“ยิ่งลักษณ์” เผยมติ ครม.ให้กระทรวงเกษตรฯ รับปัญหาราคายางพาราไปดำเนินการ โอดราคาที่เกษตรกรขอหนักไป เหตุงบฯมีจำกัด แนะส่งตัวแทนเจรจาหามาตรการทดแทน ขณะเดียวกัน วอนฝ่ายการเมืองอย่าเข้าไปเอี่ยวจะทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ อ้างใช้หลักความอดทนทำอย่างละมุนละม่อมในการดูแลการชุมนุม ขู่ถ้าเกินขอบเขตกฎหมายก็ต้องจัดการ เรียกร้องชาวใต้หยุดปิดทางรถไฟ ทำกระทบนักท่องเที่ยว สั่งพาณิชย์แสวงหาตลาดใหม่ หลังส่งออกชะลอตัว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานปัญหาราคายางพารา รวมถึงข้อเรียกร้องเกษตรกร โดยมติที่ประชุม ครม.เห็นควรให้กระทรวงเกษตรฯรับเรื่องและนำไปหารือในคณะกรรมการกลั่นกรองโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แกนนำประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว แต่ยังมีกลุ่มข้างนอกเข้ามาชุมนุมเหมือนมีกลุ่มการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนที่ได้มีการคุยกันก็ได้รับเรื่องจากเกษตรกรแล้ว ซึ่งเราอยากขอความร่วมมือว่าอยากคุยกับเกษตรกรถึงปัญหาต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้แก้ปัญหาให้ถูกจุด และต้องขอความร่วมมือประชาชนถ้าไม่ได้อยู่ในกลุ่มเกษตรกร ขอความกรุณาอย่าไปชุมนุม เพราะอาจมีเหตุความรุนแรง ซึ่งรัฐบาลพยายามใช้หลักความอดทนทำอย่างละมุนละม่อมอย่างเต็มที่ดูแลประชาชน แต่ถ้ามีเหตุเลยขอบเขตกฎหมายก็คงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และขอความร่วมมือว่าเราไม่อยากเห็นเศรษฐกิจหรือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกลายเป็นประเด็นอื่นๆ ที่แตกประเด็นออกไป จะทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เส้นทางรถไฟที่มีการปิดสัญจรรัฐบาลดูแลอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ประสานงานไปขึ้นที่จุดอื่น แต่คงต้องขอความร่วมมือไม่เช่นนั้นการสัญจรไปมาจะเดือดร้อน และเราก็ห่วงประเด็นนี้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจคงต้องไปทำหน้าที่พูดคุยกัน โดยดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ไม่อยากให้เกิดการใช้กำลังรุนแรงกัน คงต้องขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนอดทนและขอความร่วมมืออย่าชุมนุมเลย เพราะอาจทำให้เดือดร้อนและอาจมีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวทางใต้ด้วย
ส่วนราคายาง กระทรวงเกษตรฯ แจ้งหรือไม่ว่าเพดานที่รับได้อยู่จุดไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตรงนี้ต้องพูดคุยกัน ซึ่งเรายินดี โดยหลักการต้องวิเคราะห์ด้านต้นทุนด้วย ถ้าต้นทุนเป็นอย่างไร อย่างน้อยต้องดูแลในส่วนของเกษตรกรให้อยู่ได้และมีรายได้ระดับหนึ่ง
“ขอกราบเรียนว่าตามราคาที่ขอมันหนักจริงๆ และตลอดเวลาทางกระทรวงเกษตรฯได้พยายามติดตามและดูแลพี่น้องชาวสวนยางอยู่แล้ว ซึ่งมีหลายมาตรการด้วยกัน รวมถึงการพัฒนาระยะยาว ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ทั้งนี้อยากให้มีตัวแทนมาพูดคุยกับทางกระทรวงเกษตรฯ ด้วยการนั่งจับเข่าคุยกัน ติดปัญหาอะไรเราก็ช่วยกันแก้ อะไรที่เป็นปัญหาเร่งด่วน อะไรที่เป็นปัญหาระยะยาว ก็จะได้แก้ปัญหาทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปี”
ส่วนที่มีการนำไปเปรียบเทียบกับราคาข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การรับจำนำข้าวถ้าดูจากการช่วยเหลือทางด้านเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะได้รับการดูแลภายใต้โครงการรับจำนำข้างเพียงปีละหนึ่งหน แต่สำหรับเรื่องราคายางมีหลายมาตรการที่ดูแลตลอดเวลา มีเงินสงเคราะห์การทำสวนยางที่เก็บจากผู้ส่งออก (เงินเซส) มีอะไรต่างๆ ดูแลอยู่แล้ว ยืนยันเราดูแลอย่างเสมอภาคอยู่แล้ว ซึ่งต้องกราบเรียนขอความเห็นใจจริงๆ เราไม่เคยที่จะมาเปรียบเทียบ เพราะหน้าที่ของรัฐบาลต้องดูแลเกษตรกรทุกลุ่มอยู่แล้ว
ต่อข้อถามว่า ราคายางพารากิโลกรัมละ 80 บาทเกษตรกรมองว่าน้อยเกินไปจะมีการขยับขึ้นได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องมาคุยกันว่าน้อยอยู่ตรงไหน เพราะถ้าเราได้พูดคุยและวิเคราะห์กันที่ต้นทุน เพราะวันนี้ต้นทุนแต่ละภาคมีความต่างกัน ถ้าเราให้มาตรฐานอย่างไรเราก็ต้องดูแลในภาคอื่นๆด้วย ดังนั้นต้องวิเคราะห์ต้นทุนและราคาที่อยู่ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเลยจากต้นทุนคงต้องขอความร่วมมือ เพราะบางครั้งงบประมาณมีจำกัดเราคงต้องพูดคุยกันว่าจะดูแลช่วยเหลือในรูปแบบอื่นได้บ้างหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ทางกระทรวงเกษตรฯเคยเสนอการช่วยเหลือในเรื่องค่าปุ๋ย ซึ่งจะได้ระยะยาวมากกว่า และทำให้ได้ผลิตผลดี ทั้งหมดอยู่ที่การพูดคุยกันว่าวิธีไหนที่จะลงตัว และเหมาะสม เราพร้อมยืดหยุ่น เพื่อตอบโจทย์และตรงกับความต้องการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องข้าตันละ 1.5 หมื่นบาทรัฐบาลทำได้ ทำไมเรื่องยาง 120 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลทำไม่ได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จากการติดตามความจริงแล้วราคายางมีความต่าง เพราะราคายางต้องอิงราคาตลาดโลก เราอยากเห็นราคายางที่ดีขึ้น รัฐบาลอยากเห็นประชาชนมีรายได้ดี อยากเห็นราคาสินค้าดีขึ้น แต่เราคงไปได้ระดับหนึ่ง ต้องกราบเรียนบางครั้งเราช่วยในหลายๆวิธี เช่น ให้ปุ๋ยหรือการแทรกแซงราคา ซึ่งบางอย่างมีข้อจำกัด แต่สิ่งที่เราควรพูดคุยกันคือกลับมาแก้ไขระยะยาวว่าความเหมาะสมเรื่องโซนนิ่งภาคการเกษตรก็คือคำตอบระยะยาว ถ้าเราปลูกสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินปริมาณตลาดที่จะลองรับได้ ผลกระทบคือสินค้าเหลือทำให้ราคาตกต่ำ ขณะนี้ได้เร่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำงานวิจัยต่างๆ พร้อมทำสินค้าเกษตรแปรรูปเข้ามาช่วย ตรงนี้หน้าจะเป็นทางออกที่จะทำให้ดีขึ้น ยิ่งถ้าเราทำการแปรรูปพื้นที่ต้นน้ำให้มากที่สุดก็จะทำให้ลดต้นทุนการขนส่ง อันนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำควบคู่กัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงการชะลอตัวของภาคส่งออกว่า ยอมรับว่ามีผลกระทบ เพราะในภาพรวมตลาดก็ลดลง เทียบกับการส่งออกประเทศเพื่อนบ้านก็ลดลง และในไทยคงต้องมีการพัฒนาเรื่องตลาดใหม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นมาตรการเร่งด่วนที่เร่งรัดกระทรวงพาณิชย์คือต้องทำเวิร์กชอปพูดคุยกับผู้ส่งออกเป็นรายอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะการเปิดตลาดใหม่ พร้อมกันนี้ต้องหารือเจรจากับต่างประเทศว่าสิ่งไหนควรจะดึงมาทำก่อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ