xs
xsm
sm
md
lg

“การเลือกตั้งแทบไม่มีความหมายเลย”: อเมริกันวิพากษ์อเมริกาและโลก

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

“Elections are close to meaningless.” Noam Chomsky

ในขณะที่สังคมไทยกำลังถกเถียงกันอย่างเข้มข้นว่า “ต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” หรือจะ “ต้องเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูป” ดี ประกอบกับสถานทูตสหรัฐอเมริกาออกมาแสดงความเห็นบางประการต่อประเด็นปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว จึงทำให้ประเด็นนี้ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

ในสายตาของคนไทยทั่วไปแล้วอาจจะรู้สึกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย เท่าที่ผมจำได้นักโทษการเมืองในข้อหาขบถ (ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษมณ์ ปี 2481) ถึงกับกล่าวเป็นคำพูดสุดท้ายอย่างไม่มีอาการประหวั่นหวาดกลัวใดๆ หน้าหลักประหารว่า “หากชาติหน้ามีจริง ขอให้ได้ไปเกิดในประเทศที่มีเสรีภาพอย่างอเมริกา” แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นอย่างไร?

ผมได้ศึกษาคำบรรยายของศาสตราจารย์ชาวอเมริกันวัย 85 ปี นามก้องโลกท่านหนึ่งชื่อ นอม ชอมสกี้ ซึ่งนอกจากท่านได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งภาษาศาสตร์สมัยใหม่” แล้ว ท่านยังเป็นนักปรัชญา นักวิจารณ์การเมืองและนักกิจกรรมสังคม ชีวิตส่วนใหญ่ท่านเป็นอาจารย์ที่เอ็มไอทีซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของโลกอีกเช่นเดียวกัน

คำพูดของท่านที่ผมยกมานี้ มาจากคำบรรยายในเวที Global Media Forum (เวทีสื่อมวลชนโลก) ที่ประเทศเยอรมนีเมื่อ 13 มิถุนายน 2556 ในหัวข้อ “A Roadmap to a Just World -- People Reanimating Democracy” หรือ เส้นทางความสำเร็จสู่โลกที่เที่ยงธรรม-ประชาชนทำประชาธิปไตยให้มีชีวิตชีวา

คำบรรยายของท่านมีเนื้อหาสอดคล้องกับหัวข้อที่ตั้งไว้ครับ (แม้เนื้อหาออกจะหนักไปทางปัญหาประชาธิปไตยเสียมากกว่าเส้นทางความสำเร็จ) แต่ผมจะนำมาเล่าและเปรียบเทียบกับสังคมไทยก็เฉพาะที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเท่านั้น

ในเบื้องต้นนี้ ผมขอเรียนสรุปเพื่อยั่วความอยากรู้ของท่านผู้อ่านก่อนว่า นักวิชาการนามอุโฆษชาวอเมริกันผู้นี้ได้สรุปว่า การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเองรวมทั้งอีกหลายประเทศในยุโรปก็ไม่ได้สะท้อนความต้องการที่จะแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้เลย

ก่อนที่จะนำเสนอสาระในคำบรรยายดังกล่าว ผมขอย้อนไปที่องค์ประกอบสำคัญมาก 4 ด้านของความเป็นประชาธิปไตยตามที่ผมได้เคยเสนอไว้ก่อนแล้วนะครับ คือ (1) ระบบการเมืองสำหรับการเลือกหารัฐบาลโดยการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรม (2) การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประชาชนในฐานะพลเมืองผู้ตื่นรู้ (3) การปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมืองทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิชุมชนที่มักจะถูกละเมิดจากโครงการพัฒนาของรัฐ และ (4) การใช้หลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งกฎหมายและกระบวนการใช้กฎหมายต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อพลเมืองทุกคน ไม่ใช่เพื่อลบล้างความผิดให้กับพี่ชายของตนคนเดียว หรือการไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพันทุกองค์กร คณะรัฐมนตรี (มาตรา 27) เป็นต้น

ดังนั้น โดยสรุปในระบอบประชาธิปไตย แม้นว่าจะมีการเลือกตั้งและต่อให้การเลือกตั้งนั้นเป็นไปอย่างอิสระและยุติธรรมจริงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่ามีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว

ต้องอาศัยอีก 3 องค์ประกอบที่เหลือข้างต้นด้วยครับ

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจกันง่ายขึ้น ลองพิจารณาประโยคในวิชาตรรกศาสตร์ที่ว่า “ถ้าเป็นคนแล้วต้องมีสองขา” แต่ “สิ่งที่มีสองขาอาจจะไม่ใช่คนก็ได้” หรือ “ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วต้องมีการเลือกตั้ง” แต่ “ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยก็ได้”

คราวนี้กลับมาที่คำบรรยายในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาตามทัศนะของผู้บรรยายกันต่อครับ

ในทัศนะของชาวอเมริกันซึ่งได้ปลูกฝังกันมาตั้งแต่ในโรงเรียนว่า “ประชาธิปไตยเป็นของ, โดย, และเพื่อประชาชน” แต่ชอมสกี้ได้เรียกระบอบที่ดำรงอยู่นี้ว่า “really existing capitalist democracy” (ประชาธิปไตยของนายทุนที่ดำรงอยู่จริงๆ) สามารถเขียนคำย่อได้ว่า “RECD” ซึ่งโดยบังเอิญออกเสียงเหมือนกับคำว่า “Wrecked” ซึ่งแปลว่าอับปาง

สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ชอบทำโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนซึ่งทำโดยนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์การเมือง และมักจะทำได้แม่นยำด้วย ผลการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่าง “ทัศนคติ” กับ “นโยบาย” พบว่า ชาวอเมริกันที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำที่สุดกับกลุ่มรองต่ำสุด (ซึ่งรวมกันถึง 70% ของประชากรทั้งประเทศ) ไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบายของประเทศเลย พวกเขาไม่ได้รับสิทธิใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการโหวตและไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (They are effectively disenfranchised. -ประโยคของ Noam Chomsky)

เพื่อขยายความการเกี่ยวกับการกระจายรายได้ ผมได้นำแผนภาพมาให้ดูพร้อมเปรียบเทียบกับประเทศไทยด้วยครับ

ผมขอสรุปสักนิดนะครับว่า คนชั้นล่าง (คือชั้นล่างสุดกับชั้นที่ 2) ของประเทศสหรัฐอเมริการวมกันได้ 70% ของประชากรทั้งหมดมีรายได้แค่ 40% ของประเทศเท่านั้น คนพวกนี้เกาะกันแน่นอยู่ที่บันไดขั้นล่างคือขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 เท่านั้น

นี่แหละครับที่เขาเรียกว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำ ถ้าเป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน จำนวนคนแต่ละชั้นควรจะถือครองทรัพย์และรายได้เท่ากันคือ 20% ของทั้งประเทศ หรือ ในอุดมคติถ้าจำนวนคนรวมกัน 40% ก็ควรจะถือครองทรัพย์สินจำนวน 40%

สำหรับประเทศไทยเรามีความไม่เป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำมากกว่านี้อีกครับ กล่าวคือคน 60% มีทรัพย์สินรวมกันแค่ 31% เท่านั้น ถ้าคิดบนฐานตัวเลขเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา คนไทยชั้นล่าง 70% รวมกันน่าจะมีรายได้ประมาณ 33-34% ของทั้งประเทศเท่านั้น (ไม่ใช่ 40%)

นอม ชอมสกี้ยังได้กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่คนที่อยู่เหนือขั้นบันไดขั้นที่สองขึ้นไปเล็กน้อยก็มีส่วนในการกำหนดนโยบายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่คนที่อยู่บนขั้นบนสุด (ซึ่งมี 4% ดังแผนภาพ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็น 1% บนสุด หรือถ้าเป็นพวก 0.1% คนพวกนี้จะได้สิ่งที่ตนต้องการทุกอย่างในประเทศ นั่นคือ สามารถกล่าวได้ว่าในสหรัฐอเมริกา คนจำนวน 0.1% เป็นผู้กำหนดนโยบาย

ดังนั้น มันไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ชื่อเรียกที่เหมาะสมน่าจะเป็น “ธนาธิปไตย (Plutocracy)” มากกว่า


ผู้บรรยายท่านนี้ให้ความเห็นว่า “การสืบค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก เพราะมันจะบอกประชาชนถึงสภาพจริงๆ ของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ แต่โชคดีที่รัฐสภาไม่สนับสนุนด้านการเงินในการสืบค้นหาความจริงในลักษณะนี้ ดังนั้นเราจึงไม่ต้องกังวลถึงอนาคต”

ในสหรัฐอเมริกา แม้ผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนพบว่า ประเด็นปัญหาสำคัญภายในประเทศที่ชัดเจนคือ การมีงานทำ แต่สำหรับผู้มั่งคั่งและสถาบันการเงินเห็นว่าปัญหาสำคัญคือ การขาดดุลการเงิน แต่แล้วนโยบายสำคัญของประเทศก็กลายเป็นเรื่องการแก้ปัญหาการขาดดุลการเงิน

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปนับสิบประเทศ ผลการเลือกตั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในจำนวนที่นั่งในสภาระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา แต่นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญก็ยังคงเหมือนเดิม คือการตัดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและขึ้นภาษีตามที่สหภาพยุโรปเป็นผู้กำหนดทิศทาง ดังนั้น การเลือกตั้งจึงแทบจะไม่มีความหมายเลย ยิ่งเป็นประเทศในโลกที่สามซึ่งถูกควบคุมโดยสถาบันการเงินนานาชาติก็ยิ่งชัดเจน

กลับมาที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ผลการสำรวจความคิดเห็นตลอด 35 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าคนส่วนใหญ่เห็นควรให้เพิ่มอัตราภาษีกับบรรษัทและผู้มั่งคั่ง แต่รัฐบาลกลับทำในสิ่งตรงกันข้ามคือลดอัตราภาษีลงมา (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 ลงมาเป็น 23% และ 20% ในเวลาอันสั้น ในขณะที่มีแนวโน้มจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10%)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ชอมสกี้ยังได้นำเสนอว่า ในบางครั้ง สหรัฐอเมริกาก็ถูกกระแนะกระแหนว่า “เป็นประเทศที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว (one-party state)” คือ พรรคธุรกิจ (business party) ที่มีสองชั้นคือ Democrats และ Republicans (เราคงเคยได้ยินการประชดว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็เหมือนกันการให้ประชาชนเลือกระหว่างน้ำอัดลมน้ำสีดำสองยี่ห้อซึ่งมีรสไม่ต่างกันนัก)

ชอมสกี้ ยังเสนอความเห็น แม้ในกลุ่มนักการเมืองที่เป็นเสรีนิยม เช่น ประธานาธิบดี Woodrow Wilson, Franklin Roosvelt และ John F.Kennedy ยังมองประชาชนว่า “เป็นพวกคนนอกที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวและชอบจุ้นจ้าน ควรจะอยู่ในที่ตั้ง การตัดสินใจต่างๆ ต้องขึ้นอยู่กับปัญญาชนจำนวนน้อยที่มีความรับผิดชอบ หน้าที่ของประชาชนคือการเฝ้าดู ไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติ”

คำบรรยายของศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงผู้นี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากครับ ท่านที่สนใจเชิญหาฉบับเต็มมาศึกษาดูครับ โดยการใช้ชื่อบทความดังที่กล่าวแล้ว

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและช่างเหมือนกับสถานการณ์ในเมืองไทยเปี๊ยบเลยครับ มาจากคำถามสุดท้ายของผู้ดำเนินรายการ ซึ่งผมได้นำมาเสนอเป็นภาพสไลด์ในเฟซบุ๊ก ดังที่แนบครับ

การทำงานของสื่อมวลชนกระแสหลักในประเทศไทยได้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หลังจากนั้นได้มีการเรียกร้องให้ “คลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นของประชาชน” แต่ในที่สุดก็ถูกนายทุนเข้ามาครอบงำ และสถานการณ์ก็รุนแรงขึ้นเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้รวมทั้งรัฐวิสาหกิจด้วย

ผมรู้สึกสงสัยมากว่า สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงาน ได้นำเงินมาจากไหน และด้วยวัตถุประสงค์ใดจึงได้เป็นผู้สนับสนุนรายงานถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์ในครั้งนี้

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงในการบรรยายของศาสตราจารย์ชอมสกี้ คือจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีผู้มาใช้สิทธิ์เพียง 58% ในขณะที่ครั้งล่าสุด ของไทยเรา (2554) เท่ากับ 75%

จากการสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตพบว่า ในอดีตยาวไกล คือ ในช่วงปี พ.ศ. 2383 ถึง 2439 คนอเมริกันมาใช้สิทธิ์กันประมาณ 75-80% แต่นับจากช่วงหลังสงครามเวียดนามเป็นต้นมา จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ตกต่ำลงมาก หลายครั้งไม่ถึง 50% เสียด้วยซ้ำ คำถามคือทำไม? ประเทศที่เป็นเจ้าของคำขวัญประชาธิปไตยที่คนทั่วโลกนำไปท่องกันจนขึ้นใจ จึงได้ลดศรัทธาลงมาอย่างมากขนาดนี้

คำตอบก็เป็นไปตามที่กล่าวมาแล้วคือ

(1) ประชาธิปไตยของนายทุนที่ดำรงอยู่จริงๆ (RECD) ได้เข้าไปแทรกแซงและกัดกินตับไตไส้พุงหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยจนแทบไม่เหลืออะไร คนส่วนน้อย 0.1% เป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศ และได้กอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนอยากได้ไปอย่างมูมมาม

(2) ใช้สื่อมวลชนที่ทุนสามานย์ซื้อได้อย่างเบ็ดเสร็จทำการ “ล้างสมอง” ประชาชน หลอกให้คนสนใจแต่สิ่งที่ไร้สาระ ในขณะเดียวกันก็บิดเบือนรวมทั้งไม่เสนอความจริงที่สำคัญต่อสาธารณะ เมื่อประชาชนมาตักเตือน สื่อเหล่านี้ก็อ้าง “หลักการในวิชาชีพ” โดยไม่มีการครุ่นคิดทบทวนอย่างโยนิโสมนสิการ

สาระสำคัญ 2 ประการดังกล่าวนี้ กำลังจะถูกรวมเล่มในหนังสือชื่อ “หนึ่งล้างสมองสองปล้น : รหัสลับการพัฒนาใต้เงาโลกาภิวัตน์” ของผมในเร็วๆ นี้ครับ แต่ไม่ทราบว่าจะขายได้ไหม!

การลุกขึ้นมาของประชาชนไทยจำนวนมหาศาลครั้งนี้ เป็นการสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ระบอบที่เป็นอยู่มีปัญหาจนไม่สามารถจะอดทนต่อไปได้อีกแล้ว ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ในเกือบทุกประเทศของยุโรป ก็มีปัญหา

เพียงแต่ว่าปัญหาของประเทศไทยกลับหนักหน่วงกว่าซึ่งสะท้อนในตัวเลขชัดเจนในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ศาสตราจารย์นามก้องโลกไม่ได้กล่าวถึงเลยก็คือ พรรคการเมืองในเมืองไทยได้กลายเป็นสมบัติส่วนตัว และผู้ใช้สิทธิ์ก็ถูกจ้างวานด้วยเงินไม่กี่ร้อยบาท

ดังนั้น ถ้าไม่รีบปฏิรูปประเทศไทยในตอนนี้ ประเทศเราจะยิ่งตกต่ำลงในทุกด้านมากกว่านี้ จนอาจจะถึงขั้นไม่เหลือต้นทุนหรือเชื้อทางจริยธรรมเพื่อทำประชาธิปไตยให้มีชีวิตชีวาตามอุดมการณ์ที่แท้จริงเลยก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น