xs
xsm
sm
md
lg

NAC 2014 ชูพลังขับเคลื่อนการพัฒนายั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวทช.- งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช.ครั้งที่ 10 ชูพลังขับเคลื่อนการพัฒนายั่งยืน อาทิ ดัดแปลงรถยนต์มือ 2 เป็นรถไฟฟ้า, สื่อโฆษณาบนล้อมอเตอร์ไซค์, เทคโนโลยีเล่านิทาน 3 มิติ, ระบบนำ ส่งเซลล์มีชีวิต, ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์ และชุดทดสอบคุณภาพน้ำมันปาล์มเคลื่อนที่ เป็นต้น

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช.ประจำปี 2557 (NSTDA Annual Conference 2014 : NAC 2014) ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: พลังขับ เคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน” (S&T : Driving Force for Sustainable Development) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 3 เมษายน 2557 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเปิดเวทีให้นักวิจัย นักวิชาการ นักอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจเอกชน ผ่านกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนแก่ภาคเอกชน นำไปขยายผลตอบโจทย์ความต้องการ

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า สวทช.ได้มีการจัดงานประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี โดยเน้นการนำเสนอเทคโนโลยีที่เกิดจากองค์ความรู้และการวิจัยพัฒนาของ สวทช.และเครือข่ายที่มีศักยภาพช่วย ผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและพร้อมพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ถือเป็นบริบทที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ทั้งนี้ สวทช.มีกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยมุ่งเน้นการสะท้อนบทบาทของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่มีต่อยุทธศาสตร์และทิศทางของประเทศ ในการก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ

“สวทช.เล็งเห็นว่า จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งด้าน “การวิจัยและพัฒนา” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาของประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกส่วน ที่ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดระบบวิจัยของประเทศที่เข้มแข็งมากขึ้น เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ย่อมต้องพัฒนาปรับตัว เพื่อทำให้ประเทศไทยมีสังคมที่ยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาที่เกี่ยวกับปัจจัยการผลิต และการตลาดที่มีพลวัตสูงต่อไป” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงาน NAC 2014 ภายใต้แนวคิด “วิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี: พลังขับ เคลื่อน การพัฒนาที่ยั่งยืน” ครั้งนี้เป็นเวทีให้กับนักวิจัยของ สวทช.จาก 4 ศูนย์แห่งชาติ ได้นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้กับนักวิชาการ อาจารย์ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และประชาชน ทราบถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในทุกมิติ

ภายงาน NAC 2014 ประกอบ ด้วย กิจกรรมหลัก ได้แก่

กิจกรรมสัมมนาวิชาการ เพื่อเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นระหว่างทุกภาคส่วนถึงความต้องการและศักยภาพในการพัฒนาประยุกต์ใช้ วทน.เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ รวมกว่า 50 หัวข้อ เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

การสัมมนาดังกล่าวมีวิทยากร อาทิ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อการเสวนา พิเศษเรื่อง “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : พลังขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน”

อีกทั้งการแบ่งปันประสบการณ์จากชีวิตนักเรียนต่างจังหวัด ผ่านชีวิตนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ สู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและ ระดับโลก ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยไบโอเทค สวทช.ในหัวข้อการบรรยายพิเศษเรื่อง “เก่งได้...ไร้ขีดจำกัด”

รวมถึงหญิงไทยคนแรกของไทยที่จะสร้างประวัติศาสตร์การเดิน ทางสู่ห้วงอวกาศ พิรดา เตชะวิจิตร์ วิศวกรดาวเทียมหญิงของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ที่จะมาเล่าถึงการเตรียมการเดิน ทางสู่อวกาศ ในการสัมมนา “การเดินทางสู่อวกาศของไทย”

ส่วนนิทรรศการซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าของ สวทช.จากทั้งภาคเอกชนทั้งในส่วนของ Incubator และบริษัทพื้นที่เช่าในอุทยาน วิทยาศาสตร์ประเทศไทย และพันธมิตรต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของงานวิจัยและพัฒนาด้าน วทน. ที่เป็นรูปธรรมทั้งการนำไปใช้ประโยชน์เชิง พาณิชย์ และสาธารณะ และผลงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

ในส่วนนี้มุ่งเน้นการประยุกต์ผลจากการวิจัยและการสร้างมูลค่าเพิ่มไปใช้ในการพัฒนาประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติที่เกี่ยวข้อง อาทิ นวัตกรรมปลูกข้าวหอมมะลิ 105 หนึ่งไร่หนึ่งตันบนผืนดินเค็ม, Smart Soil ดิน ดำจากผักตบชวา, แก้วรูพรุนไล่ยุง, โปรแกรม Copy Cat : เครื่องมือตรวจสอบคัดลอกวิทยานิพนธ์แบบอัตโนมัติ,ดัดแปลง รถ ยนต์มือ 2 เป็นรถไฟฟ้า, สื่อโฆษณาบนล้อมอเตอร์ไซค์, เทคโนโลยี เล่านิทาน 3 มิติ, ระบบนำส่งเซลล์มีชีวิต, ยาง ล้อประหยัดพลังงาน และชุดทดสอบคุณภาพน้ำมันปาล์มเคลื่อนที่ เป็นต้น

ส่วนกิจกรรมเยี่ยมชมสำหรับภาคเอกชน หรือ เปิดบ้าน สวทช.(Open NSTDA) เพื่อ เปิดให้ภาคธุรกิจที่สนใจ ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและห้องปฏิบัติการทดสอบของ สวทช.รวมถึงบริษัท ผู้เช่า และพันธมิตรของ สวทช.ที่พร้อมรับโจทย์และช่วยแก้ปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการยกระดับคุณภาพของสินค้า และบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

รวมถึง Meet & Mach Zone ที่นำเสนอ งานวิจัย นวัตกรรม และต้นแบบเพื่อการพาณิชย์ของบริษัทเอกชนที่ทำวิจัยอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานใน สวทช.ที่ให้บริการภาคเอกชน อาทิ Food and Feed Innovation Center, Technology Licensing Office ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ฝ่ายบริการพัฒนาผู้ประกอบการทางเทคโนโลยีแบบครบวงจร (บริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ บริการคืนภาษี R&D 200% การร่วมลงทุน บริการขยายสิทธิ BOI ตามมาตรการ STI เป็นต้น)








กำลังโหลดความคิดเห็น