วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1930 เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของวงการดาราศาสตร์ เพราะในคืนวันนั้น Clyde Tombaugh แห่งหอดูดาว Lovell ในรัฐ Arizona ของสหรัฐอเมริกาได้เห็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของสุริยะจักรวาล (แต่เมื่อถึงวันนี้พลูโตถูกสหภาพ International Astronomical Union จัดเป็นดาวเคราะห์ประเภทใหม่ที่เรียก ดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet)) หลังจากที่ได้วิเคราะห์ภาพที่ถ่ายไว้ร่วมหมื่นภาพ ตามภาระงานที่ได้รับจาก Percival Lowell คือให้ค้นหาดาวเคราะห์ X ที่ Lovell คิดว่าคงมีขนาดใหญ่พอสมควร แต่ Tombaugh กลับพบว่า ดาวเคราะห์ดวงใหม่มีขนาดเล็กมาก กระนั้นคนทั้งโลกก็ยินดี
ในปี 1980 ซึ่งเป็นเวลา 50 ปีหลังจากที่ได้พบว่าพลูโตเป็นดาวเคราะห์บริวารดวงหนึ่งของดวงอาทิตย์ที่มหาวิทยาลัย New Mexico State University ได้มีการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับพลูโต งานประชุมครั้งนั้นใช้เวลาเพียงวันเดียวก็ยุติ เพราะที่ประชุมแทบไม่มีใครมีข้อมูลเกี่ยวกับพลูโตมากเลย
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมานักดาราศาสตร์ก็ได้ติดตามศึกษาพลูโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความรู้มากกว่าเดิมหลายแสนเท่า แต่ก็ตระหนักดีว่าที่ว่ารู้นั้นก็ยังไม่พอ เช่น รู้ว่าพลูโตเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก มีมวลเพียง 0.2% ของโลก อุณหภูมิที่ผิวดาวโดยเฉลี่ยมีค่าสูงประมาณ -235 องศาเซลเซียส มี Charon เป็นดาวบริวาร และมีดวงจันทร์ชื่อ Styx, Hydra, Nix, Kerberos อีก 4 ดวงที่โคจรรอบทั้งพลูโตและ Charon
ตามปกติพลูโตโคจรอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มาก และวงโคจรก็เป็นวงรีมาก จนทำให้ในระหว่างปี 1979-1999 พลูโตอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าเนปจูนเสียอีก พลูโตใช้เวลา 249 ปี ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ได้หนึ่งรอบ ซึ่งนั่นหมายความว่านับตั้งแต่วันที่ Tombaugh ได้เห็นพลูโตแล้ว มันก็ยังโคจรไม่รอบดวงอาทิตย์เลย
ภาพของพลูโตที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ยังแสดงให้เห็นอีกว่า พลูโตโคจรรอบตัวเองหนึ่งรอบโดยใช้เวลา 6 วัน 9 ชั่วโมง ที่ขั้วของดาวค่อนข้างสว่าง แต่ที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวจะมีสีคล้ำกว่า นักดาราศาสตร์คิดว่าการที่เป็นเช่นนี้เพราะผิวของดาวถูก methane แข็งบนดาวที่มีลักษณะเป็นน้ำค้างแข็งปกคลุม กล้อง Hubble ยังพบอีกว่าพลูโตมีบรรยากาศที่เจือจางมาก และบรรยากาศนี้เกิดจากเกล็ดมีเทนแข็งที่อยู่บนดาวตลอดเวลาที่ดาวโคจรถอยไกลห่างออกไปจากดวงอาทิตย์ แต่เวลาพลูโตโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ เกล็ดมีเทนแข็งบนดาวก็จะระเหยเป็นไอทำให้พลูโตมีบรรยากาศบ้าง แม้จะน้อยนิดก็ตาม
ข้อมูลของพลูโตที่ทำให้นักดาราศาสตร์รู้สึกประหลาดใจมีมากมาย เช่น การมีวงโคจรที่ค่อนข้างรีมาก เพราะตามปกติบรรดาดาวเคราะห์วงนอก (เช่น เนปจูน ยูเรนัส เสาร์ และพฤหัสบดี) ทุกดวงล้วนมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่มีลักษณะเกือบจะเป็นวงกลม แต่กรณีวงโคจรของพลูโตรอบดวงอาทิตย์นั้นมีระยะใกล้สุดประมาณ 4,500 ล้านกิโลเมตร และไกลสุดประมาณ 7,500 ล้านกิโลเมตร โดยมีระยะห่างโดยเฉลี่ย 5,800 ล้านกิโลเมตร นอกจากสมบัติด้านความรีมากแล้ว ระนาบวงโคจรของพลูโตก็เอียงทำมุมกับระนาบวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ มากถึง 17 องศาด้วย
การรู้ขนาดของพลูโตอย่างถูกต้องโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนโลกเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเวลาแสงจากพลูโตผ่านชั้นบรรยากาศของโลกเข้ามา แสงจะหักเห ทำให้พลูโตดูมีขนาดใหญ่เกินจริง และเมื่อบรรยากาศโลกมีความแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยอิทธิพลของอุณหภูมิ ความชื้น ฝุ่น ฝน พายุ เมฆ ฯลฯ นักดาราศาสตร์จึงจำต้องใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศในการสังเกต และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ก็ได้ทำให้เรารู้ว่า พลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2,275 กิโลเมตร ข้อมูลนี้ทำให้พลูโตมีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเราเสียอีก
ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1979 J.W. Christy แห่งหอดูดาว U.S. Naval Observatory ของสหรัฐฯ ได้พบว่าพลูโตมีดวงจันทร์เป็นบริวารหนึ่งดวงชื่อ Charon จากการเห็นภาพถ่ายของพลูโตว่าไม่เคยดูกลมคือ มีปุ่มนูน และปุ่มนูนนี้เปลี่ยนตำแหน่งตามเวลา โดยจะกลับมาปรากฏที่ตำแหน่งเดิมทุก 6.4 วัน Christy จึงกล่าวสรุปว่า ปุ่มคือดวงจันทร์ Charon อันเป็นบริวารของพลูโตมีขนาดไล่เรี่ยกับดาวแม่ และการวัดเวลาที่ Charon ใช้ในการโคจรรอบพลูโตทำให้เรารู้ว่าคาบการเคลื่อนที่นี้มีค่าเท่ากับเวลาที่พลูโตหมุนรอบตัวเอง ดังนั้น ถ้ามนุษย์สามารถยืนอยู่บนพลูโตได้จะเห็น Charon ปรากฏในท้องฟ้าเหนือพลูโตโดยไม่โยกย้ายตำแหน่งเลย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม เหตุการณ์ดวงจันทร์ไม่เคยเคลื่อนที่เลยเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์สำคัญของพลูโตที่ไม่มีดาวดวงใดในระบบสุริยะเหมือน สำหรับประเด็นที่มาของชื่อ Charon นั้น ประเพณีการตั้งชื่อทางดาราศาสตร์ถือว่าเพราะ Christy เป็นบุคคลแรกที่เห็นดาวบริวารของพลูโต เขาจึงมีสิทธิ์เสนอชื่อ และได้ตัดสินใจตั้งชื่อว่า Charon ตามชื่อของภริยาที่มีนามว่า Charlene ซึ่งอ่านออกเสียงคล้ายชื่อของเทพยดา Charon ผู้มีหน้าที่พายเรือนำวิญญาณของบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วข้ามแม่น้ำ Styx ไปยมโลกที่อยู่ภายใต้การปกครองของยมบาลชื่อ Pluto
การพบ Charon ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถรู้มวลที่แท้จริงของพลูโตได้ เพราะดาวทั้งสองนี้มีมวลใกล้เคียงกัน ดังนั้นการศึกษาคาบเวลาที่ดาวโคจรรอบกันและกัน จะทำให้รู้มวลของทั้งพลูโตและ Charon ว่ามีค่าเท่ากับ 0.25% ของมวลโลก และพลูโตเองมีความหนาแน่นประมาณ 2 เท่าของน้ำ
นักดาราศาสตร์ยังได้พบอีกว่า แม้ดาวทั้งสองจะเป็นคู่ของกันและกัน แต่ผิวของ Charon ดูมีสีคล้ำกว่าผิวของพลูโต ซึ่งในประเด็นความต่างนี้ นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าคงเพราะ Charon ไม่มีบรรยากาศเลย แต่พลูโตมีบรรยากาศบ้าง สำหรับเหตุผลที่ทำให้ผิวของพลูโตดูสว่างประมาณ 7 เท่าของผิวดวงจันทร์นั้น S.A. Sten แห่งมหาวิทยาลัย Colorado ในสหรัฐอเมริกาได้ให้เหตุผลว่า เกิดจากการที่พลูโตมีวงโคจรที่รีมาก ทำให้ระยะทางใกล้และไกลจากดวงอาทิตย์มีค่าแตกต่างกันมาก จึงมีผลทำให้อุณหภูมิที่ผิวมีค่าแตกต่างกันมากด้วย เช่น ในปี 1989 ซึ่งเป็นเวลาที่พลูโตโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด แต่ในปีนี้มันกำลังโคจรห่าง จนบรรยากาศเหนือดาวที่มีก๊าซ methane แข็งตัวหมด และหิมะ methane ได้ตกปกคลุมผิว ผิวพลูโตจึงสะท้อนแสงได้ดีและนาน จนกระทั่งถึงเวลาที่พลูโตโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้งหนึ่ง แล้วความสว่างก็จะลดอีกคำรบหนึ่ง
ความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของพลูโตที่เป็นหินและน้ำแข็ง ทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่า พลูโตเป็นดาวหางที่ถือกำเนิดในบริเวณนอกสุริยจักรวาล และได้โคจรหลงเข้ามาภายใน แล้วถูกดวงอาทิตย์ดึงดูดไว้เป็นดาวบริวาร ส่วน Charon นั้น ถือกำเนิดเมื่อพลูโตขณะกำลังแข็งตัว และได้ถูกดาวเคราะห์น้อยอีกดวงหนึ่งพุ่งชนจนชิ้นส่วนของพลูโตที่กระจายได้ไปรวมตัวกันเป็น Charon
หนทางเดียวที่นักดาราศาสตร์จะรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของพลูโตและชารอนคือต้องส่งยานอวกาศไปสำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยปัจจัยด้านเทคโนโลยี ทุนทรัพย์ และเวลาในการเดินทางและความเร็วของยานต้องเหมาะสม เพราะถ้ายานมีความเร็วสูงเกินไปมันจะโคจรผ่านพลูโตภายในเสี้ยววินาที และข้อมูลที่ได้จะไม่มีคุณภาพ แต่ถ้ายานมีความเร็วน้อยเกินไป การเดินทางจากโลกถึงความดาวพลูโตจะต้องใช้เวลานานมาก และนั่นหมายความว่ายานอวกาศที่เดินทางต้องทำงานอย่างไม่บกพร่องตลอดเวลาที่ยาวนาน แต่ส่วนดีของประเด็นหลังนี้คือยานอวกาศที่มีความเร็วน้อยขณะโคจรผ่านพลูโตจะมีเวลาสำรวจได้อย่างเต็มที่
การสำรวจพลูโตในปี 2015 จะเป็นภารกิจสำคัญ เพราะเป็นการสำรวจดาวเคราะห์แคระดวงแรกของสุริยะจักรวาล เพราะจากความรู้ที่เราได้สะสมมามาก เราได้เห็นแล้วว่าดาวเคราะห์ทุกดวงของสุริยะระบบมีลักษณะและสมบัติที่ไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่า ความคาดหวังที่เราจะได้จากการสำรวจพลูโตในอนาคตคือ เราจะได้พบอะไรต่างๆ มากมายที่เราไม่เคยคาดหวังอย่างแน่นอน
ณ วันนี้ตามข้อตกลงของสมาพันธ์ International Astronomical Union สุริยะจักรวาลของเราประกอบด้วยดาวเคราะห์ 8 ดวง ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์แคระ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง อุกกาบาต ฝุ่น ฯลฯ โดยดาวเคราะห์ตัวจริงจะต้องมีแรงโน้มถ่วงที่มีอิทธิพลค่อนข้างมากในบริเวณที่มันโคจรอยู่ ส่วนดาวเคราะห์แคระเป็นวัตถุในอวกาศอะไรก็ได้ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์มีแรงโน้มถ่วงที่มีความเข้มไม่สูงมาก จึงอาจมีดาวบริวารได้ และควรมีลักษณะกลมหรือเกือบกลม
ดังนั้น ตามเกณฑ์ดังกล่าวนี้ สุริยะจักรวาลจะมีดาว 2003 EL61, 2005 FY9, Sedna, Orcus, Quaoar, 2002 TX300, 2002 AW197, Ceres, 2003 UB313, Varuna, Ixion, Vesta, Pallas, Hygiea ซึ่งเป็นดาวเคราะห์แคระร่วมกับพลูโต ตัวอย่างเช่น 2003 UB313 เป็นดาวเคราะห์แคระที่พบเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2003 และมีชื่อว่า Xena ดาวดวงนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2,900 กม. (ใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อย) และโคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 16,000 ล้านกิโลเมตร
ส่วนดาว 2003 EL61 ซึ่งนักดาราศาสตร์พบเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2004 มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1,600 กิโลเมตร และโคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 6,900 ล้านกิโลเมตร
สำหรับ QUAOAR ที่พบในเดือนมิถุนายน 2002 มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1,250 กิโลเมตร และโคจรอยู่ห่าง 5,950 ล้านกิโลเมตร
ด้าน SEDNA นั้นพบเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2004 มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1,600 กิโลเมตร และโคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 12,900 ล้านกิโลเมตร
บรรดาดาวเคราะห์แคระเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนโคจรอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า แถบ Kuiper
ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าหลังจากที่ได้เดินทางรอนแรมนาน 9 ปี จนได้ระยะทางประมาณ 5,000 ล้านกิโลเมตร ลุถึงวันที่ 14 กรกฏาคม ค.ศ.2015 ยานอวกาศชื่อ New Horizons ของ NASA ก็จะโคจรผ่านดาวเคราะห์แคระพลูโตที่ระยะใกล้ 12,500 กิโลเมตรด้วยความเร็ว 49,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง และหลังจากที่ได้ถ่ายภาพเพื่อศึกษาสภาพทางกายภาพของ Pluto กับ Charon และดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กของดาวทั้งสองดวงที่ชื่อ Styx, Hydra, Nix และ Kerberos แล้วยาน New Horizons ก็จะเดินทางต่อไปสำรวจดาวเคราะห์แคระดวงอื่นๆ ในบริเวณแถบ Kuiper ของสุริยะจักรวาลอันเป็นแหล่งกำเนิดของดาวหางต่อไป
NASA ได้กำหนดว่า ก่อนยานจะถึงพลูโต 200 วัน อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทั้ง 7 ชิ้นบนยาน New Horizons จะเริ่มทำงาน ดังนี้คือ
(1) ALICE จะวัดและวิเคราะห์บรรยากาศที่เจือจางของพลูโต
(2) LORRI จะถ่ายภาพของพลูโตและชารอนอย่างละเอียด
(3) RALPH จะทำแผนที่ของดาวทั้งสองดวง รวมถึงวัดอุณหภูมิและวิเคราะห์องค์ประกอบของดาว
(4) PEPSSI จะพยายามจับอะตอม และโมเลกุลที่หลุดหนีออกจากบรรยากาศของพลูโต
(5) SWAP จะวิเคราะห์ลมสุริยะว่าพุ่งชนและผ่านพลูโตในลักษณะอย่างไร
(6) REX จะวิเคราะห์ศึกษาบรรยากาศของพลูโต โดยวิธีสังเกตคลื่นวิทยุที่ส่งจากโลกถึงยานโดยให้สัญญาณผ่านบรรยากาศของพลูโต
(7) DUST COUNTER จะบันทึกผลกระทบของการชนของฝุ่นหรืออนุภาคบนยาน
อีกหนึ่งความคาดหวังของนักวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการสำรวจดาวเคราะห์แคระดวงแรกและเป็นครั้งแรกนี้ คือ จะได้เห็นภูเขาไฟระเบิดบนดาว หรืออาจจะไม่ได้เห็น (เพราะดาวนี้ได้ “ตาย” ไปนานนับหลายล้านปีแล้ว) แต่ถ้าเห็นภูเขาไฟกำลังระเบิดก็จะดี แม้ NASA จะเกรงว่า สะเก็ดน้ำแข็งหรือฝุ่นหินอาจจะพุ่งชนยาน จนยานถูกทำลาย ซึ่งจะทำให้ยานจบชีวิตอย่างไม่คาดฝันก็ได้
ในอดีตเมื่อปี 1989 ขณะยาน Voyager 2 โคจรผ่านดวงจันทร์ Triton ของดาวเคราะห์ Neptune (Triton มีขนาดไล่เลี่ยกับ Pluto และมีองค์ประกอบเดียวกัน คือเป็นดาวหางที่โคจรหลงเข้าใกล้ Neptune จนในที่สุดได้ถูก Neptune ดึงดูดเป็นดาวบริวาร Triton จึงเป็น “ดาวหาง” ขนาดใหญ่ประเภทเดียวกับ Pluto) ยาน Voyager 2 ได้เห็นผิวของ Triton มีลักษณะเหมือนผิวลูก cantaloupe ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ลึกลงไปใต้ผิวของ Triton มีธาตุกัมมันตรังสีที่กำลังสลายตัว ทำให้เกิดความร้อนที่ผลักดันกระแสลาวาน้ำแข็งออกมา ตลอดเวลา 10 ล้านปีที่ผ่านมา จนทำให้ผิว Triton ดู “เรียบ” ไม่มีร่องรอยของหลุมอุกกาบาตมากเหมือนผิวดวงจันทร์ Callisto ของดาวพฤหัสบดี นอกเหนือจากการมีธาตุกัมมันตรังสีแล้ว อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงที่สูงมากจากดาว Neptune ก็สามารถบีบอัดหินที่แกนกลางของ Triton จนหินที่ถูกอัดปลดปล่อยความร้อนออกมา แต่ในกรณีของ Pluto ดาวเคราะห์แคระดวงนี้ไม่มีดาวยักษ์ขนาดใหญ่เช่น Neptune โคจรอยู่ใกล้ๆ ดังนั้นความร้อนที่ได้ย่อมมาจากสารกัมมันตรังสีใต้ดาวเพียงสาเหตุเดียว
ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ Hubble ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมายังแสดงให้เห็นอีกว่า ความดันบรรยากาศบนดาวพลูโตมีค่าประมาณ 0.001% ของความดันบรรยากาศโลก และผิวดาวมีไนโตรเจนแข็งกับ methane แข็งปกคลุมและมีคาร์บอนมอนอกไซด์เล็กน้อย และขั้วเหนือของพลูโตกำลังหันเข้าหาดวงอาทิตย์บริเวณขั้วเหนือจึงเป็นฤดูร้อน ปริมาณแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบทำให้ methane และ nitrogen แข็งระเหยออกจากผิวได้บ้าง และอุปกรณ์ spectrometer บนยาน New Horizons จะวิเคราะห์น้ำค้างแข็ง (frost) เหล่านี้เพื่อหาองค์ประกอบของธาตุต่างๆ ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ บนยานจะวัดความเข้มสนามแรงโน้มถ่วง เพื่อให้รู้สภาพแกนกลางของดาว และวัดขนาดของพลูโตอย่างผิดพลาดไม่เกิน 300 เมตร เพราะการรู้ขนาดอย่างถูกต้องจะทำให้รู้ความหนาแน่นและองค์ประกอบต่างๆ ของดาวด้วย
ถ้าการวัดแสดงให้เห็นว่า พลูโตมิได้กลมดิกแต่เป็นรูปไข่ คือป่องตรงกลาง แต่แฟบเล็กน้อยตรงบริเวณขั้วดาว นั่นแสดงว่า ลึกลงไปใต้ดาวอาจมีทะเล
นักดาราศาสตร์เชื่อว่า พลูโตเป็นดาวหางที่ถือกำเนิดในบริเวณ Kuiper ดังนั้นเมื่อมันโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ พายสุริยะจากดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นอนุภาคโปรตอนพลังงานสูงจะทำให้ไนโตรเจนที่มีในบรรยากาศของพลูโตสูญหายไปวินาทีละ 140 กิโลกรัม และปรากฎเป็น “หาง” ของดาว แต่ไม่มีใครแน่ใจว่า “หาง” ของพลูโตจะมีลักษณะเช่นไร การศึกษาอิทธิพลของลมสุริยะต่อบรรยากาศของพลูโตจึงเป็นปัญหาที่น่าสนใจอีกปัญหาหนึ่ง เพราะพลูโตอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 30 เท่าของโลก ดังนั้น สนามแม่เหล็กของลมสุริยะที่พลูโตจะมีค่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับที่โลก
บุคคลหนึ่งที่ได้ติดตามเรื่องของ Pluto มาอย่างต่อเนื่อง เขาคือ Marc Buic แห่ง Southwest Research Institute ซึ่งได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Pluto ในปี 1984 และยังสนใจดาวดวงนี้ต่ออย่างไม่ลดละ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปถึง 30 ปีก็ตาม แต่หลังจากที่ยาน New Horizons ผ่าน Pluto ไปในปี 2015 แล้ว Buic ก็คงต้องหันไปสนใจดาวดวงอื่นต่อ เพราะ NASA ไม่มีโครงการจะส่งยานอวกาศใดไป Pluto อีกเป็นเวลานาน
อ่านเพิ่มเติมจาก A History of Modern Planetary Physics โดย S.G. Brush จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press, New York 1996
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์