สมาคมตลาดตราสารหนี้เผยเดือน พ.ค. ต่างชาติเริ่มขายตราสารหนี้ระยะสั้น แต่คงซื้อตราสารระยะยาวต่อเนื่อง กังวลแบงก์ชาติออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท
นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ยอมรับว่า แม้เดือน พ.ค.นี้ บรรยากาศการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดยังอยู่ในภาวะปกติ แต่ตราสารหนี้ระยะสั้น เริ่มเห็นสัญญาณการขายออกมาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงทำให้ยอดถือครองสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่เคยขึ้นไปสูงถึง 8.60 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 8.48 แสนล้านบาท
ส่วนตราสารหนี้ระยะยาวยังมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่อง เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแข็งแกร่ง แม้ไตรมาสแรกปีนี้ ตัวเลขการเติบโตอาจจะออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้บ้าง แต่โดยภาพรวมทั้งปีเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยจะโตได้ในระดับ 5.0% อยู่ ซึ่งเป็นระดับที่ดี ในแง่ของเงินลงทุนระยะยาวก็ยังไหลเข้ามาต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันสภาพคล่องในระบบโลกยังล้นอยู่ จึงไม่ต้องการให้ความกังวลในระยะสั้นมาทำลายบรรยากาศการลงทุนระยะยาวในตลาดตราสารหนี้ไป
“ตลาดตราสารหนี้ไม่ได้รับผลกระทบต่อถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เหมือนตลาดหุ้น เพราะนักลงทุนเป็นคนละกลุ่ม ส่วนปัจจัยในประเทศจากความไม่ชัดเจนเรื่องการใช้มาตรการดูแลค่าเงินอาจทำให้ต่างชาติกังวล เพราะรายละเอียดของมาตรการจริงๆ ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน และการส่งสัญญาณของภาครัฐออกมา ก็มุ่งดูแลเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นเป็นหลัก จึงทำให้เห็นแรงขายตราสารหนี้ระยะสั้นของต่างชาติออกมา”
นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทางการคงไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการอะไรออกมา แค่เข้าไปดูแลบริหารค่าเงินบาทตามปกติของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเพียงพอที่จะส่งสัญญาณว่าจะมีการดูแลค่าเงินบาทในระดับหนึ่ง และอาจมีมาตรการในภาวะที่จำเป็นเท่านั้น ช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 6.0% ขณะที่มาเลเซียแข็งค่าขึ้นมา 4.0-5.0% แต่ช่วง 4-6 เดือนหลังมานี้ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียกลับมาแข็งค่ากว่าเงินบาทแล้ว ถ้ามองด้วยพื้นฐานความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการออกมาดูแลค่าเงินบาทคิดว่าไม่จำเป็นแล้ว และหากรัฐมีความชัดเจนเรื่องการใช้ หรือไม่ใช้มาตรการดูแลค่าเงินออกมาให้ชัด ก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ออกไปในช่วงที่ผ่านมา กลับเข้ามาในตลาดด้วยเช่นกัน แต่คงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า
“ไม่อยากให้ภาพระยะสั้นมาส่งผลต่อภาพการลงทุนระยะยาวในตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติไป เพราะไทยยังมีความจำเป็นต้องการเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ปัจจุบันมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้เช่นกันแต่คงไม่ได้มากถึงระดับ 1.0% แต่ในช่วง 0.25-0.50% มีความเป็นไปได้ และตลาดก็มองไว้ที่ระดับเดียวกันนี้เช่นกัน”