นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวฟิลิปปินส์ใช้กล้อง “หอดูดาวแห่งชาติ” บนยอดดอยอินทนนท์บันทึกภาพดาวพฤหัสได้คุณภาพใกล้เคียงกล้อง “ฮับเบิล” ในอวกาศที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ระบุนาซาพยายามถ่ายด้วยกล้องอื่นแต่ไม่ประสบความสำเร็จ อนาคตจะใช้เป็นตัวช่วยการทำงานของ “ยานจูโน” ที่นาซาส่งไปศึกษาดาวพฤหัสบดี
ระหว่างเยี่ยมชมหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาหรือหอดูดาวแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ ณ สถานีทวนสัญญาณทีโอที (กม. 44.4) อุทยานแห่งชาติอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้พบกับ คริสโตเฟอร์ โก (Christopher Go) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งเดินทางมาใช้กล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตรของหอดูดาวบันทึกภาพดาวเคราะห์ พร้อมทั้งเผยแพร่เทคนิคการถ่ายภาพดาวเคราะห์แก่เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)
ผลงานที่สร้างชื่อของโกคือการค้นพบจุดแดงน้อย (Red Spot Junior) หรือจุดแดงจุดใหม่ซึ่งเป็นพายุบนดาวพฤหัสบดี และในโอกาสที่เขามาเยือนหอดูดาวแห่งชาติ เขาได้บันทึกภาพดาวพฤหัสบดีในช่วงคลื่นอินฟราเรดด้วยเทคนิค “ลัคกี้อิมเมจิง” (Lucky Imaging) จากการบันทึกวิดีโอดาวพฤหัสบดี แล้วใช้ซอฟท์แวร์เลือกเอาบริเวณที่ดีที่สุดของภาพออกมารวมเป็นภาพดาวพฤหัสที่คมชัดที่สุด และเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.57 เขาบันทึกได้ภาพที่มีคุณภาพเทียบเท่า 80% ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) ซึ่งมีขนาดเท่ากับกล้องของหอดูดาวไทย
“ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) เห็นภาพนี้แล้วรู้สึกประทับใจมาก เพราะเคยใช้กล้องที่มีขนาดเท่ากับกล้องโทรทรรศน์ของไทย แต่ก็ไม่เคยได้ภาพที่มีคุณภาพขนาดนี้ นับว่าหอดูดาวแห่งชาติของไทยให้ภาพดีที่สุดในบรรดากล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกที่มีขนาดเท่ากัน” นักดาราศาสตร์สมัคเล่นจากฟิลิปปินส์ระบุ
นอกจากนี้โกยังให้เหตุผลที่เดินทางมาใช้กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแห่งชาติว่า เนื่องจากขนาดกล้องเท่ากับกล้องฮับเบิล และตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม อีกทั้งมีสภาพท้องฟ้าที่เหมาะแก่การถ่ายภาพดาราศาสตร์ ในขณะที่มีคนต้องการใช้บริการกล้องฮับเบิลจำนวนมากและมีเพียง 100 กว่าคนที่เข้าถึงการใช้กล้องฮับเบิล เขาจึงพยายามพัฒนาเทคนิคที่ทำให้กล้อง 2.4 เมตรของไทยบันทึกภาพที่มีความละเอียดสูงและมีคุณภาพใกล้เคียงกล้องฮับเบิล โดยเน้นเทคนิคการแต่งภาพ และเผยด้วยว่าภาพจากฟิลเตอร์อินฟราเรดของหอดูดาวได้รับการยอมรับจากนาซาว่าเป็นภาพดีที่สุดที่บันทึกได้จากพื้นโลก
ภาพดาวพฤหัสบดีที่บันทึกได้นี้โกระบุว่าจะเป็นข้อมูลช่วยนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซาในการสนับสนุนการทำงานของยานอวกาศจูโน (Juno) ที่นาซาส่งขึ้นไปศึกษาดาวพฤหัสบดี โดยจะไปถึงเป้าหมายในอีก 2 ปีข้างหน้าคือเดือน ส.ค.2559 แต่ปีหน้าต้องใช้ข้อมูลในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวแล้ว เขาจึงร่วมมือพัฒนากับ สดร.โดยพยายามเก็บข้อมูลจากหอดูดาวแห่งชาติบนยอดดอยอินทนนท์
“ประโยชน์จากการบันทึกภาพดาวพฤหัสทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากมาย เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับพายุบนดาวพฤหัส ซึ่งพายุเหล่านั้นเหมือนกับพายุที่เกิดขึ้นบนโลก ผมเองมาจากประเทศที่เจอกับพายุไต้ฝุ่นเยอะมาก เราอยากรู้ว่าพายุเหล่านั้นเคลื่อนตัวยังไง เราเรียนรู้พายุเหล่านั้นจากดาวเคราะห์อื่น แน่นอนเราต้องเรียนรู้เรื่องดาวเคราะห์ดวงอื่น เพราะในอนาคตเราจะต้องออกไปยังดาวเคราะห์เหล่านั้นเพื่อเอาทรัพยากร เมื่อเราจะไปเยือนดาวเคราะห์เหล่านั้น เราจึงต้องเริ่มศึกษาตั้งแต่ตอนนี้” โกกล่าว
นักดาราศาสตร์สมัครเล่นจากฟิลิปปินส์ระบุอีกว่า อีกผลที่ต้องศึกษาดาวเคราะห์ดังกล่าวคือเพื่อเป็นเป็นแรงบันดาลใจแก่เยาวชนรุ่นใหม่ เนื่องจากดาราศาสตร์เป็นเรื่องน่าสนใจและดึงให้เยาวชนสนใจวิทยาศาสตร์ได้ง่าย ที่สำคัญไม่มีประเทศไหนในโลกที่พัฒนาได้โดยปราศจากการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์นั้นสร้างเทคโนโลยีที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต
“คุณลองจินตนาการดูว่าจะอย่างไร ถ้าเราไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต แล้วคิดว่าธุรกิจเติบโตไปมากแค่ไหนด้วยอินเทอร์เน็ต นี่คือสิ่งที่เทคโนโลยีสร้างให้เกิดการพัฒนา เราจึงต้องส่งเสริมเยาวชนให้สนใจวิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ก็มีส่วนส่งเสริมความสนใจวิทยาศาสตร์ เพราะเด็กๆ ทุกคนสนใจเรื่องราวบนฟ้าอยู่แล้ว” โกกล่าว