ศูนย์ข่าวศรีราชา - GISTDA จับมือผู้ประกอบการจีน เปิดสถานีสาธิต cors ให้ skp เป็นฐานการพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต๋ย
วันนี้ (18 มิ.ย.) ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ดร.ประธาน สุรกิจบวร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดชลบุรี พล.ท.โกศล เนียมถนอม รองเจ้ากรมแผนที่ทหาร ผู้แทนคณะกรรมการบริหาร GISTDA และ Dr.Li Deren President ผู้บริหารบริษัท Wuhan Optics Valley ผู้แทนคณะ Beidou Asean Tour ร่วมพิธีเปิดสถานีสาธิต cors ให้อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ เป็นฐานการพัฒนาระบบดาวเทียมนำทาง และนิทรรศการ Beidou Asean Tour เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต๋ว ที่พัฒนาโดยประเทศจีน โดยทำการติดตั้งสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียมเป๋ยโต่ว ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ดร.อานนท์ กล่าวว่า ความร่วมมือของ GISTDA กับผู้ประกอบการจีนในครั้งนี้เพื่อร่วมกันพัฒนาสถานีอ้างอิงและปรับปรุงแก้ข้อมูลดาวเทียมนำทางทีมีความละเอียดสูงหรือ ระบบ CORS โดยใช้อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKC ของ GISTDA ที่อ.ศรีราชา เป็นฐานในการพัฒนา
ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวเป็นสถานีอ้างอิงและปรับปรุงแก้ข้อมูลดาวเทียมนำทางที่ให้ความแม่นยำในระดับเซนติเมตร มีศักยภาพในการใช้งานด้านต่างๆ เช่น การเกษตร การวัดการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก การสำรวจรังวัดแผนที่ การบริหารจัดการขนส่ง และสามารถส่งเสริมให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศในประเทศไทยในอนาคต
โดยข้อตกลงระหว่าง 2 ชาติในโครงการนี้ จีนเข้ามาดำเนินการจัดตั้งระบบให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ (Geospatial) การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ด้านข้อมูลสารสนเทศในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายอานนท์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ระบุให้โครงการดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว จะทำหน้าที่ในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์อากาศ แจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือให้ข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม ขนส่งมวลชน แหล่งพลังงาน และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว (Beidou Satellite System) จะเก็บข้อมูลสภาพอากาศ และลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยทำงานควบคู่ไปกับเครื่องวิทยุหยั่งอากาศ ที่ติดตั้งอยู่บนบอลลูนตรวจสภาพอากาศ ซึ่งถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศส่วนบน (Upper atmosphere) ของโลก ซึ่งเทคโนโลยีที่จีนสามารถคิดค้น และพัฒนาขึ้นมาใช้งานได้นี้ ช่วยลดการพึ่งพาระบบจีพีเอสของสหรัฐอเมริกาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วย