โดยพอพิศ ยอดแสง
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมคลาดตราสารหนี้ไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้นโยบายการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ และการกดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำอย่างที่หลายประเทศเลือกใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้เกิดความเสี่ยงจากการเร่งตัวของราคาสินทรัพย์ในระยะสั้น และเกิดอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว การมุ่งแต่จะทำให้ค่าเงินในประเทศตนเองอ่อนลงเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบการเงินของโลกเกิดความผันผวนอันเนื่องมาจากสภาพคล่องส่วนเกินกระแสเงินจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่
การแข็งค่าของเงินหลายสกุลในเอเชีย และความผันผวนของราคาสินทรัพย์ เช่น ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่มีการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าที่ราคาปรับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือตลาดหุ้นในประเทศไทยที่ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,600 จุด หรือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 19 ปี
ทั้งนี้ หากเราวิเคราะห์การปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นบางตัว ประกอบกับพฤติกรรมของนักลงทุน จะพบว่าหุ้นบางตัวโดยเฉพาะในหุ้นขนาดกลางและเล็กราคาปรับตัวสูงขึ้นตามแรงเก็งกำไรเป็นหลัก มากกว่าการเลือกลงทุนจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากภายในระยะเวลาสั้นๆ เป็นสิ่งจูงใจที่ทำให้นักลงทุนผู้อาจเคยต้องการความมั่นคงเน้นลงทุนในระยะยาวเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นนักเก็งกำไรหน้าใหม่ และความผันผวนที่เกิดอาจทำให้นักลงทุนต้องใช้ความรอบคอบ และพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานในการลงทุนและใช้ความระมัดระวังการลงทุนมากเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ นับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน โดยในช่วงต้นเดือนนักลงทุนกลุ่มนี้มียอดซื้อสุทธิเฉลี่ยวันละกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งผู้เขียนมองว่าเงินทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในรอบนี้ไม่ได้เป็นลักษณะของการเข้ามาเพื่อเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หากแต่เป็นการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากอัตราการไหลเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นการสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และเมื่อพิจารณาข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ เราพบว่ามูลค่าตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติถืออยู่เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ย 4.6 ปี และเมื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก
ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยจึงไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักในการดึงดูดให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบนี้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะพบว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเน้นลงทุนในตราสารระยะสั้น มาเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวอายุตั้งแต่ 5 ปี จนถึง 20 ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนในตราสารระยะสั้น (ตราสารหนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี) อยู่ที่ประมาณ 25% ดังนั้น หากมองว่าการที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้นมีปัจจัยที่สำคัญมาจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ก็อาจจะไม่ผิดนัก
อย่างไรก็ตาม แม้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานที่ดีของเศรษฐกิจไทย แต่การที่ภาคการส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากการที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นราว 3.5% นับตั้งแต่ต้นปี
ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะมีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ารวดเร็วเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมในการดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาทไว้แล้ว เพียงแต่อาจนำมาใช้ในเวลา และจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติมากที่สุด