xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ถกนักธุรกิจสุขภาพ-เครื่องสำอาง ส่ง “วราเทพ” ดันร่าง พ.ร.บ.สถานบริการสุขภาพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
นายกฯ หารือผู้ประกอบการกลุ่มสุขภาพและเครื่องสำอาง เร่งเสริมศักยภาพและอุปสรรคการค้า มอบหมาย “จาตุรนต์” จัดอบรมบุคลากร “วราเทพ” ติดตามร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อบริการสุขภาพ ชี้ไทยเสียโอกาสเพราะ กม.ไม่ประกาศใช้

วันนี้ (27 ก.ย.) นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในวันนี้ เวลา 11.30 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้พบหารือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และตัวแทนนักธุรกิจจากกลุ่มสุขภาพและเครื่องสำอาง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการหารือว่า เป็นโอกาสดีที่จะได้รับฟังแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากภาคเอกชน จึงได้มีการเชิญกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข เข้ามาร่วมหารือและรับฟังปัญหาและข้อคิดเห็น เนื่องจากต้องการเห็นพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง รวมถึงการพัฒนาการออกแบบสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพในตัวอยู่แล้ว

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องการเห็นการผลักดันให้เกิดการสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ การพัฒนามาตรฐานการรับรองคุณภาพ รวมถึงการทำการตลาด เพราะอุตสาหกรรมนี้เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีของประเทศจำนวนมาก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสมุนไพร ต่างเห็นตรงกันว่าประเทศไทยยังขาดแคลนห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็บที่จะตรวจคุณภาพสินค้า เพราะถ้าเป็นเอสเอ็มอี คงจะไม่มีศักยภาพพอในการสร้างห้องทดสอบขึ้นมาด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ถ้าสามารถตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้จะเป็นการรับรองว่าสินค้ามีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนามาตรฐานการรับรองคุณภาพด้วยการหาแนวทางในการพัฒนาห้องวิจัยให้สามารถรองรับการตรวจสอบคุณภาพเครื่องสำอางและสมุนไพร ขณะเดียวกันได้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯนำผลงานวิจัยที่มีอยู่ มาจับคู่กับภาคเอกชนในการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ตามความต้องการของตลาดอีกด้วย

นายกรต โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย กล่าวในการประชุมว่า จากการศึกษาในปี 2555 พบว่าธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วโลกคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาท เฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 15.5% หรือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท โดยประเทศไทยมีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 40% รองลงมาเป็นสิงคโปร์ที่ระดับ 32% โดยประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านแพทย์ทางเลือก การดูแลแบบองค์รวม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่การเปลี่ยนแปงโครงสร้างของประชากรที่ภายในปี พ.ศ.2593 ประชากรในโลกกว่า 1 ใน 3 จะมีอายุสูงกว่า 60 ปี ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมการรองรับ ทั้งนี้แพทย์หญิง ประภา วงศ์แพทย์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพมาก แต่ขาดแคลนการอบรมบุคลากรให้มีปริมาณและคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ประกอบกับร่างพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อบริการสุขภาพ ยังไม่ได้มีการประกาศใช้ ทำให้ไทยเสียโอกาสในการเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นายธีรัตถ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปรึกษาร่วมกับผู้ประกอบการในการจัดอบรมบุคลากรให้เหมาะสมกับความต้องการของอุตสาหกรรม รวมถึงได้มอบหมายให้นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ไปติดตามความคืบหน้าในการออกพระราชบัญญัติดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าไปช่วยดูการทำระบบ อี-คอมเมิร์ช ระบบชำระเงิน เพื่อช่วยเหลือการทำการค้าให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงการทำแบรนดิ้ง ที่ขณะนี้เริ่มมีการเปิดตัวโครงการโมเดิร์นไทยแลนด์ ที่จะสร้างความชัดเจนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับเอกชนในการพัฒนาเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากข้าว เนื่องจากมีการเสนอในที่ประชุมว่าข้าว สามารถไปพัฒนาเป็นแป้งในเครื่องสำอาง จมูกข้าวสามารถนำไปผลิตเป็นวิตามินอี เพื่อบำรุงผิวพรรณได้ พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทางกระทรวงพาณิชย์ เร่งหาทางในการผลักดันการเจรจาการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ และหาช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเครื่องสำอาง สมุนไพร และสปา โดยภายใน 3 เดือน เมื่อแต่ละกลุ่มงานได้หารือจนตกผลึกถึงแนวทางในการแก้ปัญหาแล้ว อาจมีการพิจารณาในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ในทางที่เหมาะสมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น