• “หัวเราะ” ช่วยปัองกันและรักษาโรค
มีคำกล่าวว่า “หัวเราะวันละนิด จิตแจ่มใส” แต่จริงๆแล้ว กายก็สดชื่นแจ่มใสด้วย
ผู้เชี่ยวชาญโรคทางระบบประสาทชาวฝรั่งเศสค้นพบว่า การหัวเราะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมนภายในร่างกาย โดยกระตุ้นต่อมในสมองให้ขับสาร “เบต้าเอนดอร์ฟีน” ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ออกมาทำหน้าที่ลดความเจ็บปวด
นอกจากนี้ การหัวเราะยังช่วยรักษาโรค เช่น คนที่หัวเราะบ่อยๆ มักไม่ค่อยเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือท้องอืด การหัวเราะช่วยให้ร่างกายขับของเสียออกไป เช่น จำนวนโคเลสเตอรอลที่เกินขนาด หรือไขมันที่เหลือใช้ การหัวเราะช่วยคลายอาการเกร็ง ทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย การหัวเราะช่วยให้ปอดได้รับออกซิเจนเพิ่มมากกว่าปกติ ช่วยให้การหายใจลึกขึ้น และเป็นผลให้การหมุนเวียนของเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ
• มีกลิ่นปากอย่าวางใจ โรคร้ายอาจถามหา
คนที่มีกลิ่นปากเรื้อรัง อย่าวางใจคิดว่าเป็นแค่ปัญหาภายในช่องปากจำพวกโรคปริทันต์ หรือโรคเหงือกอักเสบ แผลในช่องปาก ฟันผุ หรือปัญหาที่เกิดจากอาหารพวกเครื่องเทศ เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ รวมทั้งการสูบบุหรี่ ที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
แต่ยังมีสาเหตุที่เกิดขึ้นกับอวัยวะอื่นๆภายในร่างกายด้วย เพราะกลิ่นปากเป็นสัญญาณที่ร่างกายส่งออกมาเพื่อบอกความเจ็บป่วยจากอวัยวะภายใน ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น การอักเสบหรือมะเร็งในโพรงจมูก ไซนัส ทอนซิล คอหอย กล่องเสียง หรือปอด โรคของระบบทางเดินอาหาร เช่น การอักเสบของหลอดอาหาร โรคกระเพาะ โรคลำไส้ โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น
และยังมีโรคอื่นๆที่ส่งกลิ่นเฉพาะอย่าง เพื่อแสดงอาการของโรคนั้นๆ ได้แก่ โรคตับ โรคไต และโรคเบาหวาน ดังนั้น หากรู้ว่าตัวเองเริ่มมีกลิ่นปาก และเป็นกลิ่นแปลกๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานและเรื้อรัง ให้ไปพบแพทย์ด่วน เพราะอาจเป็นอาการบ่งบอกโรคร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้น
• กินอาหารเสริมอันตราย อาจถึงขั้นมะเร็ง
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ บอกว่า คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องอาหารเสริม ว่ามีความจำเป็นต่อร่างกายหรือไม่ ซึ่งผู้ต้องการอาหารเสริม คือคนป่วยที่ไม่สามารถรับอาหารตามปกติ หรือคนแก่ที่ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้มาก
อย่างไรก็ตาม ไม่มีอาหารเสริมชนิดใดหรือยี่ห้อใด สามารถทดแทนสารอาหารที่ได้รับจากการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้ เช่น วิตามินเอ ที่มีสารเบต้าแคโรทีน ที่มีสรรพคุณต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งในมะเขือเทศมีวิตามินเอมากถึง 600 ชนิด
ดังนั้น ก่อนซื้ออาหารเสริมจะต้องศึกษาให้ละเอียด โดยดูที่ฉลากว่า เป็นแบบธรรมชาติหรือแบบสังเคราะห์ ซึ่งหากได้จากธรรมชาติหรือมีความใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด จะมีการดูดซึมได้ดี
ตรงข้ามกับแบบสังเคราะห์ ที่มีบางชนิดอาจจะส่งผลตรงข้าม เช่น วิตามินอี หากมาจากธรรมชาติจะช่วยป้องกันโรคหัวใจ แต่ถ้าเป็นวิตามินอีสังเคราะห์ ก็จะส่งผลตรงข้าม คือ ทำให้เกิดโรคหัวใจ หรือวิตามินสังเคราะห์บางชนิด เมื่อรับประทานเข้าไป แทนที่จะช่วยให้มีสุขภาพดี กลับทำให้แก่เร็ว หรือทำให้เป็นโรคมากขึ้น เช่น มะเร็ง
• กินยากับน้ำผลไม้ อันตรายกว่าที่คิด
การกินยา แล้วตามด้วยการดื่มน้ำผลไม้ อาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตราย
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เปิดเผยผลการวิจัยว่า น้ำผลไม้ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย ที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาหมดไป เพราะก่อนที่ยานั้นจะซึมเข้าสู่กระแสเลือด น้ำผลไม้จะต่อต้านการดูดซึมของยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว และโรคภูมิแพ้ต่างๆ รวมไปถึงยาที่ใช้กับผู้ป่วยที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่
โดยผลการวิจัยที่ได้รับการเปิดเผยก่อนหน้านี้ บ่งบอกถึงอันตรายของน้ำผลไม้ในแง่ที่ส่งผลต่อการรับประทานยาเช่นกัน ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการทานยาพร้อมน้ำผลไม้ทุกชนิด และเลือกรับประทานกับน้ำเปล่าดีที่สุด
• “ควันเทียน” เพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์แคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาเทียนที่ผลิตจากพาราฟิน ซึ่งมีส่วนผสมของปิโตรเลียม และเทียนที่มีส่วนผสมของพืชและถั่วเหลือง เพื่อเปรียบเทียบการปล่อยสารพิษ พบว่า การจุดเทียนที่ผลิตจากพาราฟินจะปล่อยควันที่เป็นสารพิษก่อมะเร็ง คือ โทลูอีน และเบนซีน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดและหอบหืด
ส่วนเทียนที่มีส่วนผสมของพืชหรือถั่วเหลืองกลับไม่พบสารพิษดังกล่าวเลย นักวิจัยจึงได้กล่าวว่า การจุดเทียนที่มีส่วนผสมของพาราฟินบ่อยครั้งภายในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท อาจทำให้เกิดอาการหอบหืด ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
• ผู้หญิงขยันเดิน ลดเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
ผลการวิจัยใหม่จากสเปน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารโรคหลอดเลือดสอง พบว่า ผู้หญิงที่เดินอย่างน้อยสามชั่วโมงทุกสัปดาห์มีโอกาสที่จะประสบโรคหลอดเลือดสมองต่ำกว่าผู้หญิงที่เดินน้อยกว่า หรือไม่ค่อยได้เดินเลย
นอกจากนี้ ผู้หญิงที่เดินอย่างกระฉับกระเฉงเป็นเวลา 210 นาทีหรือมากกว่าต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองต่ำกว่าผู้หญิงที่ชอบนั่งอยู่กับที่หรือไม่ชอบเดินแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงต่ำกว่ากลุ่มผู้หญิงที่ขี่จักรยาน และผู้หญิงที่ออกกำลังกายอย่างหนักในเวลาสั้นๆ ด้วย
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย ธาราทิพย์)