xs
xsm
sm
md
lg

นาซาปล่อยคลิป “โลก-ดวงจันทร์” เต้นระบำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากคลิปโลกและดวงจันทร์ที่บันทึกโดยยานจูโนของนาซา
นาซาปล่อยคลิป “โลก-ดวงจันทร์” เต้นระบำ ที่เผยภาพหาดูยากขณะดวงจันทร์เคลื่อนผ่านโลก ซึ่งบันทึกโดยยาน “จูโน” ที่ผ่านใกล้โลกเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มความเร็วก่อนมุ่งหน้าสู่ดาวพฤหัสบดีในอีก 3 ปีข้างหน้า

ยานอวกาศจูโน (Juno) สำหรับศึกษาดาวพฤหัสบดีขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) บินผ่านใกล้โลกเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อ 9 ต.ค.2013 ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มความเร็วก่อนมุ่งหน้าสู่ดาวเคราะห์ก๊าซขนาดยักษ์ในวันที่ 4 ก.ค.2016 ซึ่งข้อมูลจากนาซาที่เปิดเผยออกมาระบุว่า ยานสำรวจดาวเคราะห์ได้รับความเร็วเพิ่มขึ้นมากกว่า 7.3 กิโลเมตรต่อวินาที

ระหว่างที่ยานจูโนบินผ่านบ้านเป็นครั้งสุดท้ายนั้น ได้ใช้เซนเซอร์ซึ่งเป็นกล้องแบบพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อติดตามดวงดาวที่ริบหรี่ บันทึกภาพระบบโลกและดวงจันทร์ ซึ่งเผยภาพความละเอียดต่ำของโลกเราในมุมมองที่ผู้มาเยือนจากที่ไกลๆ จะมองเห็น โดยกล้องดังกล่าวคือ แอดวานซ์สเตลลาร์คอมพาส (Advanced Stellar Compass) หรือ เอเอสซี (ASC) ติดตั้งอยู่ที่ปลายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของยานที่มีอยู่ทั้งหมด 3 แผง และเป็นส่วนหนึ่งของอุปกร์ณตรวจสนามแม่เหล็กที่ใช้ประเมินทิศทางของเซนเซอร์แม่เหล็ก

ขณะที่โลกและดวงจันทร์ถูกบันทึกภาพนั้นยานจูโนอยู่ห่างออกไปประมาณ 966,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทาง 3 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์ และขณะที่ยานอวกาศผ่านใกล้โลกนั้นยานได้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากกว่าดาวเทียมโดยทั่วไปประมาณ 2 เท่า และยานอวกาศหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็ว 2 รอบต่อนาที (rpm) และเพื่อให้ภาพชวนเวียนหัว เซนเซอร์บันทึกภาพได้กำหนดกรอบภาพและบันทึกภาพในกรอบเดียวนั้น แล้วส่งกลับมายังโลกเพื่อผลิตเป็นคลิปวิดีโอ

ทั้งนี้ นาซาได้ประมวลภาพที่ยานจูโนบันทึกแล้วผลิตเป็นวิดีโอพร้อมเสียงดนตรีที่ประพันธ์โดย แวนเจลลิส (Vangelis) นักดนตรีคลาสสิคผู้โด่งดัง และเผยแพร่คลิปดังกล่าวผ่านทางยูทิวบ์






สก็อตต์ โบลตัน (Scott Bolton) นักวิทยาสาสตร์หลักของโครงการยานจูโนให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีนิวส์ว่า ภาพดังกล่าวน่าจะทำให้ประชาชนได้ใคร่ครวญถึงตำแหน่งที่อยู่ของเราในเอกภพแห่งนี้ โดยมนุษย์ดลกจะได้เห็นโลกแลละดวงจันทร์ในมุมเคลื่อนไหว และการเต้นระบำในอวกาศของทั้งสอง ซึ่งเขาเชื่อว่าทุกสิ่งที่อย่างถูกรวมเข้าไปในมุมมองนั้น

“คุณอาจพอจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน คาร์ล ซาแกน (Carl Sagan) ได้บันทึกภาพที่เขาเรียกว่า Pale Blue Dot และสร้างประเด็นที่สำคัญมากๆ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกสิ่งอย่างที่เรารู้จักนั้นรวมอยู่บนจุดเล็กๆ นี้ และผมเชื่อว่า วิดีโอของเราก็ให้ทำอย่างเดียวกัน แต่ทำในรูปภาพเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่ภาพนิ่ง” โบลตันกล่าวกับทางบีบีซีนิวส์

สำหรับยานจูโนนั้น ถูกส่งขึ้นไปจากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในฟลอริดา สหรัฐฯ เมื่อ 5 ส.ค.2011 แต่เพื่อเพิ่มความเร็วให้ส่งยานไปดาวพฤหัสบดี จึงต้องกำหนดให้ยานโคจรผ่านมาใกล้โลกอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา และทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ตระหนักดีว่านอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้ว การผ่านมาใกล้โลกในครั้งสุดท้ายนี้ยังจะให้มุมมองที่สำคัญอีกด้วย
ภาพจำลองเหตุการณ์ขณะยานจูโนผ่านใกล้โลกเพื่อเพิ่มความเร็วก่อนมุ่งหน้าสู่ดาวพฤหัสบดี (นาซา/บีบีซีนิวส์)
(ซ้าย) ภาพยานจูโนซึ่งประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ 3 แผง และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 7 อย่าง สำหรับศึกษาดาวพฤหัสบดี (ขวา) ภาพเส้นทางของยานจูโน (เส้นสีขาว) ที่ผ่านวงโคจรของดาวเคราะห์ต่างๆ รอบดวงอาทิตย์ โดยยานถูกปล่อยจากโลก (วงโคจรสีฟ้า) เมื่อ 5 ส.ค.2011 และผ่านใกล้โลกอีกครั้งเมื่อ 9 ต.ค.2013 เพื่อเพิ่มความเร็วเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสบดี (วงโคจรสีส้ม) ในวันที่ 5 ก.ค.2016 (นาซา/บีบีซีนิวส์)






กำลังโหลดความคิดเห็น