ผู้บริโภคร้อยเอ็ดแฉ อีสานขอเงิน กสทช.จัดอบรมผู้ประกาศระดับภูมิภาค แต่ลับหลังแอบขายน้ำหมักกันกระจาย สร้างเครือข่ายเอาไปขายต่อแต่ละสถานีเพียบ วอนรัฐบาลใหม่ดัน พ.ร.บ.องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ชี้ช่วยตรวจสอบได้อีกทาง หลังภาครัฐจัดการไล่ปิดสถานีไม่ทัน เหตุมีการเปลี่ยนชื่อสินค้าตลอด
นายประวิทย์ หันวิสัย เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามคลื่นวิทยุชุมชน มีการเปิดสปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 30 รอบ ใน 1 วัน ทั้งยังใช้เทคนิคนำผู้มีชื่อเสียงอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ประกอบวิชาชีพมาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ มีการใช้ของรางวัลล่อใจ เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์แล้วส่งมาชิงโชคมอเตอร์ไซค์ และทองคำ รวมถึงมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้ที่เป็นหน้าม้าว่าผลิตภัณฑ์ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการเปิดเสียงของเก่า ทั้งที่คนที่สัมภาษณ์ว่าใช้ดี ตายเพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ไปแล้วก็มี ซึ่งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเท่าที่ทราบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยรายแรกเกิดจากการใช้ยาแผนโบราณ แต่พบว่ามีส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบัน และมีจุลินทรีย์ในอัตราที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีก 2 รายเสียชีวิตจากการดื่มน้ำหมัก เพราะมีโรคประจำตัวอยู่คือ มะเร็วกระดูกและพาร์กินสัน
“ที่น่าห่วงคือชาวบ้านที่กินยามีสารสเตียรอยด์ หรือน้ำหมักพวกนี้ ไม่ยอมบอกหมอที่ตนไปรักษาด้วยว่ามีการกินยาและน้ำหมัก ก็ทำให้รักษาโรคไม่หาย และสารที่กินเข้าไปก็ไปสะสมในร่างกาย จนเกิดอาการติด พอไม่ได้กินก็ช็อก จนเสียชีวิตในที่สุด” นายประวิทย์ กล่าว
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาคือหน่วยงานภาครัฐจับไม่ได้ไล่ไม่ทันสถานีวิทยุเหล่านี้เสียที เพราะมีการเปลี่ยนชื่อสินค้าไปเรื่อยๆ กล่าวคือ เมื่อสินค้าถูกนำไปตรวจสอบก็จะรีบเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ทันทีทั้งที่เป็นตัวเดิม ทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องนำผลิตภัณฑ์เดิมในชื่อใหม่ไปตรวจสอบอีกครั้ง หากตรวจพบสารสเตียรอยด์ก็จะส่งให้ กสทช.ดำเนินการสั่งปิดสถานี ซึ่งกว่าจะทราบผลก็ใช้เวลานาน 2-3 เดือน เจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว ทำให้ กสทช.ไม่สามารถเอาผิดได้
“อีกเรื่องที่น่าตกใจคือคณะกรรมการเกี่ยวกับสื่อทั้งหมดในภาคอีสาน ได้ทำโครงการขอเงิน กสทช.มาจัดโครงการอบรมผู้ประกาศ แต่ภายในงานกลับมีการขายน้ำหมักภายหลังการอบรมเสร็จสิ้น กลายเป็นการสร้างเครือข่ายให้แต่ละสถานีนำน้ำหมักไปขายต่อ ซึ่งเรื่องนี้ทางศูนย์ฯก็พยายามจะเร่งดำเนินหาข้อเท็จจริงอยู่ แต่หากมีการออก พ.ร.บ.องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ก็จะมีกฎหมายรองรับให้ศูนย์ฯสามารถเข้าไปตรวจสอบเรื่องพวกนี้ได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาการโฆษณาหลอกลวงได้ในระดับหนึ่ง ก็อยากวอนให้รัฐบาลช่วยผลักดันในเรื่องนี้” นายประวิทย์ กล่าว