xs
xsm
sm
md
lg

“วราเทพ” แจงคุมเข้มขึ้นทะเบียนจำนำข้าว 56/57 วอนชาวนารักษาสิทธิ ไม่ทุจิตช่วยโครงการอยู่ยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “วราเทพ” พบผู้แทนเกษตรกรภาคเหนือ 17 จังหวัด ชี้แจงแผนงานขึ้นทะเบียนโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 เผยปรับปรุงใหม่เพิ่มประสิทธิภาพแก้ปัญหาทุจริต เตรียมใช้แผนที่ดาวเทียมช่วยตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูก พร้อมยกระดับสุ่มตรวจพื้นที่เป็น 20% ลั่นพบคนทำผิดปีนี้โดนเพิกถอนสิทธิร่วมโครงการ 3 ปี วอนเกษตรกรแจ้งข้อมูลตามจริง อย่าให้ใครสวมรอย ระบุโครงการโดนจวกแหลกหากไม่ช่วยกันปรับปรุงอนาคตอาจต้องยกเลิก

วันนี้ (10 ส.ค.) ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพีธีเปิดการสัมมนาการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าว ปี 2555/56 และ 2556/57 โดยมีคณะผู้บริหารจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และเกษตรตำบลจาก 17 ภาคเหนือเข้าร่วม

การจัดการประชุมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับกระบวนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว การทำประชาคม และการออกใบรับรอง ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล

โดยนายวราเทพ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวในรอบปี 2556/57 จะมีการปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อลงโทษผู้ที่ละเมิดสิทธิ โดยในส่วนของการรับขึ้นทะเบียนจะมีการตรวจสอบเอกสารอย่างเข้มงวด หากพบว่ามีการแข้งข้อมูล หรือใช้เอกสารเท็จจะมีความผิดตามกฎหมาย และหากมีการแจ้งขยายครัวเรือนจะต้องมีเอกสารรับรองจากกำนัน หรือผู้ใหญ่ล้านมาแสดง ส่วนการทำประชาคม จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การประชาคมกลุ่มย่อย ซึ่งจะจัดเป็นกลุ่มละ 5-10 ราย และให้ลงชื่อรับรองข้อมูลร่วมกัน ซึ่งหากบว่ามีการแจ้งข้อมูลเท็จจะตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการทั้งกลุ่ม

ส่วนการการประชาคมภาพรวม จะมีการนำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ประกอบ โดยจะให้เกษตรกรชี้ที่ตั้งแปลงบนภาพถ่ายดาวเทียม นอกจากนี้ ในกระบวนการตรวจสอบพื้นที่ จะเพิ่มการสุ่มตรวจวัดพื้นที่ปลูกจาก 10% เป็น 20% โดยจะเน้นการตรวจสอบในกลุ่มที่ไม่มีสัญญาเช่า หรือไม่มีเอกสารสิทธิมาแสดง ขณะการออกใบรับรอง จะเพิ่มความเข้มงวดในด้านการพิมพ์และการจ่ายใบรับรองให้ถูกต้อง และทันเวลา รวมถึงจะเพิ่มคำเตือนในใบรับรองด้วยว่า “ให้ใช้สิทธิจำนำผลผลิตตามจำนวนที่ได้จากการปลูกจริงเท่านั้น การขายใบรับรอง และยินยอมให้ผู้อื่นใช้สิทธิในใบรับรองของตัวเองมีความผิดตามกฎหมาย” นอกจากนี้ ยังมีการปรับบทลงโทษในกรณีที่มีการแจ้งข้อมูลเท็จ จากเดิมที่จะเพิกถอนสิทธิการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเป็นเวลา 1 ปี เปลี่ยนเป็นเพิกถอนสิทธิเป็นเวลา 3 ปี และมีความผิดตามกฎหมายอีกด้วย

ทั้งนี้ นายวราเทพ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า สาเหตุที่มีการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ในการรับจำนำข้าวนั้น นอกเหนือจากจะเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตในการรับจำนำข้าวดังเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐบาลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป้นอย่างมากในหลายๆ ด้าน ซึ่งหากในอนาคตรัฐบาลเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีปัญหาเกิดขึ้นมากก็จำเป็นจะต้องยกเลิกโครงการดังกล่าว ดังนั้น หากเกษตรกรต้องการให้โครงการรับจำนำข้าวยังคงดำเนินการต่อไปก็ต้องให้ความร่วมมือในการแจ้งข้อมูลที่เป็นจริง รวมทั้งใช้สิทธิตามผลผลิตที่ผลิตได้จริงด้วยเช่นกัน

สำหรับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2556 พบว่า มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 1,098,502 ครัวเรือน ผ่านการทำประชาคมแล้วทั้งสิ้น 1,078,159 ครัวเรือน และได้รับใบรับรองแล้วทั้งสิ้น 1,069,449 ครัวเรือน

นายวราเทพ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า เป้าหมายหลักของรัฐบาลในการปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวคือ ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้มากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรับผิดชอบใน 3 ส่วน ประกอบด้วย การขึ้นทะเบียน การประชาคม และการออกใบรับรอง ได้เพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการ รวมทั้งนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อให้การตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น หรือการเพิ่มระดับการสุ่มตรวจพื้นที่จาก 10% เป็น 20% เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้คำนึงถึงการใช้สิทธิอย่างถูกต้องตรงไปตรงมาในทุกขั้นตอน เนื่องจากหากพบว่ามีการทุจริต หรือละเมิดสิทธิ เช่น การขายใบรับรอง การให้ผู้อื่นมาสวมสิทธิแทน หรือการแจ้งจำนวนผลผลิตเกินกว่าที่ผลิตได้จริงนั้น

นอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยังจะส่งผลให้เกษตรกรถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการถึง 3 ปีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การเพิ่มบทลงโทษนั้นไม่ได้เป็นการสร้างภาระให้กแก่เกษตรกรแต่อย่างใด เพราะถ้าหากเกษตรรายใดที่ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องวิตกว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น