแก้ว