ระหว่างมุ่งหน้าสู่ดาวเคราะห์ดวงใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ “จูโน” ยานสำรวจดาวพฤหัสของนาซาได้หันกลับมาบันทึกภาพโลกและดวงจันทร์ส่งกลับบ้านเป็นภาพแรก ตอกย้ำความต่ำต้อยของเราในเอกภพ
“นี่เป็นมุมมองพิเศษที่คนทั่วไปยากจะได้เห็น เป็นภาพดาวเคราะห์ของเราที่แสดงให้เห็นว่าโลกเมื่อมองจากข้างนอกเป็นอย่างไร แสดงให้เห็นมุมพิเศษของบทบาทเราและสถานที่ของเราในเอกภพ เราได้เห็นความต่ำต้อยแต่สวยงามของตัวเรา” สก็อตต์ บอลตัน (Scott Bolton) ผู้ตรวจการณ์หลักในโครงการจูโนของสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ (Southwest Research Institute) ในซานอันโตนิโอ สหรัฐฯ กล่าว
ภาพโลกและดวงจันทร์ขนาดเล็กจิ๋วในอวกาศอันมืดมิดถูกบันทึกเมื่อวันที่ 26 ส.ค.54 ด้วยกล้อง “จูโนแคม” (JunoCam) ของยานจูโน (Juno) ยานสำรวจดาวพฤหัสบดีขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ขณะอยู่ห่างออกไป 9.66 ล้านกิโลเมตร และทีมติดตามยานกำลังตรวจสอบรายรายละเอียดเบื้องต้นของเครื่องมือและระบบย่อยของยาน หลังจากที่ปล่อยยานลำนี้ออกไปเมื่อ 5 ส.ค.54
ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของนาซาระบุว่า ยานจูโนออกห่างจากโลกไปไกลกว่าระยะทางระหว่างโลกและดวงจันทร์ คือ ประมาณ 402,000 กิโลเมตร ภายในเวลาไม่ถึงวัน
ทั้งนี้ ยานที่อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ลำนี้ต้องใช้เวลาอีก 5 ปี และระยะทางอีกประมาณ 2,800 ล้านกิโลเมตรไปให้ถึงเป้าหมายเพื่อสำรวจดวงจันทร์ โดยยานลำนี้ขะโคจรรอบขั้วดาวพฤหัส 33 ครั้ง และใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ติดไปด้วย 8 ชิ้น เพื่อตรวจพิสูจน์สิ่งที่อยู่ใต้หมอกหนาของดาวเคราะห์ก๊าซ เพื่อศึกษาถึงกำเนิดของดาวดวงนี้ให้มากขึ้น รวมถึงโครงสร้าง ชั้นบรรยากาศ และสนามแม่เหล็กของดาว และยังต้องหาแกนกลางของดาวที่เป็นของแข็งด้วย