ในช่วงนี้ท้องฟ้าเป็นใจในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ได้หลากหลายประเภท ซึ่งนอกจากความนิยมของการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงนี้แล้ว ผมอยากชวนให้ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ลองถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้ากันดูบ้าง ซึ่งในช่วงที่ดวงจันทร์สว่างเต็มดวงเรามักจะเห็นดวงจันทร์ที่บริเวณขอบฟ้ามีขนาดใหญ่โต โดยในการถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงนั้นก็สามารถถ่ายได้ไม่ยากเย็นนัก แต่ก่อนเราจะมาเรียนรู้วิธีการถ่ายภาพ Full Moon Silhouettes กันนั้นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนครับ
ทำความเข้าใจกันก่อน
ดวงจันทร์นั้น มีขนาดปรากฏเชิงมุมบนท้องฟ้าประมาณ 0.5 องศา โดยในการสังเกตดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้านั้นเรามักจะเห็นว่าดวงจันทร์มีขนาดค่อนข้างใหญ่โต แต่เมื่อดวงจันทร์เปลี่ยนตำแหน่งสูงขึ้นอยู่กลางท้องฟ้า เราก็มักจะเห็นว่าดวงจันทร์มีขนาดเล็กลง ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ว่าดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งไหนก็ตาม ดวงจันทร์ก็จะมีขนาดปรากฏเชิงมุมเพียง 0.5 องศาเท่านั้น
การที่เรามองเห็นดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้า แล้วรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่นั้น เกิดจากการที่มีวัตถุเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ ทำให้รู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่โต และเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่สูงขึ้นไปกลางท้องฟ้า ก็จะไม่มีวัตถุให้เปรียบเทียบขนาดจึงมองดูว่าดวงจันทร์มีขนาดเล็กลง ซึ่งอาจเรียกว่า มันคือภาพลวงตา นั่นเอง
เราสามารถพิสูจน์ได้ว่าดวงจันทร์ที่บริเวณขอบฟ้ากับดวงจันทร์บริเวณกลางท้องฟ้ามีขนาดปรากฏเชิงมุมเท่ากัน โดยการถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์เดียวกันที่ตำแหน่งดังกล่าว แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดังภาพ ก็จะเห็นว่าแท้จริงแล้วดวงจันทร์ไม่ว่าจะอยู่บริเวณไหนบนท้องฟ้าก็ล้วนแต่มีขนาดเชิงมุมเพียง 0.5 องศาเท่านั้น ดังภาพตัวอย่าง
จากความรู้สึกในการสังเกตเห็นดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้าที่มีขนาดใหญ่โตนนั้น เราก็นำมาใช้ประยุกต์ในการถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุเพื่อให้ ดวงจันทร์ดูมีขนาดใหญ่โตน่าตื่นตาตื่นใจกันดูบ้างครับ
เทคนิคและวิธีการ
1.เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ เช่น เลนส์ Telephoto แบบกระจก Mirror Lens หรือ Reflex Lens ของ Samyang 500mm. ซึ่งมีราคาไม่สูงมากนัก ซึ่งเราจะได้เปรียบทั้งรายละเอียดของภาพ และความสามารถในการควบคุมแสงของภาพ รวมทั้งกำลังการแยกภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย เพราะดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเชิงมุมบนท้องฟ้าเพียง 0.5 องศาเท่านั้น
ตัวอย่างเลนส์ Telephoto แบบกระจก Mirror Lens หรือ Reflex Lens ของ Samyang 500mm. ซึ่งมีราคาไม่สูงมากนักประมาณ 6,000 – 7,000 บาท เท่านั้น
2.คำนวณมุมรับภาพก่อนการวางแผนถ่ายภาพเสมอ เนื่องจากเราต้องการให้ได้ภาพที่เห็นดวงจันทร์เปรียบเทียบขนาดวัตถุให้ดูใหญ่อลังการ ซึ่งหากเราใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสน้อยๆ ก็จะได้ภาพที่มีดวงจันทร์เล็กๆ แต่หากถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสมากเกินไป มุมรับภาพก็อาจจะเห็นดวงจันทร์ล้นเฟรมภาพได้
โดยเราสามารถคำนวณมุมรับภาพผ่านทางเว็บไซต์ http://www.howardedin.com/articles/fov.html ได้โดยสามารถเลือกกล้องที่ใช้ในการถ่ายภาพ กับทางยาวโฟกัสที่เราจะใช้ ก็จะแสดงค่ามุมรับภาพออกมาเป็นมุมองศา ให้สะดวกต่อการวางแผนถ่ายภาพ
3.ระยะห่างของการถ่ายภาพวัตถุเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ ควรมีระยะไม่น้อยกว่า 4 กิโลเมตร เพราะหากเข้าใกล้มากกว่านี้จะทำให้วัตถุมีขนาดใหญ่เกินไป โดยการวัดขนาดเชิงมุมของวัตถุ ว่ามีขนาดใหญ่เกินกว่า 1 องศา หรือไม่ หากมีขนาดใหญ่มากเกินไปก็ควรเปลี่ยนสถานที่ถ่ายภาพให้ห่างออกไปอีก
4.วางแผนกำหนดวัน เวลา และสถานที่ด้วย App LightTrac ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มีให้ดาวน์โหลดได้สำหรับผู้ที่ใช้ I phone หรือ I pad โดย App LightTrac นั้น ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการหาสถานที่หรือตำแหน่งในการถ่ายภาพ (รายละเอียดการใช้แอปพลิเคชัน ตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000014165)
5.เลือกใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot Metering) เพราะระบบนี้จะเลือกคำนวณเฉพาะพื้นที่ส่วนที่เป็นเป้าหมายเท่านั้นและจะไม่อ่านค่าแสงจากบริเวณอื่นๆ ซึ่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 2-3% กลางช่องมองภาพในการวัดแสงทำให้ได้แสงที่พอดี
6.เลือกค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 100-200 โดยการถ่ายดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงนั้นก็คล้ายกับการถ่ายภาพหลอดไฟ ซึ่งได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงพอสมควร ทำให้ง่ายต่อการถ่ายภาพ ซึ่งการเลือกใช้ค่าความไวแสงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสว่างของดวงจันทร์ในขณะนั้นด้วย โดยบริเวณขอบฟ้าจะมีมวลอากาศอยู่หนาแน่นมักทำให้สีของดวงจันทร์มีสีออกเหลืองและความสว่างของดวงจันทร์ลดลงเล็กน้อย
7.เวลาในการเปิดหน้ากล้องหรือความเร็วชัตเตอร์ ต้องสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 1000 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/1000s ซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปก็ให้ปรับค่าความไวแสง (ISO) เพิ่มขึ้นจนได้แสงที่พอดี ซึ่งปกติแล้วแสงของดวงจันทร์จะสว่างมากอาจทำให้ภาพสว่างโอเวอร์จนไม่เห็นรายละเอียด เรามักต้องปรับกล้องให้ถ่ายภาพติดค่าอันเดอร์ประมาณ 2-3 สต็อป หรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความสว่างของดวงจันทร์ก็จะได้ภาพที่เห็นรายละเอียดของพื้นผิวและหลุมบนดวงจันทร์ได้ชัดเจนมากขึ้น
8.ใช้สายลั่นชัตเตอร์ในการถ่ายภาพและตั้งบนขาตั้งกล้องที่มั่นคงเพื่อลดการสั่นไหวของตัวกล้อง จากนั้นเลือกใช้โหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง โดยถ่ายภาพต่อเนื่องจำนวนหลายๆภาพ ซึ่งภาพแต่ละภาพจะมีความคมชัดในแต่ละบริเวณภาพที่แตกต่างกันไปเนื่องจากผลของมวลอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านหน้ากล้องเราและอยู่ในชั้นบรรยากาศครับ เมื่อเราได้ภาพจำนวนมากแล้ว จึงนำภาพมาเลือกภาพที่คมชัดที่สุดภายหลัง
9.การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับแก้ได้ภายหลัง
Full Moon Silhouettes from Thai Astrophotographer on Vimeo.
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน