นักวิทยาศาสตร์อังกฤษเห็นโอกาสสำเร็จในการทดลองรักษาอาการตาบอดด้วยการปลูกสเต็มเซลล์ และจะเป็นการทดลองครั้งแรกในคน หลังการทดลองปลูกเซลล์รับแสงในตาสัตว์ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดประสบความสำเร็จ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่และเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญ โดยบีบีซีนิวส์รายงานว่าจากการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ไบโอเทคโนโลยี (Nature Biotechnology) ได้แสดงให้เห็นถึงการซ่อมแซมชิ้นส่วนในดวงตาที่ทำหน้าที่รับแสงด้วยสเต็มเซลล์ได้
ด้านทีมนักวิยาศาสตร์จากโรงพยาบาลมูร์ฟิล์ดอาย (Moorfields Eye Hospital) และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) กล่าวว่า ตอนนี้มีโอกาสที่จะทดลองในมนุษย์เป็นครั้งแรก
เซลล์รับแสงในดวงตา "โฟโตรีเซฟเตอร์" (Photoreceptor) เป็นเซลล์ในเรตินาที่มีปฏิกิริยาต่อแสงและเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่สามารถส่งไปยังสมองได้ ทว่าเซลล์เหล่านี้ตายได้และเป็นสาเหตุให้เกิดอาการตาบอด เช่น โรคสตาร์การ์ดท (Stargardt's disease) และโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ เป็นต้น
มีการทดลองในคนโดยใช้สเต็มเซลล์เพื่อทดแทน "เซลล์ค้ำจุน" ในดวงตาเพื่อพยุงให้รีเซฟเตอร์ยังคงมีชีวิตแล้ว และตอนนี้ทีมวิจัยในลอนดอนได้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดแทนที่เซลล์รับแสงโดยตรง เพื่อเพิ่มโอกาสในการแก้อาการตาบอด ทั้งนี้ การวิจัยในดวงตาเป็นหนึ่งในสาขาที่ก้าวหน้าที่สุด สำหรับงานวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์
ทีมวิจัยดังกล่าวได้ใช้เทคนิคใหม่นี้เพื่อสร้างเรตินาในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเพื่อสร้างสเต็มเซลล์นับพันนับหมื่น ที่ถูกนำไปจัดวางอย่างเป็นระเบียบให้กลายเป็นโฟโตรีเซฟเตอร์ จากนั้นฉีดใส่ดวงตาของหนูทดลอง
จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเซลล์เหล่านั้นเกาะเกี่ยวโครงสร้างในตาที่มีอยู่แล้วได้ และเริ่มต้นทำงานได้ แต่ประสิทธิภาพในการกลายไปเป็นเซลล์รับแสงได้ยังต่ำ โดยมีเซลล์เพียง 1,000 เซลล์จาก 200,000 ที่ถูกปลูกถ่าย ที่สามารถเกาะเกี่ยวกับส่วนอื่นของดวงตาได้
ศ.โรบิน อาลิ (Prof. Robin Ali) หัวหน้าทีมวิจัยนี้ให้สัมภาษณ์บีบีซีนิวส์ว่า การวิจัยดังกล่าวเป็นการพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงแนวคิดว่า เราปลูกถ่ายโฟโตรีเซฟเตอร์จากแหล่งสเต็มเซลล์ตัวอ่อนได้ และการทดลองนั้นได้ให้แผนที่นำทางไปสู่การทดลองในมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงตื่นเต้นมาก เพราะจากการทดลองมา 5 ปี ก็ถึงเวลาที่จะทดลองทางคลีนิคแล้ว
เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในดวงตาค่อนข้างอ่อนแอ ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่ตาจะปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะ เซลล์ไม่กี่เซลล์สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญในดวงตาได้ ซึ่งสเต็มเซลล์หลายหมื่นเซลล์สามารถปรับปรุงการมองเห็นได้ แต่จำนวนเซลล์ดังกล่าวจะไม่สร้างเซลล์ที่มีขนาดใหญ่ อย่างเช่น ตับที่ไม่ทำงาน เป็นต้น
ศ.คริส มาซอน (Prof.Chris Mason) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนให้ความเห็นว่า เขาคิดว่างานวิจัยดังกล่าวได้สร้างก้าวสำคัญ แต่ในแง่ประสิทธิภาพยังต่ำเกินไปสำหรับการใช้ในระดับคลีนิค เขาเห็นว่าทีมวิจัยที่เขาไม่มีส่วนร่วมนี้ควรเพิ่มตัวเลขความสำเร็จให้มากกว่านี้ก่อน จากนั้นจึงค่อยตั้งคำถามว่าจะทดลองในคนได้หรือไม่
"แต่ผมก็คิดว่านี่เป็นการค้นพบที่สำคัญ ที่อาจนำไปสู่เทคนิคการบำบัดด้วยเซลล์ และอาจจะให้ความรู้ที่มากขึ้นเกี่ยวกับการเยียวนาอาการตาบอดได้" ศ.มาซอนให้ความเห็น
ส่วน ดร.มาร์เซโล ริโวลตา (Dr.Marcelo Rivolta) จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิล์ด (University of Sheffield) กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นก้าวที่สำคัญในการบำบัดอาการตาบอด และมีนัยสำคัญต่องานวิจัยสเต็มเซลล์