xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จัก "โรคไข้เหลือง" กันเถอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคไข้เหลืองเป็นโรคติดเชื้อไวรัสแบบเฉียบพลัน จัดเป็นโรคในกลุ่มไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าร้อยละ 50 หากไม่ได้รับการรักษา โดยแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อประมาณสองแสนคนทั่วโลก เสียชีวิตประมาณ 30,000 คนเลยทีเดียว

เกี่ยวกับโรคนี้ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live มีข้อมูลจากศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพมมาฝากเป็นความรู้กัน

กล่าวสำหรับ โรคไข้เหลือง เกิดจากเชื้อ Yellow fever virus ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มฟลาวิไวรัส (Flaviviruses) สามารถก่อให้เกิดอาการป่วยในคนและสัตว์จำพวกลิง โรคนี้ระบาดโดยมียุงลายบ้าน ยุงลายสวน และยุงป่าในกลุ่ม Haemogogus (พบเฉพาะในทวีปอเมริกา) เป็นพาหะ

การแพร่กระจายของเชื้อโดยมียุงเป็นพาหะ เกิดได้ 3 ลักษณะ คือ การติดเชื้อระหว่างสัตว์จำพวกลิงด้วยกัน การติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คน และการติดเชื้อระหว่างผู้ป่วยมาสู่คนปกติ การติดเชื้อและการแพร่กระจายของโรคเฉพาะพื้นที่มักเกิดจากการที่คนเข้าไปในป่าหรืออาศัยอยู่บริเวณแนวเขตป่าทำให้ได้รับเชื้อมาจากสัตว์ผ่านทางยุงป่า เมื่อผู้ติดเชื้อเหล่านี้เดินทางเข้าสู่เขตเมืองที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นก็จะเป็นแหล่งแพร่กระจายของโรคไปสู่ผู้อื่นโดยมียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งเป็นสาเหตุของการระบาดของโรคอย่างรุนแรง

สำหรับการระบาดของโรค ปัจจุบันพบในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้เท่านั้น โดยมีการระบาดบริเวณตอนกลางของทวีปแอฟริกาและตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นเขตร้อนชื้นที่ยุงพาหะสามารถวางไข่เพาะพันธุ์ได้ รวมทั้งมีพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์จำพวกลิงซึ่งเป็นตัวกักโรค ส่วนในทวีปเอเซียรวมทั้ง ประเทศไทย ยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าวนี้

ลึกลงไปถึงอาการของผู้ติดเชื้อไวรัสไข้เหลือง แต่ละรายมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการแบบไม่รุนแรงนั้นจะมีลักษณะอาการไม่แตกต่างจากอาการของโรคติดเชื้ออื่นๆ ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรง เริ่มแรกอาจมีไข้แบบเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อตามตัว อ่อนเปลี้ย หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน ชีพจรเต้นช้า หากตรวจเลือดจะพบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ หลังจากนั้นอาการของโรคอาจรุนแรงขึ้น โดยพบเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ มีเลือดกำเดาไหล เลือดออกที่เหงือก มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ ผู้ติดเชื้ออาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคไข้เหลือง) หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ผู้ติดเชื้อประมาณร้อยละ 50 มักเสียชีวิตจากภาวะตับและไตวาย

ปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับรักษาโรคไข้เหลืองโดยเฉพาะ การวางแผนการรักษาโดยทั่วไป เน้นการรักษาตามอาการเช่นเดียวกับการรักษาโรคไข้เลือดออก เช่น ให้ยาลดไข้และให้สารน้ำทดแทนภาวะขาดน้ำ รวมทั้งเน้นที่การป้องกันการติดเชื้อ โดยการให้วัคซีนแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของโรคและผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในบริเวณดังกล่าว และการระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด

สำหรับวัคซีนไข้เหลืองที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นซึ่งเป็นการนำไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ โดยใช้ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous) ปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร แนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณที่มีการระบาดของโรค ได้รับวัคซีนล่วงหน้าอย่างน้อย 10 วัน เพื่อให้ร่างกายมีเวลาสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค โดยร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันโรคได้นานประมาณ 10 ปี เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะได้รับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับแสดงเมื่อเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค

ส่วนผู้ที่ไม่ควรได้รับการฉีดวัคซีน คือ ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ เนื่องจากมีการใช้ไข่ไก่ฟักในขั้นตอนการผลิตวัคซีน และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอยู่ในภาวะไม่ปกติ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่อยู่ในระยะแสดงอาการหรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับ CD4 ต่ำกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ป่วยที่ตัดต่อมไทมัสหรือมีก้อนที่ต่อมไทมัส ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะหรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนและต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษภายหลังจากการฉีดวัคซีน ได้แก่ ทารกอายุระหว่าง 6 ถึง 8 เดือน หญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอดที่กำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงทางระบบประสาท รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ทางที่ดี ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางล่วงหน้าอย่างน้อย 10 วัน เพื่อให้ร่างกายมีเวลาสร้างภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนได้จากหน่วยงานของรัฐและเอกชน
ภาพถ่ายไวรัสก่อโรคไข้เหลืองจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน โดยไวรัสมีลักษณะเป็นก้อนกลม
กำลังโหลดความคิดเห็น