xs
xsm
sm
md
lg

“การเลือกตั้งแทบไม่มีความหมายเลย”: อเมริกันวิพากษ์อเมริกาและโลก / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

“Elections are close to meaningless.” Noam Chomsky

ในขณะที่สังคมไทยกำลังถกเถียงกันอย่างเข้มข้นว่า “ต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” หรือจะ “ต้องเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูป” ดี ประกอบกับสถานทูตสหรัฐอเมริกาออกมาแสดงความเห็นบางประการต่อประเด็นปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว จึงทำให้ประเด็นนี้ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

ในสายตาของคนไทยทั่วไปแล้วอาจจะรู้สึกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย เท่าที่ผมจำได้นักโทษการเมืองในข้อหาขบถ (ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษมณ์ ปี 2481) ถึงกับกล่าวเป็นคำพูดสุดท้ายอย่างไม่มีอาการประหวั่นหวาดกลัวใดๆ หน้าหลักประหารว่า “หากชาติหน้ามีจริง ขอให้ได้ไปเกิดในประเทศที่มีเสรีภาพอย่างอเมริกา” แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นอย่างไร?

ผมได้ศึกษาคำบรรยายของศาสตราจารย์ชาวอเมริกันวัย 85 ปี นามก้องโลกท่านหนึ่งชื่อ นอม ชอมสกี้ ซึ่งนอกจากท่านได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งภาษาศาสตร์สมัยใหม่” แล้ว ท่านยังเป็นนักปรัชญา นักวิจารณ์การเมือง และนักกิจกรรมสังคม ชีวิตส่วนใหญ่ท่านเป็นอาจารย์ที่เอ็มไอที ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของโลกอีกเช่นเดียวกัน

คำพูดของท่านที่ผมยกมานี้ มาจากคำบรรยายในเวที Global Media Forum (เวทีสื่อมวลชนโลก) ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ในหัวข้อ “A Roadmap to a Just World -- People Reanimating Democracy” หรือ เส้นทางความสำเร็จสู่โลกที่เที่ยงธรรม - ประชาชนทำประชาธิปไตยให้มีชีวิตชีวา

คำบรรยายของท่านมีเนื้อหาสอดคล้องกับหัวข้อที่ตั้งไว้ครับ (แม้เนื้อหาออกจะหนักไปทางปัญหาประชาธิปไตยเสียมากกว่าเส้นทางความสำเร็จ) แต่ผมจะนำมาเล่า และเปรียบเทียบกับสังคมไทยก็เฉพาะที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย และการเลือกตั้งเท่านั้น

ในเบื้องต้นนี้ ผมขอเรียนสรุปเพื่อยั่วความอยากรู้ของท่านผู้อ่านก่อนว่า นักวิชาการนามอุโฆษชาวอเมริกันผู้นี้ได้สรุปว่า การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเอง รวมทั้งอีกหลายประเทศในยุโรปก็ไม่ได้สะท้อนความต้องการที่จะแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้เลย

ก่อนที่จะนำเสนอสาระในคำบรรยายดังกล่าว ผมขอย้อนไปที่องค์ประกอบสำคัญมาก 4 ด้านของความเป็นประชาธิปไตยตามที่ผมได้เคยเสนอไว้ก่อนแล้วนะครับ คือ (1) ระบบการเมืองสำหรับการเลือกหารัฐบาลโดยการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรม (2) การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประชาชนในฐานะพลเมืองผู้ตื่นรู้ (3) การปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมืองทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิชุมชนที่มักจะถูกละเมิดจากโครงการพัฒนาของรัฐ และ (4) การใช้หลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งกฎหมาย และกระบวนการใช้กฎหมายต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อพลเมืองทุกคน ไม่ใช่เพื่อลบล้างความผิดให้แก่พี่ชายของตนคนเดียว หรือการไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพันทุกองค์กร คณะรัฐมนตรี (มาตรา 27) เป็นต้น

ดังนั้น โดยสรุปในระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง และต่อให้การเลือกตั้งนั้นเป็นไปอย่างอิสระ และยุติธรรมจริงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่ามีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว

ต้องอาศัยอีก 3 องค์ประกอบที่เหลือข้างต้นด้วยครับ

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจกันง่ายขึ้น ลองพิจารณาประโยคในวิชาตรรกศาสตร์ที่ว่า “ถ้าเป็นคนแล้วต้องมีสองขา” แต่ “สิ่งที่มีสองขาอาจจะไม่ใช่คนก็ได้” หรือ “ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วต้องมีการเลือกตั้ง” แต่ “ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยก็ได้”

คราวนี้กลับมาที่คำบรรยายในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ตามทัศนะของผู้บรรยายกันต่อครับ

ในทัศนะของชาวอเมริกัน ซึ่งได้ปลูกฝังกันมาตั้งแต่ในโรงเรียนว่า “ประชาธิปไตยเป็นของ, โดย, และเพื่อประชาชน” แต่ชอมสกี้ ได้เรียกระบอบที่ดำรงอยู่นี้ว่า“really existing capitalist democracy” (ประชาธิปไตยของนายทุนที่ดำรงอยู่จริงๆ) สามารถเขียนคำย่อได้ว่า “RECD” ซึ่งโดยบังเอิญออกเสียงเหมือนกับคำว่า “Wrecked” ซึ่งแปลว่าอับปาง

สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ชอบทำโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนซึ่งทำโดยนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์การเมือง และมักจะทำได้แม่นยำด้วย ผลการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่าง “ทัศนคติ” กับ “นโยบาย” พบว่า ชาวอเมริกันที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำที่สุด กับกลุ่มรองต่ำสุด (ซึ่งรวมกันถึง 70% ของประชากรทั้งประเทศ) ไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบายของประเทศเลย พวกเขาไม่ได้รับสิทธิใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการโหวต และไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (They are effectively disenfranchised. -ประโยคของ Noam Chomsky)

เพื่อขยายความการเกี่ยวกับการกระจายรายได้ ผมได้นำแผนภาพมาให้ดูพร้อมเปรียบเทียบกับประเทศไทยด้วยครับ

ผมขอสรุปสักนิดนะครับว่า คนชั้นล่าง (คือชั้นล่างสุดกับชั้นที่ 2) ของประเทศสหรัฐอเมริการวมกันได้ 70% ของประชากรทั้งหมดมีรายได้แค่ 40% ของประเทศเท่านั้น คนพวกนี้เกาะกันแน่นอยู่ที่บันไดขั้นล่างคือ ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 เท่านั้น

นี่แหละครับที่เขาเรียกว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำ ถ้าเป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน จำนวนคนแต่ละชั้นควรจะถือครองทรัพย์ และรายได้เท่ากันคือ 20% ของทั้งประเทศ หรือ ในอุดมคติถ้าจำนวนคนรวมกัน 40% ก็ควรจะถือครองทรัพย์สินจำนวน 40%

สำหรับประเทศไทย เรามีความไม่เป็นธรรม หรือความเหลื่อมล้ำมากกว่านี้อีกครับ กล่าวคือ คน 60% มีทรัพย์สินรวมกันแค่ 31% เท่านั้น ถ้าคิดบนฐานตัวเลขเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา คนไทยชั้นล่าง 70% รวมกันน่าจะมีรายได้ประมาณ 33-34% ของทั้งประเทศเท่านั้น (ไม่ใช่ 40%)

นอม ชอมสกี้ ยังได้กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่คนที่อยู่เหนือขั้นบันไดขั้นที่สองขึ้นไปเล็กน้อยก็มีส่วนในการกำหนดนโยบายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่คนที่อยู่บนขั้นบนสุด (ซึ่งมี 4% ดังแผนภาพ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็น 1% บนสุด หรือถ้าเป็นพวก 0.1% คนพวกนี้จะได้สิ่งที่ตนต้องการทุกอย่างในประเทศ นั่นคือ สามารถกล่าวได้ว่าในสหรัฐอเมริกา คนจำนวน 0.1% เป็นผู้กำหนดนโยบาย

ดังนั้น มันไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ชื่อเรียกที่เหมาะสมน่าจะเป็น “ธนาธิปไตย (Plutocracy)” มากกว่า

ผู้บรรยายท่านนี้ให้ความเห็นว่า “การสืบค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก เพราะมันจะบอกประชาชนถึงสภาพจริงๆ ของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ แต่โชคดีที่รัฐสภาไม่สนับสนุนด้านการเงินในการสืบค้นหาความจริงในลักษณะนี้ ดังนั้น เราจึงไม่ต้องกังวลถึงอนาคต”

ในสหรัฐอเมริกา แม้ผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนพบว่า ประเด็นปัญหาสำคัญภายในประเทศที่ชัดเจนคือ การมีงานทำ แต่สำหรับผู้มั่งคั่ง และสถาบันการเงินเห็นว่าปัญหาสำคัญคือ การขาดดุลการเงิน แต่แล้วนโยบายสำคัญของประเทศก็กลายเป็นเรื่องการแก้ปัญหาการขาดดุลการเงิน

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปนับสิบประเทศ ผลการเลือกตั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในจำนวนที่นั่งในสภาระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา แต่นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญก็ยังคงเหมือนเดิม คือ การตัดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และขึ้นภาษีตามที่สหภาพยุโรปเป็นผู้กำหนดทิศทาง ดังนั้น การเลือกตั้งจึงแทบจะไม่มีความหมายเลย ยิ่งเป็นประเทศในโลกที่สามซึ่งถูกควบคุมโดยสถาบันการเงินนานาชาติก็ยิ่งชัดเจน

กลับมาที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ผลการสำรวจความคิดเห็นตลอด 35 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าคนส่วนใหญ่เห็นควรให้เพิ่มอัตราภาษีกับบรรษัท และผู้มั่งคั่ง แต่รัฐบาลกลับทำในสิ่งตรงกันข้ามคือ ลดอัตราภาษีลงมา (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 ลงมาเป็น 23% และ 20% ในเวลาอันสั้น ในขณะที่มีแนวโน้มจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10%)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ชอมสกี้ ยังได้นำเสนอว่า ในบางครั้ง สหรัฐอเมริกาก็ถูกกระแหนะกระแหนว่า “เป็นประเทศที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว (one-party state)” คือ พรรคธุรกิจ (business party) ที่มีสองชั้นคือ Democrats และ Republicans (เราคงเคยได้ยินการประชดว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็เหมือนกันการให้ประชาชนเลือกระหว่างน้ำอัดลมน้ำสีดำสองยี่ห้อ ซึ่งมีรสไม่ต่างกันนัก)

ชอมสกี้ ยังเสนอความเห็น แม้ในกลุ่มนักการเมืองที่เป็นเสรีนิยม เช่น ประธานาธิบดี Woodrow Wilson, Franklin Roosvelt และ John F.Kennedy ยังมองประชาชนว่า “เป็นพวกคนนอกที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว และชอบจุ้นจ้าน ควรจะอยู่ในที่ตั้ง การตัดสินใจต่างๆ ต้องขึ้นอยู่กับปัญญาชนจำนวนน้อยที่มีความรับผิดชอบ หน้าที่ของประชาชนคือ การเฝ้าดู ไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติ”

คำบรรยายของศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงผู้นี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากครับ ท่านที่สนใจเชิญหาฉบับเต็มมาศึกษาดูครับ โดยการใช้ชื่อบทความดังที่กล่าวแล้ว

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ และช่างเหมือนกับสถานการณ์ในเมืองไทยเปี๊ยบเลยครับ มาจากคำถามสุดท้ายของผู้ดำเนินรายการ ซึ่งผมได้นำมาเสนอเป็นภาพสไลด์ในเฟซบุ๊ก ดังที่แนบครับ

การทำงานของสื่อมวลชนกระแสหลักในประเทศไทยได้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้แก่ประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หลังจากนั้นได้มีการเรียกร้องให้ “คลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นของประชาชน” แต่ในที่สุดก็ถูกนายทุนเข้ามาครอบงำ และสถานการณ์ก็รุนแรงขึ้นเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจด้วย

ผมรู้สึกสงสัยมากว่า สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงาน ได้นำเงินมาจากไหน และด้วยวัตถุประสงค์ใดจึงได้เป็นผู้สนับสนุนรายงานถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์ในครั้งนี้

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงในการบรรยายของศาสตราจารย์ชอมสกี้ คือ จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีผู้มาใช้สิทธิเพียง 58% ในขณะที่ครั้งล่าสุด ของไทยเรา (2554) เท่ากับ 75%

จากการสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตพบว่า ในอดีตยาวไกล คือ ในช่วงปี พ.ศ.2383 ถึง 2439 คนอเมริกันมาใช้สิทธิกันประมาณ 75-80% แต่นับจากช่วงหลังสงครามเวียดนามเป็นต้นมา จำนวนผู้ใช้สิทธิตกต่ำลงมาก หลายครั้งไม่ถึง 50% เสียด้วยซ้ำ คำถามคือทำไม? ประเทศที่เป็นเจ้าของคำขวัญประชาธิปไตยที่คนทั่วโลกนำไปท่องกันจนขึ้นใจ จึงได้ลดศรัทธาลงมาอย่างมากขนาดนี้

คำตอบก็เป็นไปตามที่กล่าวมาแล้วคือ

(1) ประชาธิปไตยของนายทุนที่ดำรงอยู่จริงๆ (RECD) ได้เข้าไปแทรกแซง และกัดกินตับไตไส้พุง หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยจนแทบไม่เหลืออะไร คนส่วนน้อย 0.1% เป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศ และได้กอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนอยากได้ไปอย่างมูมมาม

(2) ใช้สื่อมวลชนที่ทุนสามานย์ซื้อได้อย่างเบ็ดเสร็จทำการ “ล้างสมอง” ประชาชน หลอกให้คนสนใจแต่สิ่งที่ไร้สาระ ในขณะเดียวกัน ก็บิดเบือน รวมทั้งไม่เสนอความจริงที่สำคัญต่อสาธารณะ เมื่อประชาชนมาตักเตือน สื่อเหล่านี้ก็อ้าง “หลักการในวิชาชีพ” โดยไม่มีการครุ่นคิดทบทวนอย่างโยนิโสมนสิการ

สาระสำคัญ 2 ประการดังกล่าวนี้ กำลังจะถูกรวมเล่มในหนังสือชื่อ “หนึ่งล้างสมองสองปล้น : รหัสลับการพัฒนาใต้เงาโลกาภิวัตน์” ของผมในเร็วๆ นี้ครับ แต่ไม่ทราบว่าจะขายได้ไหม!

การลุกขึ้นมาของประชาชนไทยจำนวนมหาศาลครั้งนี้ เป็นการสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ระบอบที่เป็นอยู่มีปัญหาจนไม่สามารถจะอดทนต่อไปได้อีกแล้ว ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ในเกือบทุกประเทศของยุโรป ก็มีปัญหา

เพียงแต่ว่าปัญหาของประเทศไทยกลับหนักหน่วงกว่าซึ่งสะท้อนในตัวเลขชัดเจนในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ศาสตราจารย์นามก้องโลกไม่ได้กล่าวถึงเลยก็คือ พรรคการเมืองในเมืองไทยได้กลายเป็นสมบัติส่วนตัว และผู้ใช้สิทธิก็ถูกจ้างวานด้วยเงินไม่กี่ร้อยบาท

ดังนั้น ถ้าไม่รีบปฏิรูปประเทศไทยในตอนนี้ ประเทศเราจะยิ่งตกต่ำลงในทุกด้านมากกว่านี้ จนอาจจะถึงขั้นไม่เหลือต้นทุน หรือเชื้อทางจริยธรรมเพื่อทำประชาธิปไตยให้มีชีวิตชีวาตามอุดมการณ์ที่แท้จริงเลยก็ได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น