ไชน่า เดลี่ - จีนเตรียมดำเนินโครงการยักษ์ใหญ่ มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ เข้าขยับขยายระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วในไทยเป็นแห่งแรกของอาเซียน
รายงานข่าว (1 พ.ย.) อ้างแถลงการณ์ร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและบริการข้อมูลสารสนเทศ เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งประเทศไทย (GISTDA) เมื่อวันพุธ (30 ต.ค.) ที่ผ่านมา ระบุถึงข้อตกลงระหว่างสองชาติในโครงการที่จีนจะเข้าดำเนินการจัดตั้งระบบให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ (Geospatial) การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ด้านข้อมูลสารสนเทศในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยในเดือน พ.ย. จีนจะเริ่มก่อสร้างสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียมเป๋ยโต่วแห่งแรกภายในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ก่อนจะขยับขยายสถานีฯ ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยในช่วงต้นปี 2557
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ประธานบริหารของ GISTDA หน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ระบุให้โครงการดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วจะทำหน้าที่ในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์อากาศ แจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือให้ข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม ขนส่งมวลชน แหล่งพลังงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทางด้านนายจิน เสี่ยวหมิง ผู้อำนวยการคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จีน เผยว่า ไทยนับเป็น 1 ใน 10 ชาติอาเซียน ที่ไว้วางใจเลือกใช้ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว และจัดให้เป็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อจีน
“มันจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าระบบดาวเทียมนำทางของจีน มีความสามารถและประสิทธิภาพเพียงพอที่จะให้บริการในระดับนานาชาติได้”
ทั้งนี้ ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว (Beidou Satellite System) จะเก็บข้อมูลสภาพอากาศและลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยทำงานควบคู่ไปกับเครื่องวิทยุหยั่งอากาศที่ติดตั้งอยู่บนบอลลูนตรวจสภาพอากาศซึ่งถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศส่วนบน (Upper atmosphere) ของโลก ซึ่งเทคโนโลยีที่จีนสามารถคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาใช้งานได้เองนี้ ช่วยลดการพึ่งพาระบบจีพีเอส (GPS) ของสหรัฐฯ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อีกด้วย