xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยไทยเพาะไวรัสหมื่นสายพันธุ์ ปูทางวัคซีนไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.บรรพท ศิริเดชาดิลก สาธิตขั้นตอนการวิเคราะห์ไวรัส
จากปัญหาสาธารณสุขที่ยังไม่มีวัคซีนและยารักษาไข้เลือดออก นักวิจัยไทยจึงขอรับทุนจากแคนาดาที่เปิดโอกาสแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อใช้เทคนิคใหม่ในการเพาะไวรัสให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าวิธีเดิมได้นับหมื่นเท่า ปูทางสู่การพัฒนาวัคซีนจากการคัดเลือกไวรัสที่เหมาะสม

ดร.บรรพท ศิริเดชาดิลก นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน และยารักษาโรคไข้เลือดออก อุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาวัคซีนและยาคือการไม่เงินทุน เนื่องจากเป็นโรคในประเทศยากจน เพราะระบาดโดยมียุงเป็นพาหะ แต่ในโซนอบอุ่นที่มีอากาศเย็นกว่าแถบเส้นศูนย์สูตรนั้นมีการแพร่กระจายของยุงน้อยกว่า

“เมื่อเปรียบเทียบกับโรคไวรัสตับเอกเสบซี ซึ่งเกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกับไข้เลือดออก และเพิ่งค้นพบเมื่อปี 2533 แต่มีแนวโน้มว่าในอีก 5-10 ปีจะมียารักษาแล้ว เพราะโรคนี้เป็นโรคที่ชาวตะวันตกเป็นเยอะ จึงมีการทุ่มเงินวิจัยลงไปมากกว่า ในขณะที่โรคไข้เลือดออกนั้นรู้จักมานานกว่ามาก แต่ตอนนี้ยังไม่มียาหรือวัคซีนรักษาเลย” ดร.บรรพท ซึ่งศึกษาเรื่องไวรัสตับอักเสบซีเมื่อครั้งศึกษาระดับปริญญาเอกที่สหรัฐฯ มาก่อนกล่าว

นอกจากปัจจัยในเรื่องเงินทุนแล้วในด้านเทคนิคก็เป็นอีกอุปสรรคในการพัฒนาวัคซีนและยารักษาไข้เลือดออก โดยนักวิจัยไบโอเทคกล่าวว่า วัคซีนไข้เลือดออกที่เคยพัฒนามาร่วม 10 ปี และเป็นความหวังว่าจะป้องกันไข้เลือดออกได้ กลับไม่ประสบความสำเร็จและให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจเมื่อมาถึงขั้นการทดลองในมนุษย์ ทำให้นักวิจัยต้องกลับมาขบคิดกันใหม่ถึงปัญหาของการพัฒนาวัคซีน

การพัฒนาวัคซีนนั้น ดร.บรรพท สรุปง่ายๆ 3 ขั้นตอนคือ พัฒนาหาเชื้อไวรัสที่จะนำไปผลิตเป็นวัคซีน จากนั้นนำไปทดลองในสัตว์ทดลอง เช่น หนู ลิง เป็นต้น เมื่อผ่านขั้นตอนดังกล่าว จึงไปสู่ขั้นตอนการทดลองในมนุษย์โดยเริ่มจากการทดลองในมนุษย์กลุ่มเล็กๆ ไม่กี่สิบคน หากได้ผลจึงทดลองในมนุษย์ในกลุ่มใหญ่ขึ้นเพื่อวิเคราะห์ระบบภูมิคุ้ม แล้วทดลองต่อในกลุ่มประชากรมนุษย์เป็นแสนคนขึ้นไป จนมั่นใจว่าได้ผลน่าพอใจจึงได้เป็นวัคซีนป้องกันโรค

สำหรับงานวิจัยของ ดร.บรรพท เป็นขั้นตอนแรกสุดของการพัฒนาวัคซีนคือพัฒนาเชื้อไวรัสเด็งกี่มีชีวิตที่อ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine approach) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาวัคซีน ซึ่งเทคนิคเดิมนั้นเพาะไวรัสด้วยการเลี้ยงในแบคทีเรีย และนิยมใช้แบคทีเรีย อี.โคไล (E.coli) เป็นเจ้าบ้าน (Host) สำหรับเพาะเลี้ยงไวรัส แต่ปัญหาคือใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงไวรัสนาน และแบคทีเรียเจ้าบ้านที่ไวรัสอาศัยอยู่อาจเปลี่ยนตำแหน่งพันธุกรรมไวรัสในตำแหน่งที่นักวิจัยไม่ต้องการ เขาจึงเทคนิคใหม่เพื่อสร้างเชื้อไวรัสให้กลายพันธุ์ได้พันธุกรรมที่หลากหลายกว่าเดิมหลายหมื่นเท่า

เทคนิคใหม่เป็นการต่อดีเอ็นเอที่พัฒนาขึ้นมาเมื่อปี 2553 ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์แบคทีเรียขึ้นในห้องปฏิบัติการ ซึ่ง ดร.บรรพท ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการสังเคราะห์ไวรัสที่มีสายพันธุกรรมสั้นกว่า โดยเพาะไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง 2 ชนิด คือเซลล์มะเร็งมนุษย์ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส และเซลล์ต่อมน้ำลายยุงที่อุณหภูมิ 28 องเศาเซลเซียส และนับเป็นกลุ่มวิจัยแรกๆ ที่ใช้เทคนิคนี้ในการสร้างไวรัส ซึ่งยังมีนักวิจัยอีก 2 กลุ่มที่ใช้เทคนิคเดียวกันนี้สร้างไวรัส คือนักวิจัยในสหรัฐฯ ที่เพาะไวรัสเพื่อผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และนักวิจัยในออสเตรเลียที่เพาะไวรัสเพื่อผลิตวัคซีนไวรัสเวสต์ไนล์ (Westnile Virus)

ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยและประเทศในเขตร้อนและร้อนชื้น โดยแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกประมาณ 100 ล้านคน และมีประชากรราว 3,000 คนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก และในส่วนของ ดร.บรรพทนั้นได้รับทุนวิจัย 3 ล้านบาท จากแกรนด์ชาเลนจ์แคนาดา (Grand Challenge Canada) องค์กรสนับสนุนทุนวิจัยจากแคนาดา เพื่อเพาะเลี้ยงไวรัสด้วยเทคนิคใหม่นี้ โดยมีระยะเวลาในการวิจัย 18 เดือน
เตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ
ดร.บรรพท แนะนำห้องปฏิบัติการเลี้ยงเชื้อ






กำลังโหลดความคิดเห็น