ART EYE VIEW---ใครที่มีเหตุให้ต้องเดินทางไปเที่ยวหรือไปทำธุระไกลถึงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างนี้อย่าลืมแวะไป The Roger Smith Hotel เพราะโรงแรมแห่งนี้กำลังมีผลงานศิลปะของศิลปินหญิงไทยไกลบ้านนามว่า เก๋ - ศิริกุล ปัตตะโชติ จัดแสดงให้ชม และนับเป็นการแสดงเดี่ยวผลงานครั้งที่ 2 ของเธอบนพื้นที่เดียวกันนี้
The Flowering of Life_ Kay Sirikul Pattachote, a Painter. from Niramon Ross on Vimeo.
รักพัดไปนิวยอร์ก
อันที่จริงเก๋มีอาชีพหลักเป็นมัณฑนากร และเรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ในขณะเดียวกันก็รักการวาดภาพมาก ฝึกฝนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
“เริ่มเรียนพื้นฐานการวาดภาพตอนเรียนชั้นมัธยม ที่แผนกศิลป์ ของโรงเรียนสายน้ำผึ้ง แล้วฝึกฝนด้วยตัวเองมาโดยตลอด ส่วนตัวจะชอบการเขียนลายเส้น และวาดภาพสีน้ำเป็นพิเศษ
ช่วงที่อยู่ประเทศไทย เก๋ชอบวาดภาพเพื่อบันทึกความประทับใจ ที่ส่วนใหญ่จะมาจากการเดินทาง และความชอบในธรรมชาติ และดอกไม้”
กระทั่งเรียนจบและทำงานอยู่ระยะหนึ่ง ต่อจากนั้นความรักได้พัดพาให้เธอต้องจากเมืองไทยเพื่อมาใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กกับคนรักซึ่งมีอาชีพเป็น Art Program Director ผู้วางโปรแกรม โครงการงานศิลปะที่จัดแสดงภายนอกสถานที่ ให้กับ องค์กรเพื่อชุมชน ที่เรียกว่า Lower East Side ของนิวยอร์ก และผู้ร่วมก่อตั้ง The Lodge Gallery
และเก๋ต้องอยู่ยาวหลายปี ซึ่งปัญหาด้านสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุ
“เก๋ได้รู้จักกับแฟนชื่อ คีธ (Keith Schweitzer) ซึ่งเป็นชาวอเมริกันตอนที่เขามาเที่ยวเมืองไทย จากนั้นเก๋ก็ได้มาเยี่ยมคีธที่นิวยอร์ก สลับกับที่คีธก็ได้มาเยี่ยมเก๋ที่เมืองไทย กระทั่งครั้งที่เก๋มานิวยอร์ก เมื่อปี 2542 เก๋เกิดป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นโรคที่อธิบายยากค่ะ เก๋เองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่ามันคืออะไรแน่ เหมือนเป็นเนื้อเยื้อบางอย่างเกาะที่กระดูกสันหลัง แล้วแทงเข้าไปในไขสันหลัง ทำลายเส้นประสาท ทำให้เดินไม่ได้เป็นปี ต้องหัดเดินใหม่ จึงทำให้ต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่นี่ กลับไปเมืองไทยไม่ได้ เพราะอันตราย เลยอยู่ที่นี่จนกระทั่งหายดี”
และเก๋ได้ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กต่อ เนื่องจากมีหลายสิ่งหลายอย่างที่รู้สึกผูกพันและทำให้รู้สึกว่าคือบ้านอีกหลัง
“รู้สึกผูกพันเหมือนเป็นบ้าน และรู้สึกสงบ เพราะอยู่ที่นี่ไม่รู้จักใครมากได้อยู่กับตัวเองเยอะ อีกทั้งสภาพแวดล้อม ฤดูกาล และผู้คน สร้างแรงบันดาลใจให้กับการวาดภาพมากๆเลยค่ะ ประกอบกับช่วงที่เก๋ป่วย คีธก็ดูแลอย่างดี เลยไม่อยากแยกจากกันแล้ว จึงตัดสินใจแต่งงานแล้วใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่นี่”
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
ช่วงที่ป่วยและต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานาน ทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน เมื่อทำอะไรได้ไม่มากเพราะเดินไม่ได้ เก๋จึงเลือกที่ให้เวลาในแต่ละวันผ่านไปอย่างสงบ ด้วยการสวดมนต์ ,มองข้าวของเครื่องใช้ในห้องผู้ป่วย และสังเกตความเปลี่ยนแปลงของดอกไม้ที่คนนำมาเยี่ยม ก่อนจะวาดภาพลงในสมุดเล่มเล็กๆ
“ช่วงนั้นจึงทำให้มีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องความไม่เที่ยง การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา
ยิ่งมองดอกไม้ที่บานจนกระทั่งเหี่ยว ก็จะทำให้นึกถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ และช่วยให้ตัวเองมองชีวิตไปในทางที่ปล่อยวางมากขึ้น
จึงเป็นผลทำให้ชอบที่จะมองดอกไม้และวาดภาพดอกไม้ เพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์แทนหลักคิดในแง่ของพุทธศาสนาที่ตนเองได้อ่านและฟังมาจากคำเทศนาของครูบาอาจารย์ต่างๆ และในบางครั้งก็ใช้ดอกไม้เป็นสิ่งถ่ายทอดความรู้สึก และอารมณ์ในช่วงเวลานั้นๆ”
Kanika หญิงไทยในอุดมคติ
นอกจากวาดดอกไม้ บางครั้งเก๋ก็ชอบวาดคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง เพราะมีความรู้สึกว่า ผู้หญิงสามารถใช้เป็นสื่อแทนความคิด และอารมณ์ส่วนตัวของเธอซึ่งก็เป็นผู้หญิงได้ดี และเข้ากันได้ดีกับดอกไม้
“ผู้หญิงในภาพวาดของเก๋ บางครั้งก็ใช้ตัวเองเป็นต้นแบบ บางครั้งก็มาจากภาพถ่ายเก่าๆ หรือบุคคลที่เก๋ชื่นชม และประทับใจ เช่น ศิลปิน และนักเขียน”
ซึ่งประติมากรหญิง เจ้าของคอลัมน์ ‘เรื่องเล่าในเงาดิน’ องุ่น เกณิกา สุขเกษม เป็นหนึ่งในจำนวนศิลปินที่เธอมีความประทับใจและเลือกเป็นแบบสำหรับการวาดภาพเพื่อนำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งล่าสุดด้วย
“เก๋ได้รู้จักคุณองุ่นจากการที่ได้อ่านเรื่องราว และได้เห็นผลงานของเธอในอินเตอร์เน็ต และได้เข้าไปเห็น การทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวันของคุณองุ่นใน facebook ทำให้รู้สึกชื่นชมในการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สุภาพอ่อนโยน พูดจาไพเราะ และมีความรักและทุ่มเทชีวิตให้กับงานศิลปะ
คุณองุ่นมีความเป็นหญิงไทยในอุดมคติ ในแบบที่เก๋อยากให้คนต่างชาติมองเห็น ขณะเดียวกันเก๋ยังมีความรู้สึกว่ามุมมองและทัศนคติในการใช้ชีวิตและหลายๆอย่างของเก๋และคุณองุ่นคล้ายกัน หลังจากที่ได้พูดคุยกัน แม้จะผ่านตัวอักษร แต่เก๋กลับมีความรู้สึกสนิทสนมกับคุณองุ่นเหมือนเป็นเพื่อนกัน”
เมื่อได้รับการติดต่อจากโรงแรมให้แสดงภาพวาดเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้ เก๋ตั้งใจจะแสดงผลงานชุด The Flowering of Life ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ชีวิตซึ่งเปรียบเหมือนดอกไม้ โดยมี ดอกไม้และผู้หญิง เป็นองค์ประกอบในภาพ และเกิดความคิดว่าอยากจะวาดภาพสักภาพที่สื่อให้เห็นความเป็นไทยโดยยังคงรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในภาพวาดของตัวเอง เก๋จึงนึกถึงคุณองุ่น และได้ขออนุญาตคุณองุ่นนำภาพถ่ายของเธอ มาเป็นแบบในการวาด
และภาพวาดเทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบภาพนี้ถูกตั้งชื่อว่า Kanika
“ช่วงเวลาที่วาด เก๋มีความสุขมากค่ะ เพราะเหมือนกำลังถ่ายทอดความเป็นไทยในรูปแบบที่ตัวเองอยากให้เป็น รวมทั้งเก๋เองก็อยากมีโอกาสดำเนินชีวิตแบบไทยๆเหมือนคุณองุ่น”
The Flowering of Life มุมมองส่วนตัวของผู้หญิงคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตามเก๋ยังไม่มีแผนว่าจะเดินทางกลับมาอยู่เมืองไทยเมื่อไหร่ เพราะในด้านหนึ่งการได้ใช้ชีวิตในต่างแดน หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นมัณฑนากร ได้วาดภาพไปด้วย ได้แสดงงานอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญได้อยู่ใกล้คนรัก เพียงเท่านี้ก็พอจะทำให้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งมีความสุขตามอัตภาพ
“เมื่อใช้ชีวิตอยู่นิวยอร์กสักพักได้รู้จักเพื่อนที่ทำงานศิลปะเช่นกันคนไทย และต่างชาติซึ่งมีหลากหลายเชื้อชาติ จึงทำให้ได้มีโอกาสแสดงงานร่วมกับเพื่อนศิลปินบ่อยครั้ง ทำให้มีแรงบันดาลใจในการวาดภาพอย่างต่อเนื่อง
แต่ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูง จึงทำให้ต้องทำงานที่ทำให้มีรายได้ประจำด้วย ซึ่งงานที่ทำนอกเหนือจากวาดภาพคืองานออกแบบ ตกแต่งภายใน และเขียนแบบค่ะ
เก๋พยายามที่จะวาดภาพทุกวัน ถ้าเป็นวันที่ไม่ต้องทำงานเขียนแบบ หรือออกไปธุระที่ไหน เก๋ก็จะวาดภาพอยู่ที่บ้านทั้งวัน บางวันถ้าอากาศอุ่นก็ออกไปสเกตซ์ดอกไม้ตามสวนสาธารณะ เก๋พยายามวาดาภาพให้ได้อย่างน้อย 1 - 2 ชั่วโมง หรือสเกตซ์นิดๆหน่อยๆก็ยังดี และในช่วงหลังๆนี้ เก๋ยังเริ่มเริ่มสนใจเขียนกลอนด้วยค่ะ”
The Flowering of Life นิทรรศการภาพวาดโดย เก๋ - ศิริกุล ปัตตะโชติ ซึ่งเปิดแสดงมาตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา จะเปิดแสดงให้ชมไปจนถึง 31 พฤษภาคม พ.ศ.2557
“ผลงานของเก๋ ถ้าพูดถึงฝีมือแล้ว เทียบกับศิลปินรุ่นใหญ่ๆ หรือศิลปินที่เก่งๆหลายๆท่าน คงยังห่างไกล แต่ เป็นสิ่งที่เก๋อยากจะถ่ายทอดความรู้สึก และมุมมองส่วนตัว แทนคำพูด และหวังว่าจะทำให้ผู้ที่ดูงานของเก๋ มีความสุข และอาจได้นึกถึงอะไรบางอย่าง ซึ่งก็แล้วแต่จินตนาการของแต่ละคนค่ะ”
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วุฒิกร นิธิกุลตานนท์ และ Ryan Teeramate
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews