xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคร้องอาหารห่วย พบ “ผม-ขน-แมลงสาบ” ปนเปื้อน โฆษณายา-น้ำหมักทำตายแล้ว 3 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผู้บริโภคร้อง เจอปัญหาอาหารห่วย ด้อยคุณภาพเพียบ รวมแล้วกว่า 152 กรณี พบอาหารปนเปื้อนมากสุด สุดขยะแขยงทั้งเส้นผม เล็บ แมลงสาบ บ้างใส่ฟอร์มาลิน บอแรกซ์ รวมถึงพบบรรจุภัณฑ์ชำรุด แสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง โฆษณาหลอกลวง อึ้ง! ที่ร้อยเอ็ดทำชาวบ้านตายแล้ว 3 ราย จากยาแผนโบราณและน้ำหมัก เตรียมหารือ อย.20 ธ.ค.เสนอ 4 แนวทางแก้ไขปัญหา



วันนี้ (19 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนด้านอาหาร กล่าวว่า จากกรณีร้องเรียนปัญหาด้านอาหารมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ระหว่าง ก.ย. 2555 - ธ.ค. 2556 มีรวมกันทั้งสิ้น 152 กรณี แบ่งปัญหาได้เป็น 10 ประเด็นคือ 1.ปัญหาอาหารปนเปื้อน (กายภาพ/เคมี) 31 กรณี ถือว่ามากที่สุด 2.บรรจุภัณฑ์ชำรุดบกพร่อง/คุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 29 กรณี 3.แสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง 28 กรณี 4.โฆษณาอาหาร/ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 22 กรณี 5.จำหน่ายสินค้าหมดอายุ 14 กรณี 6.อาหารเป็นพิษ/ได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร 13 กรณี 7.ราคาแพงเกินจริง/ไม่ติดป้ายราคา/ราคาไม่ตรงกับป้าย 8 กรณี 8.อาหารเสียก่อนวันหมดอายุ 3 กรณี 9.การผลิต/แหล่งผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ 2 กรณี และ 10.น้ำมันทอดซ้ำ 2 กรณี



นายพชร กล่าวอีกว่า ปัญหาอาหารปนเปื้อนคือ การพบสิ่งแปลกปลอม/สิ่งปนเปื้อนทางอาหาร เช่น เส้นผม ขน เล็บ แมลงสาบ หรือความผิดปกติขออาหาร เช่น มีตะกอน ขึ้นรา และเน่าเสีย รวมถึงการใช้สารเคมีที่ไม่ควรใช้ในอาหาร เช่น ฟอร์มาลิน บอแรกซ์ โดยมีตัวอย่างปัญหาที่พบบ่อยและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เชื้อราในขนมปัง ก้อนขาวในนมกล่อง และสิ่งแปลกปลอมในนมผงสำหรับเด็ก สำหรับกรณีบรรจุภัณฑ์ชำรุดบกพร่องและคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ได้แก่ กรณีบรรจุภัณฑ์บุบ ยุบ มีสนิม หรือฉีกขาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของขายลดราคาในห้าง ส่วนกรณีสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เช่น น้ำหนักไม่ครบตามแจ้งไว้บนฉลาก มีคุณภาพสินค้าไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในกลุ่มนมโรงเรียนที่มีปัญหาเรื่องตกมาตรฐานโปรตีน ส่วนการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น รายละเอียดต่างๆ บนฉลากไม่เป็นภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหารไม่แสดงผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่าย และไม่แสดงรายละเอียดอื่นๆ ที่กฎหมายระบุให้แสดง เป็นต้น



“การแก้ไขปัญหาด้านอาหาร มูลนิธิฯและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั้ง 10 จังหวัด จะเข้าพบเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาในวันที่ 20 ธ.ค. เวลา 13.00 น.เพื่อหารือ 1.การพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารที่เป็นรูปธรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม 2.ปรับปรุงนโยบายฉลากโภชนาการให้เป็นแบบสีสัญญาณไฟจราจรเขียว เหลือง แดง แทนที่การใช้ฉลากโภชนาการแบบสีเดียว (GDA) 3.ให้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด และ 4.ในการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร ฉบับใหม่ ให้เพิ่มบทลงโทษให้มีความรุนแรงเทียบเท่ากันกับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคของ สค. นายพชร กล่าวและว่า นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนพัฒนาคู่มือการใช้สิทธิด้วยตนเองเสร็จสิ้นแล้ว 2 กรณีคือ กรณีอาหารปนเปื้อน และกรณีพบอาหารหมดอายุ และจะดำเนินการอัปโหลดให้กับผู้บริโภคได้ใช้ประโยชน์ก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าชมและดาวน์โหลดได้ที่ https://www.facebook.com/cindependence และ http://www.indyconsumers.org/



น.ส.สิรินนา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานศูนย์ฯ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากการดำเนินงานร่วมกับศูนย์ฯ สงขลา สตูล และขอนแก่น สำรวจฉลากอาหารที่จำหน่ายหน้าและในโรงเรียนช่วง ก.ค.-ส.ค.2556 จำนวน 20 แห่ง พบว่าไม่สามารถตรวจสอบเลขสารบบอาหารได้ ไม่มีการแสดงวันผลิต วันหมดอายุ ไม่แสดงที่อยู่ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย และไม่มีฉลากหรือฉลากไม่เป็นภาษาไทย ซึ่งภาครัฐจะต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลเรื่องการตรวจตัวเลขสารบบอาหารให้เชื่อมโยงทั่วประเทศ ให้ประชาชนใช้ตรวจสอบได้จริง



นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่กลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวว่า ศูนย์ฯ จ.สมุทรสงคราม ร่วมกับศูนย์ฯเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ สำรวจพฤติกรรมการบริโภคขนมและน้ำหวานของเด็กนักเรียนในโรงเรียนทั้งก่อนและหลังติดฉลากแบบสัญญาณไฟจราจรเขียว เหลือง แดง พบว่า ขนมส่วนใหญ่ถูกจัดกลุ่มฉลากสีแดงและสีเหลืองมากกว่า แต่เมื่อทำการรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอ่านฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณจราจร พบว่า อัตราการบริโภคขนมขบเคี้ยวลดลงในทุกสี อย่างฉลากสีแดงจากเดิม 43 ซองต่อวัน ลดเหลือ 194 ซองต่อวัน สีเหลือง 162 ซองต่อวัน ลดเหลือ 73 ซองต่อวัน และสีเขียว 95 ซองต่อวัน ลดเหลือ 47 ซองต่อวัน



นายประวิทย์ หันวิสัย เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ที่เป็นปัญหาคือโฆษณาหลายตัวที่ถูกขึ้นบัญชีดำจาก อย.และ กสทช. เช่น น้ำหมัก น้ำดื่มเพื่อสุขภาพ มีการเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเลี่ยงกฎหมาย หรือโฆษณาเพียงชื่อการค้า นอกจากนี้ ยังใช้ผู้มีชื่อเสียงอ้างเป็นเป็นเชี่ยวชาญ หรือผู้ประกอบวิชาชีพมาอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์ การสัมภาษณ์ผู้ใช้เป็นหน้าม้า การจูงใจให้บอกผลิตภัณฑ์แบบปากต่อปาก กรณีที่รุนแรงคือพบการเสียชีวิตจากการใช้ยาแผนโบราณ 1 ราย ซึ่งจากการส่งผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี พบว่ามีส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบันและพบจุลินทรีย์ในอัตราที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และเสียชีวิตจากน้ำหมัก 2 ราย ซึ่งพบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว คือมะเร็งกระดูก และพาร์กินสัน



นายกำชัย น้อยบรรจง เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จ.สระบุรี กล่าวว่า วิทยุชุมชน จ.สระบุรี มีการโฆษณาสมุนไพรดีท็อกเลือดอย่างต่อเนื่อง โดยโฆษณาวนไปวนมาไม่ต่ำกว่าวันละ 30 รอบหรือมากกว่า จึงขอเสนอให้เร่งรัดออก พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่ ที่เพิ่มบทลงโทษให้มีความรุนแรงเทียบเท่ากับบทลงโทษเรื่องการโฆษณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ.รวมถึงให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและทันการณ์ นอกจากนี้ให้ กสทช.บังคับใช้การสั่งปิดสถานี รวมถึงอย. กสทช. และองค์กรผู้บริโภคต้องช่วยเฝ้าระวังและพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคให้รู้เท่าทันโฆษณาผิดกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น